แอมเนสตี้แถลงหลังศาลโลกสั่งให้เมียนมาคุ้มครองชาวโรฮิงญา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงหลังจากที่เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.63) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) สั่งให้เมียนมาใช้ “มาตรการชั่วคราว” เพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชุมชนชาวโรฮิงญา ระบุว่าเมียนมาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และดำเนินการโดยทันทีเพื่อยุติการละเมิดอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชุมชนเหล่านี้ และป้องกันการทำลายหลักฐานในกรณีดังกล่าว

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่า คำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาว่า โลกไม่อดทนยอมให้มีการกระทำที่ทารุณ และจะไม่งมงายยอมรับการใช้วาทศิลป์ที่ว่างเปล่าเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ในทุกวันนี้ ชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 600,000 คนซึ่งยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานสุดของตนเองอย่างสม่ำเสมอและอย่างเป็นระบบ มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าพวกเขาต้องถูกกระทำทารุณเพิ่มอีก

เมียนมาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และดำเนินการโดยทันทีเพื่อยุติการละเมิดอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชุมชนเหล่านี้ และป้องกันการทำลายหลักฐานในกรณีนี้ด้วย

การพิจารณาคดีครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากแกมเบียได้ร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 โดยกล่าวหาว่าเมียนมาละเมิดพันธกรณีที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 ทั้งยังมีคำขอฉุกเฉินให้ศาลสั่งให้มี “มาตรการชั่วคราว”เพื่อป้องกันการกระทำที่ถือว่าเป็น หรือสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และให้ปกป้องชุมชนของพวกเขาจากอันตรายที่จะเกิดเพิ่มขึ้น ระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล

ในการไต่สวนคดีต่อสาธารณะเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวที่กรุงเฮกในระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม 2562 ซึ่งอองซานซูจีน มุขมนตรีแห่งรัฐและผู้นำโดยพฤตินัย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจากเมียนมา เธอได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และกระตุ้นให้ศาลยกคำร้องของคดีนี้ และไม่ยอมตามคำขอให้มีมาตรการชั่วคราว

ในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563 คณะกรรมการสอบสวนอิสระที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเมียนมา ได้ส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อประธานาธิบดีเมียนมา โดยสรุปว่า แม้กองกำลังของเมียนมาอาจต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม และ “การใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วน” แต่คณะกรรมการไม่พบหลักฐานว่ามีเจตนาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเผยแพร่รายงานฉบับเต็ม

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้