10 ปี 10 เมษา : ท่ามกลางวิกฤตการเมือง ความรับผิดต้องสำคัญเหนือเรื่องอื่นใด

10 เมษายน 2563

แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553

#10ปี10เมษา ท่ามกลางวิกฤตการเมือง ความรับผิดต้องสำคัญเหนือเรื่องอื่นใด

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 เราขอชวนอ่านแถลงการณ์ของแอมเนสตี้จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และขอชวนตั้งคำถามต่อว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความจริงข้อใดได้ปรากฎให้เราเห็นแล้วบ้าง? การสืบสวนเรื่องใดได้รับการพิสูจน์? และข้อเรียกร้องที่เรามีต่อรัฐบาลได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วหรือยัง? 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันในสิทธิของทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ ตามหลักการสิทธิมนุษยชน และจะยินดีหากรัฐบาลไทยจะให้มีการสอบสวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ชักช้า อย่างเป็นผลและเป็นกลาง และเรียกร้องให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดใดๆ ทั้งที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และการละเมิดของผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง

 

-----------------------------------------------------

 

19 เมษายน 2553
 

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายวงกว้างในไทย ควรแสดงเจตจำนงที่จะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทันที แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีที่รัฐบาลไทยจะให้มีการสอบสวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ชักช้า อย่างเป็นผลและเป็นกลาง และเรียกร้องให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดใดๆ ทั้งที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และการละเมิดของผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง

 

เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน ทหารไทยพยายามสลายผู้ประท้วงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่จุดชุมนุมเดิมที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน (ผู้ประท้วง 18 คน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสี่นาย) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 840 คน ทหารใช้อาวุธที่มีอำนาจสังหารในระหว่างปฏิบัติการ ในขณะที่บุคคลบางคนในกลุ่มผู้ประท้วงก็ใช้อาวุธปืนและระเบิด รวมทั้งอาวุธที่ดัดแปลงจากสิ่งของต่าง ๆ ยังมีผู้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล 134 คน หกรายอยู่ในห้องไอซียู ทั้งนี้เป็นผลมาจากความรุนแรง

 

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลตระหนักถึงพันธกรณีของรัฐบาลไทยที่จะคุ้มครองชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน และใช้วินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังชี้ให้เห็นว่าสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมให้การคุ้มครองเฉพาะการชุมนุมที่สันติ และผู้มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องรับผิดต่อการกระทำของตนเอง ผู้นำพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสนับสนุนกลุ่ม นปช. ควรแสดงเจตจำนงอย่างเปิดเผยที่จะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขอให้ผู้สนับสนุนงดเว้นจากการใช้ความรุนแรงโจมตีทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยต้องยึดมั่นกับหลักการสากลในการสลายการชุมนุมและการใช้กำลัง หลักการข้อ 14 ของหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธ (Basic Principles on the Use of Force and Firearms) ระบุไว้ว่า “ในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่รุนแรง เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจใช้อาวุธได้ เฉพาะเมื่อวิธีการที่อันตรายน้อยกว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ และให้ใช้ได้น้อยสุดและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่ใช้อาวุธไม่ว่าในสถานการณ์ใด เว้นแต่เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหลักการข้อ 9”

 

หลักการข้อ 9 ได้ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะไม่ใช้อาวุธต่อบุคคล เว้นแต่เป็นการป้องกันตนเอง หรือป้องกันบุคคลอื่นจากอันตรายที่ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส เพื่อป้องกันไม่ให้มีการก่ออาชญากรรมร้ายแรงอันมีผลคุกคามถึงชีวิต เพื่อจับกุมบุคคลผู้ก่อให้เกิดอันตรายหรือขัดขืนอำนาจหน้าที่ หรือเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลหลบหนี และเฉพาะในกรณีที่วิธีการที่รุนแรงน้อยกว่าไม่เพียงพอต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ไม่ว่าในสถานการณ์ใด การใช้อาวุธปืนเพื่อสังหารอย่างจงใจอาจเกิดขึ้นได้ เฉพาะกรณีที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองชีวิตและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้วเท่านั้น”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

สมาชิกและกลุ่มต่าง ๆ ในนปช. หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่ม “คนเสื้อแดง” เนื่องจากสีเสื้อที่พวกเขาสวมใส่ ส่วนหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งถูกขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากรัฐประหารในปี 2549 ปัจจุบัน เขาอยู่ระหว่างการพำนักในต่างประเทศ และต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมากมาย

ผู้ชุมนุมกลุ่มนปช.ประท้วงที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เรียกร้องให้มีการยุบสภา ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ และตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกและ เดินทางออกนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 18 เมษายน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งเป็นตรงข้ามกับ นปช. ให้เวลารัฐบาลเจ็ดวัน “เพื่อบังคับใช้กฎหมาย” ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องให้สลายกลุ่มคนเสื้อแดง ไม่เช่นนั้นกลุ่ม พธม.ก็จะเริ่มเดินขบวนประท้วง หากกลุ่ม พธม.ออกมาประท้วง ก็จะต้องไม่เข้าร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่ม พธม.หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่ม “คนเสื้อเหลือง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อต่อต้านทักษิณ และมีการจัดประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 รวมทั้งการยึดสนามบินสองแห่งที่กรุงเทพฯ และการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณสองรัฐบาล