รู้จัก 'UPR' การตรวจสุขภาพด้านสิทธิมนุษยชนทุก 4 ปีครึ่ง

28 มกราคม 2564

Amnesty International Thailand

Universal Periodic Review (UPR) หรือกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) ถือเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการทำงานภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) ด้วยความติติงกันฉันท์มิตร ปกติรัฐจะให้ความร่วมมือทุกประเทศ ยกเว้นประะเทศอิสราเอลในรอบแรก ที่ไม่ได้ส่งรายงานเข้าร่วม

UPR กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อยกเว้น การทบทวนแต่ละรอบ จะใช้เวลาประมาณ 4 ปีครึ่ง ปีนี้กระบวนการ UPR จะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 โดยกลุ่มที่มีสิทธิส่งรายงานคือ 1. รัฐบาล 2. องค์การสหประชาชาติ 3. สถาบันสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม

เมื่อวันที่  25 มกราคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  จึงจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ ในหัวข้อ “กระบวนการ UPR : ทบทวนบทเรียน ความท้าทาย และมองไปข้างหน้ากับกระบวนการ UPR ครั้งที่ 3 ของประเทศไทย” โดยมี ศิริอร อารมย์ดี นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม อติกานต์ ดิลกวัฒนา นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ Article 19 ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีสุธารี วรรณศิริ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ดำเนินรายการ 

 

UPR คืออะไรประเทศไทยผูกพันกับกระบวนการนี้อย่างไร

อติกานต์ ดิลกวัฒนา นักการทูตชำนาญการ ที่ปรึกษากองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า UPR เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน คล้ายๆ การไปตรวจร่างกายประจำปี แต่กระบวนการนี้ทำทุกสี่ปี ด้วยความเป็นสากล (Universal) จึงมีทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมทั้งสิทธิตามกลุ่มสตรีเด็กและชาติพันธุ์ มีประเทศสมาชิกสหประชาชาติเข้าร่วมทั้งหมด และเมื่อประเทศไทยส่งรายงานเข้าไป ทุกประเทศก็จะอ่านและให้คำเสนอแนะว่าสิทธิมนุษยชนไหนที่เราควรพัฒนา สิ่งไหนที่ยังหย่อนไปหรือแม้กระทั้งให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้วย

 

141226594_2879156142353454_2686120884237224140_o.jpg

กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนเหมือนเพื่อนเตือนเพื่อนมากกว่า อย่างประเทศไทยมีบทบทาทที่ดีในการดูแลสิทธิผู้ต้องขัง เช่น Bangkok Rules เราก็สามารถให้คำแนะนำด้านนี้ได้ หลังจากนั้นก็จะกลับมาและทำรายงานตามที่ได้รับคำแนะนำ เป็นทั้งการตรวจสอบสภาพสิทธิมนุษยชน และเป็นการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ”

 

ศิริอร อารมย์ดี นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กรมคุ้มครองสิทธิ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การทำงานจะทำร่วมกันระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกับกรมองค์การระหว่างประเทศโดยอาศัยความแข็งแกร่งของทั้งส่วนหน่วยงาน  กรมคุ้มครองสิทธิจะมีเครือข่ายและมีการลงพื้นที่เพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการทำรายงานยกร่าง UPR ในส่วนของกรมองค์การระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่จะนำข้อมูลไปประกอบเพื่อให้ได้ร่าง UPR ขึ้นมาเสนอยูเอ็น  

 

143119905_2879156219020113_9070768644320669745_o.jpg

 

“กระบวนการยกร่าง UPR อันดับแรก จะต้องมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามกลไก UPR และเป็นคณะกรรมการที่ดูแลการจัดทำรายงานด้วย ต่อมามีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการ แล้วนำข้อเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อยกร่าง UPR ขึ้นมา หลังจากนั้นนำร่างนี้ลงไปพูดคุยในพื้นที่อีกครั้งเพื่อให้ดูว่าขอเสนอแนะของทุกท่านได้อยู่ใน รายงานครบถ้วนหรือไม่ หลังจากนั้นจะมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยจะจัดเป็นเวทีระดับชาติขึ้นมา เพื่อช่วยกันดูความสมบูรณ์ของรายงาน แล้วจึงปรับปรุงร่างรายงานให้เป็นฉบับสมบูรณ์ แล้วนำเสนอ ครม. เมื่อ ครม.เห็นชอบจะให้กระทรวงการต่างประเทศนำเสนอยูเอ็นต่อไป”

 

 

การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกับกระบวนการจัดทำ UPR 

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวด้วยว่า รายงาน UPR ที่จัดทำแต่ละครั้ง จะมี 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 จากภาครัฐ ฉบับที่ 2 จากผู้เชี่ยวชาญและ ฉบับที่ 3 จากภาคประชาสังคม ซึ่งรายงานทั้ง 3 ชุดจะถูกรีวิวร่วมกันส่งเข้าไป OHCHR ซึ่งรวบรวมใส่ไปในเว็บไซต์ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของยูเอ็น จะได้อ่านรายงานทั้ง  3 ฉบับ ในกระบวนการเขียน UPR ในแต่ละประเด็นจะมีข้อเสนอแนะ 1-2 ข้อ ตามประเด็น 

 

141287610_2879156205686781_6782227285117839655_o.jpg

 

