แอมเนสตี้แถลงหลัง 4 แกนนำผู้ชุมนุมถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี

11 กุมภาพันธ์ 2564

Amnesty International Thailand

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการสั่งฟ้อง โดยศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำ 4 คนได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น จากการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ณ สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2563 โดยพริษฐ์ถูกสั่งฟ้องมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการชุมนุม "ม็อบเฟส" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563  

หลังจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แกนนำทั้ง 4 คนจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอการพิจารณาคดี จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวหรือจนกว่าคดีจะจบ ซึ่งยังไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน  

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า  

“ทางการไทยยังคงใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบ เพื่อปิดปากไม่ให้บุคคลวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและปัญหาสังคม  และเป็นส่วนหนึ่งในการยืนยันถึงรูปแบบการคุมขังอย่างยาวนานก่อนพิจารณาคดีของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ภายใต้บริบทของความมั่นคงของรัฐ”  

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงเน้นย้ำให้ว่าการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งทางการไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ อีกทั้งการใช้เสรีภาพดังกล่าวยังถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 อีกด้วย” 

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกสั่งฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภณสถาน พ.ศ.2542  จากการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ณ สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2563 โดยพริษฐ์ถูกสั่งฟ้องมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการชุมนุม "ม็อบเฟส" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563  

หลังจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แกนนำทั้ง 4 คนจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอการพิจารณาคดี จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวหรือจนกว่าคดีจะจบ ซึ่งยังไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน โดยศาลระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิม หลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ทราบและคืนหลักประกัน"