เสรีภาพการแสดงออกออนไลน์ : สังคมเดินหน้าต่อไม่ได้หากรัฐผูกขาด ‘ความจริง’

5 พฤษภาคม 2563

Amnesty International Thailand

นับแต่การรัฐประหาร 2557 โดย คสช. ก็มีความพยายามคุกคามผู้เห็นต่างจากรัฐมาตลอด โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าว นักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ที่เผชิญ ‘สงครามกฎหมาย’ ที่ภาครัฐนำเอากฎหมายมาใช้ดำเนินคดีเพื่อปิดปากเสียงวิจารณ์

 

แม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2562 แต่สถานการณ์การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางออนไลน์ก็ยังไม่ลดน้อยลง และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไทยก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์เนื้อหาที่เป็น ‘เท็จ’ หรืออาจก่อให้เกิดความตระหนกในหมู่ประชาชน และย้ำว่าจะดำเนินคดี ‘การใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิด’ ซึ่งน่ากังวลว่าอาจนำไปสู่การฟ้องร้องผู้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้จัดทำรายงาน “มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” ที่แสดงถึงข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย และข้อกังวลขององค์กรเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของรัฐบาลไทยในประเด็นนี้ พร้อมจัดพูดคุยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ร่วมกับรายการ The Topics ร่วมพูดคุยโดย สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ดำเนินรายการโดย วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรรายการ The Topics

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายที่ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

สฤณี อาชวานันทกุลกล่าวว่า จากรายงาน Freedom on the Net ปี 2019 ประเทศไทยได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 เป็นเรื่องน่าเสียดายว่าในอดีตไม่นานมานี้ไทยเคยได้รับการยกย่องว่าสื่อมีอิสระเสรี ภาคประชาชนมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างชัดเจน มีการเคลื่อนไหวปฏิรูปสื่อ มีความพยายามพัฒนาเรื่องเสรีภาพ 

สฤณี ได้ติดตามสถานการณ์ปิดกั้นเสรีภาพออนไลน์ตั้งแต่เริ่มมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในปี 2550 ที่มีเจตนาเริ่มต้นเพื่อปราบปรามอาชกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งควรจะใช้กับกรณีแฮ็กเกอร์ ฟิชชิง การหลอกเอาข้อมูลการเงิน แต่กลับมีการตีความรวมถึงข้อความต่างๆ ที่ปรากฏบนออนไลน์ 

ที่ผ่านมามีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีสถิติว่าในช่วง 5 ปีแรก ส่วนใหญ่กฎหมายนี้ถูกใช้ดำเนินคดีที่ไม่ใช่อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้คู่กับกฎหมายหมิ่นประมาท

“ต่อมามีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ให้ใช้กรณีหมิ่นประมาท แต่เติมความผิดเรื่องข้อมูลเท็จ บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น ก่อความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งตัวบทเปิดโอกาสให้ตีความได้ เช่นที่ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยโพสต์วิจารณ์กระเป๋าภรรยานายกฯ ก็โดนฟ้อง ถ้ากฎหมายทำให้การแสดงความเห็นเป็นอาชญากรรม ทำให้คนไม่มั่นใจว่าพูดอะไรแล้วจะผิด แสดงว่ากฎหมายนั้นมีปัญหา 

“โดยหลักการแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขก็มีเรื่องที่ดีขึ้น เช่น การจัดการกับสแปม การเอาผิดแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง และเมื่อไม่ได้นำมาใช้คู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แต่ส่วนที่แย่ก็ยังมีมากกว่าหลายเท่า เพราะทำให้เกิดความคลุมเครือ ตีความได้มากขึ้น ทั้งที่มีคนเสนอมาว่าสามารถแก้ไขกฎหมายโดยเขียนระบุให้ชัดเจนได้ว่าข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายนี้เป็นข้อมูลที่อ่านได้โดยคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ข้อมูลที่มนุษย์อ่านได้” 

สฤณีกล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เสริมว่า สิ่งหนึ่งที่คนมักถามเขาคือ “โพสต์อย่างไรที่จะไม่ผิดกฎหมาย?” แสดงให้เห็นว่าคนในโลกออนไลน์รู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยตลอดเวลา เพราะประเทศไทยมีกฎหมายเยอะมากจนประชาชนสับสน อีกทั้งตำรวจไม่สามารถไปตามจับทุกคนที่โพสต์วิจารณ์รัฐบาลได้ จึงสร้างความกลัวโดยเลือกจับคนมีชื่อเสียงให้เกิดกระแสความหวาดกลัว บางครั้งเลือกจับโพสต์ที่มีข้อความกำกวมทำให้คนหวาดกลัวการแสดงความเห็น

 

รัฐไม่ควรผูกขาดความจริง 

สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นปัญหาเหมือนกันในหลายที่ทั่วโลกคือเรื่อง ข่าวปลอม’ หรือ ‘เฟคนิวส์’ (Fake News) เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่แสดงท่าทีเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน

ยิ่งชีพมองว่าปัจจุบันคำว่า ‘เฟคนิวส์’ มีการใช้ปะปนกันจนสับสน ทั้งที่ข่าวปลอมควรหมายถึงการจงใจสร้างข่าวปลอมขึ้นมา เช่น การทำเว็บใหม่เพื่อหลอกลวงและจงใจเขียนเรื่องไม่จริง แต่ปัจจุบันเพียงแค่มีคนแสดงความเห็นที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย หรืออาจมีการตีความผิด ใส่อคติ ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นเฟคนิวส์ ทั้งที่ไม่ใช่ 

“หากจะต้องมีผู้ตรวจสอบเฟคนิวส์ คิดว่าควรแยกกันตรวจข้อมูลในเรื่องที่ตัวเองถนัด เช่น อ.ย. ตรวจเรื่องยาปลอม เพราะการตั้งศูนย์ขึ้นมาศูนย์หนึ่งแล้วบอกว่าเรื่องไหนจริงหรือเท็จนั้น เพียงศูนย์เดียวจะไม่สามารถรู้ทุกเรื่องได้”

 ยิ่งชีพกล่าว

สฤณี เห็นว่า ธรรมชาติของการพูดคุยบนโลกออนไลน์จะไม่มีใครสามารถรู้ว่าเรื่องไหนจริงหรือเท็จได้ทุกเรื่อง ผู้ใช้ออนไลน์จึงต้องมีความรับผิดชอบ หากรู้ว่าผิดก็ต้องแก้ไข ธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตจะมีกลไกตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว ทุกคนมีสื่อในมือ ใครที่ถูกพาดพิงแล้วคิดว่าไม่ถูกต้องก็สามารถเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกต้องเพื่อชี้แจงได้

“วิธีแก้ข่าวปลอมที่ดีที่สุดคือการสู้ด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งมีคนทำหน้าที่นี้อยู่แล้วคือสื่อมวลชน แต่สื่อมืออาชีพตอนนี้จะทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร บางข่าวที่เราเคยคิดว่าจริงแต่ภายหลังก็มีข้อมูลใหม่มาหักล้าง นี่เป็นธรรมชาติของเนื้อหาข้อมูลและความคิดเห็น สิ่งที่แย่คือการเอากฎหมายมาใช้ฟ้องร้องว่าเป็นอาชญากรรม

“สิ่งที่รายงานแอมเนสตี้แสดงให้เห็นคือ พอมีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เสรีภาพออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่แย่ลง มีการจับคน เกิดการตีความกฎหมายที่กว้างขึ้นไปอีก แล้วสิ่งที่ทางการบอกว่าอะไรเป็นข่าวปลอมหรือไม่ก็มีปัญหา”

สฤณีกล่าว

หากจะมีข้อเสนอแนะ สฤณีเห็นว่าควรยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแล้วนำงบประมาณไปให้สำนักข่าวที่พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นกิจลักษณะ หรือนำไปจัดตั้งกองทุนสื่อ เพราะองค์กรสื่อและภาคประชาชนจะเป็นกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือกว่าภาครัฐ

ยิ่งชีพ มองว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐในการควบคุมประชาชนที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