“ในการทำรายงานจะมีกรอบของ UN ได้กำหนดไว้แล้วว่าแบบไหน ซึ่งในการเขียน UPR จะต้องกระชับมากๆ และได้ใจความ และเมื่อได้ข้อเสนอแนะแต่ละประเด็นแล้วจะมีการจัดพบปะสถานทูตในประเทศไทยและฝากพิจารณาและนำเสนอกระทรวงการต่างประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะนำไปรีวิวที่เจนีวา เพื่อที่จะให้ได้ข้อเสนอแนะแต่ละประเทศออกมา”

 

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ จาก Article 19 กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคมถือว่าเป็นกลไกลที่ใหม่มากและมีการลงพื้นที่ของทุกภาคเพื่อให้ความรู้กับประชาชน มีการจัดการประชุมเพื่อที่จะดึงประเด็นต่างๆ ที่มีประเด็นหลากหลาย ซึ่งในเรื่องของสิทธิจะกว้างขวางและหลากหลาย และมีการจัดงานรีวิว เพื่อที่จะทำให้ประเด็นอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป ซึ่งต้องการที่จะสื่อสารว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของทุกคน ในส่วนของการรับหรือไม่รับข้อเสนอแนะจะส่งต่อให้ภาครัฐตัดสินใจ

 

141725604_2879156152353453_2296412291459096986_o.jpg

 

“ที่ผ่านมาในเชิงนโยบายมีความคืบหน้าและมีแผนระดับชาติ ไทยมีการผ่านกฎหมายยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในรัฐสภาซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะ UPR ซึ่งหลายเรื่องถือว่ามีพัฒนาการแต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่อไป เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีข้อเสนอแนะมากมายจากหลายประเทศตั้งแต่ในรอบแรกและรอบที่สอง เรื่องเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ก็ยังไม่มีการตอบรับและต้องผลักดันต่อไป” 

 

ความท้าทายของเสรีภาพการแสดงออกในไทย กับ UPR ครั้งที่ 3

 

141542862_2879156292353439_4388880919876912088_o.jpg

 

อติกานต์ ดิลกวัฒนา กล่าวถึงการชุมนุมของประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปลายปี 2563 ว่าในบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับข้อร้องเรียนจากสหประชาชาติมา และกระจายไปที่หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแล้วมีการจัดการประชุม สอบถามข้อเท็จจริง และเป็นกระบอกเสียงที่บอกว่ามาตรฐานพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ตาม ICCPR อะไรบ้าง หลักการมาตรฐานคืออะไร และในทางกลับกันเราก็เป็นกระบอกเสียงเพื่อให้สหประชาชาติเข้าใจว่าตอนนี้สถานการณ์ภายในประเทศเป็นยังไง

 

ศิริอร อารมย์ดี   กล่าวว่า สำหรับปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทางกรมคุ้มครองสิทธิ ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหน่วยงานกันเองว่ามาตรฐานสากลเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในกรณีการชุมควรจะเป็นไปในรูปแบบไหนเพื่อให้การจัดการชุมนุมเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเรื่องที่ควรจะมีในรายงานปีนี้น่าจะเป็นโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบทางสิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางการเมือง และความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และกลไกความร่วมมืออื่นๆ สิทธิของสตรีเด็ก คนชรา คนพิการ

 

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ย้อนไปว่า การนำเสนอในรอบที่สอง ปี2559 ประเด็นที่เป็นไฮไลท์เลยคือการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย เพราะมีข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ เป็นสิบข้อ สะท้อนให้เห็นว่าหลายประเทศให้ความสนใจ มีการยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงนิยามใหม่ ให้ตรงตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งกำลังจัดทำใหม่เพื่อเสนอรัฐสภา กระบวนการ UPR จึงเปลี่ยนแปลงไปได้พอสมควร

ส่วนอื่นๆ โทษประหารชีวิต เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ทำให้มีการประกาศหยุดใช้มาตรานี้คิดว่ารายงานครั้งนี้ก็คงต้องมีเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีก

 

พิมพ์สิริ กล่าวทิ้งท้ายว่า เฉพาะปี 2559  มีอย่างน้อย 8 ประเทศ เสนอให้ไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องและมีมาตรฐานตามสิทธิมนุษยชนสากลหรือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่รัฐไทยยังไม่รับข้อเสนอแนะนี้ ในส่วนประเด็นสิทธิสตรี ผู้ลี้ภัย สิทธิเด็ก ก็มีการรับมา ส่วนประเด็นที่แหลมคมภาคประชาชนก็ต้องยืนยันว่า รัฐต้องไม่ควรเลือกประเด็นในการแก้ไข ถึงอย่างไร ต้องทำให้รัฐรู้สึกได้ว่า การเข้าไปเป็นภาคีของสิทธิพลเมือง คุณก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามกติกา และอีกหนึ่งประเด็นที่จะผลักดันในครั้งนี้คือประเด็น พ.ร.บ.การชุมนุม การควบคุมการชุมนุม การใช้กำลังควบคุมฝูงชนเพราะมีการละเมิดมาตรฐานระหว่างประเทศอยู่

 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินแตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศักยภาพชุมชน ฟอรัม เอเซีย และ UPR-Info ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมการเขียนรายงาน UPR (Universal Periodic Review) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชน ด้วยกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Right Council) ขององค์สหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) ใครอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเขียนรายงาน UPR ร่วมกันสามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/8rTmxHLdJRjDhkYs7