“เครื่องมือใหม่ๆ ของภาครัฐจะถูกผลิตออกมาเสมอ อย่างศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมหากถูกวิจารณ์จนเสียความศักดิ์สิทธิ์ก็จะมีเรื่องมือใหม่ออกมาแทน ตอนนี้เราอยู่ภายใต้เครื่องมือใหม่คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่ายังไม่มีการจับใคร แต่ถ้ายังไม่ยกเลิก สิ่งนี้ก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐเลือกใช้ได้ ความไม่มั่นคงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะมากขึ้น

“รัฐไม่ควรเป็นคนชี้ถูก-ผิดแต่เพียงผู้เดียว ทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตก็ต้องพยายามอัพเกรดตัวเอง บางเรื่องอย่าปักใจเชื่อมากเกินไป หรือหากเจอข้อคิดเห็นอะไรก็อย่าแชร์ไปต่อว่าโดยทันที เราต้องช่วยกันป้องกันตัวเองจากการถูกดำเนินคดี และทำให้เพื่อนในโซเชียลมีเดียมีโลกออนไลน์ที่มีคุณภาพ

ยิ่งชีพกล่าว

 

ข้อกังวล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน: ให้อำนาจควบคุมเสรีภาพการแสดงออก

สำหรับความกังวลเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมโควิด-19 แต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยนั้น ยิ่งชีพ อธิบายว่ากฎหมายนี้มีมาตราที่ให้อำนาจรัฐเข้ามาจำกัดการนำเสนอของสื่อได้ โดยห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความสับสนหรือทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งทุกคนกังวลกันมาก แม้ว่าเดือนที่ผ่านมาไม่มีการจับกุมเรื่องนี้ แต่ไม่ทราบว่ามีการหยิบกฎหมายมาใช้ข่มขู่ตักเตือนกันหรือเปล่า หากรัฐบาลจริงใจว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำไปเพื่อควบคุมการระบาดเท่านั้น ก็ไม่ต้องบังคับใช้มาตรานี้

สิ่งที่ สฤณี กังวล คือ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีปัญหาอยู่ที่การไม่รับผิดของเจ้าหน้าที่ ประชาชนจะฟ้องร้องหรือร้องเรียนไม่ได้ วิธีการที่รัฐใช้ตีความเรื่องข่าวปลอมก็มีความสุ่มเสี่ยง ยิ่งรัฐใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จะทำให้คนไม่กล้าพูด เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง

“การที่ประชาชนแสดงความเห็นวิจารณ์รัฐบาลก็คือการตรวจสอบรัฐบาล หลายครั้งช่วยทำให้รัฐบาลปรับปรุงแล้วทำได้ดีขึ้น การที่เสรีภาพถูกลิดรอนนั้นไม่ได้กระทบแค่ประชาชน แต่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐด้วย เมื่อไม่มีความคิดเห็นมาช่วยปรับปรุงการทำงาน” 

สฤณี ยืนยัน

 

ช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดด้วยกฎหมาย ไม่ใช่อาชญากรรม

สิ่งหนึ่งที่แอมเนสตี้และผู้ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกตั้งข้อหาในประเด็นต่างๆ ต้องเผชิญ คือ การถูกกล่าวหาว่า ‘ช่วยเหลืออาชญากร’

สฤณี มองว่าการพูดเช่นนี้มาจากการมองว่ากฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการออกคำสั่งคสช.มาแล้วก็ถือว่าเป็นกฎหมายโดยไม่ตั้งคำถาม แล้วคนที่ทำผิดกฎหมายตามการตีความของรัฐถือว่าเป็นอาชญากร เมื่อมีผู้เรียกร้องให้แก่คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็ถูกมองว่าช่วยเหลืออาชญากรไปด้วย หากดูเนื้อหาในรายงานจะเห็นว่าแอมเนสตี้ไม่ใช่การเรียกร้องลอยๆ แต่ยึดกรอบพันธกรณีที่ไทยเป็นภาคีและไปลงนามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ไว้ แอมเนสตี้ฯ เพียงแค่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบว่าการใช้กฎหมายของไทยเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศหรือเปล่า

“สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กลายเป็นจริยธรรมสากลไปแล้ว แม้แต่ภาคธุรกิจยังถูกเรียกร้องให้ช่วยดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน และไม่ใช่ว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้เปิดช่องเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแต่ละประเทศไว้ ในปฏิญญาของสหประชาชาติเรื่องการจำกัดเสรีภาพก็ไม่ได้บอกว่าเสรีภาพไร้ขอบเขต รัฐจำกัดสิทธิได้แต่ต้องมีเงื่อนไข เช่น จะต้องเป็นกฎหมายที่จำเป็นและได้สัดส่วน ต้องมีความชอบธรรม ต้องเห็นชัดเจนว่าการจำกัดสิทธิจะช่วยป้องกันอันตรายอะไร แต่การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือกฎหมายอาญามาตรา 116  ที่เป็นอยู่ไม่ได้เข้าเงื่อนไขเหล่านี้” 

สฤณีกล่าว

ยิ่งชีพ กล่าวเสริมจากประสบการณ์ทำงานของตนเองว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่อยากปกป้องสิทธิของผู้บริสุทธิ์จากการก่ออาชญากรรม แต่เราไม่รู้ว่าอาชญากรรมจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่รู้คือเมื่ออ่านร่างกฎหมายแล้วรู้ว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เห็นแนวโน้มว่าคนบริสุทธิ์ที่ใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นจะถูกจับด้วยกฎหมายที่กำลังจะออกมา แล้วจะไม่ทำอะไรเหรอ นี่คือการปกป้องผู้บริสุทธิ์ที่กำลังจะถูกทำร้ายด้วยอำนาจของรัฐ จึงต้องมีการคัดค้านกฎหมายที่จะออกมา

 

สังคมจะเดินหน้าต่อ ต้องยืนยันเสรีภาพการแสดงออก

การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เป็นเพียงการปกป้องประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องประโยชน์ของสังคมโดยรวมให้มีการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ยิ่งชีพ เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักประกันว่าเราจะได้สิ่งที่ดีที่สุดหรือเกือบดีที่สุด และหากสิ่งนั้นผิดพลาดเราก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้เพื่อการแก้ไขได้

“เมื่อเห็นสิ่งผิดปกติในสังคมเราก็พูดออกมาให้คนอื่นสังเกตเห็นได้ เมื่อเห็นว่ารัฐตัดสินใจผิด แล้วมีคนบอกว่าควรแก้ไขอย่างไร หากมีการรับฟังความคิดเห็นนั้นเราก็อาจเปลี่ยนไปหาอะไรที่ดีกว่าได้ มีเพียงเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่านั้นที่จะรับประกันว่าทุกคนจะได้พูดเพื่อระดมความเห็นเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดและยอมรับกันได้มากขึ้น” 

ยิ่งชีพกล่าว

ส่วน สฤณี มองเห็นความสำคัญของเสรีภาพการแสดงความเห็นที่จะช่วยพัฒนาภาคเศรษฐกิจ

“วันนี้เราบอกว่าเศรษฐกิจต้องเป็นดิจิทัล แต่ถ้าเราไม่เปิดให้คนแสดงออกแล้วนวัตกรรมจะเกิดได้ยาก นวัตกรรมไม่สามารถเกิดจากการที่คนคิดเหมือนกันได้ แต่เกิดจากการต่อยอดกัน ยิ่งเปิดกว้างทางความคิด ยิ่งให้คนมีเสรีภาพ ก็ยิ่งเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ 

“โดยธรรมชาติมนุษย์คิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แล้วเราจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ทั่วถึงได้อย่างไร ในสถานการณ์ โควิด-19 จะเห็นว่าประเทศที่เหลื่อมล้ำมากๆ จะเหนื่อย เพราะมีคนถูกทิ้งไว้เยอะมาก คนที่เดือดร้อนอยู่แล้วจะไปบอกให้เขาทำงานที่บ้านได้อย่างไร ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ ในแง่เศรษฐกิจถ้าเราไม่เน้นการพัฒนาฐานกว้างที่ทั่วถึงเราจะยิ่งสุ่มเสี่ยง เพราะเราพึ่งพิงการท่องเที่ยวเยอะมาก เราจะกระจายฐานนี้ได้อย่างไรถ้าไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้คนออกมาบอกว่าเขาอยากจะทำอะไร” 

สฤณีกล่าวทิ้งท้าย