“สื่อไร้พรมแดน” ชี้นักข่าวทั่วโลกเสี่ยงภัยขึ้น ส่วนไทยยังอยู่ในโซนสีแดง

3 พฤษภาคม 2562

เรื่องโดย องค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF)

แปลโดย Smiling Sun

องค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) องค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อในระดับสากล ได้เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2562 โดยจัดอันดับเสรีภาพสื่อและการทำงานอย่างปลอดภัยของสื่อมวลชนใน 180 ประเทศทั่วโลก ตลอดปี 2561 พบว่าสื่อทั่วโลกถูกข่มขู่ กลั่นแกล้งและกลายเป็นแพะรับบาปมากขึ้น ความเกลียดชังสื่อมวลชนมากขึ้นในระดับที่ก่อให้เกิดความรุนแรงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและจำนวนประเทศที่สื่อมวลชนทำงานอย่างปลอดภัยลดน้อยลง

 

ในรายงานปีนี้ ประเทศทีมีระดับเสรีภาพสื่อสูงที่สุดคือนอร์เวย์ ครองแชมป์เป็นปีที่สาม ในขณะที่ฟินแลนด์ ได้อันดับที่สองแทนที่เนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์มีกรณีที่นักข่าวสองคนที่ทำข่าวเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมและต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนสวีเดนได้อันดับสาม เนื่องจากมีการคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้น ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 136 ขยับมาจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 140 เมื่อปีที่แล้ว แม้จะขยับขึ้นมาแล้วแต่ก็ยังอยู่ในโซนสีแดง คือเป็นประเทศที่สถานการณ์สื่อมีความยากลำบาก

 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อเขตเอเชียแปซิฟิค

 

การจะเป็นนักข่าวอิสระในประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิกในวันนี้ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก เพราะต้องเผชิญกับการปิดกั้นข้อมูล ข่มขู่ ทำร้ายทั้งในโลกความจริงและออนไลน์ เพื่อนำเสนอข่าวให้กับประชาชนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูลในเวลาเดียวกัน

สองประเทศที่พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 22 อันดับทั้งคู่แสดงให้เห็นถึงเสรีภาพสื่อที่เพิ่มขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองของประเทศเปลี่ยนไป รัฐบาลเก่าของมาเลเซียที่ถืออำนาจมานานกว่า 62 นับตั้งแต่ประกาศเอกราชได้ถูกโค่นล้มในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก นำพาลมหายใจใหม่มาให้กับสื่อมวลชนที่ถูกจำกัดมานาน

และทำให้มาเลเซียไต่อันดับขึ้นไปที่อันดับ 123 ในขณะที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของมัลดีฟส์ได้ให้สัญญาที่ปัจจุบันก็ได้เติมเต็มแล้วเป็นบางส่วน ที่จะรักษาเสรีภาพของสื่อมวลชนและดึงให้มัลดีฟส์ขึ้นไปสู่อันดับ 98

 

“หลุมดำ”แห่งวงการข่าวยังคงร่วงลงไปอีก

 

ในเวลาเดียวกัน สองประเทศที่จมดิ่งอยู่แทบจะข้างล่างสุดของดัชนี นั่นคือจีนและเวียดนาม ก็ยังคงร่วงหล่นลงไปอีก โดยไปอยู่ที่อันดับที่ 177 และ 176 เพราะความที่อำนาจยังคงรวมเบ็ดเสร็จอยู่ในมือของสี จิ้นผิงและ เหงียน ฟู้ จ่อง โดยสี จิ้นผิงได้แก้กฎหมายใหม่ให้ตนได้เป็นประธานาธิบดีตลอดชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2018 และเหงียน ฟู้ จ่องตอนนี้เป็นทั้งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำประเทศในเวลาเดียวกัน โดยผู้มีอำนาจในทั้งสองประเทศปิดกั้นการดีเบตอย่างเด็ดขาดและปราบปรามนักข่าวพลเมืองอย่างไม่ลดละ สื่อมวลชนทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นกว่า 30 ชีวิตกำลังถูกคุมขังในเวียดนาม และในจีนมีการคุมขังสื่อมวลชนมากกว่านี้เป็นสองเท่า

ระบบต่อต้านประชาธิปไตยในจีนที่พึ่งพาเทคโนโลยีการจารกรรมและบิดเบือนข้อมูลในตอนนี้ยิ่งเพิ่มความน่าหวาดหวั่นมากขึ้นเพราะทางการจีนพยายามที่จะใช้ระบบนี้ลามไปในระดับนานาชาติ เพราะไม่ใช่แค่เพียงปิดกั้นการทำงานของสื่อต่างชาติในจีนเท่านั้น แต่รายงานล่าสุดของ RSF เผยว่าจีนมีความพยายามจะสร้างระเบียบการสื่อสารโลกที่อยู่ใต้การควบคุมของจีน

ลาวหล่นลงไปหนึ่งอันดับที่ 171 ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการยับยั้งการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเขื่อนถล่มในเดือนกรกฎาคม 2018 โดยพวกประเทศที่ปกครองโดยพรรคเดียวทุกวันนี้เริ่มมีความใกล้เคียงพี่ใหญ่อย่างเกาหลีเหนือมากขึ้นทุกที โดยเกาหลีเหนือได้ขึ้นหนึ่งอันดับมาที่ 179 หลังการประชุมระหว่างคิมจองอึนและทรัมป์ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีความเปิดเผยที่มากขึ้น

 

การเซนเซอร์ที่มากขึ้น

ในขณะที่เสรีภาพสื่อกำลังถูกคุกคาม ระบบควบคุมข่าวอย่างเบ็ดเสร็จของจีนก็กลายเป็นต้นแบบให้ประเทศต่อต้านประชาธิปไตยเช่นสิงค์โปร์ (อันดับ 151) การที่สื่อเซนเซอร์ตัวเองกลายเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับไทย (136) และบรูไน (152, ตกลงมา 1 อันดับ) คล้ายกันกับกัมพูชา (143) ที่รัฐบาลเข้า

ควบคุมสื่อทั้งหมด และฮ่องกง (73) ที่ปัจจุบันสำนักข่าวอิสระกำลังถูกกดดันให้ทำตามความต้องการของปักกิ่ง

เมื่อปราศจากเสรีภาพทางบรรณาธิการ ปาปัวนิวกินี (38) และตองงา (45) ก็เริ่มมีการเซนเซอร์ตตัวเองมากขึ้นในปี 2561 ในปากีสถาน (142, ลดลง 3 อันดับ) การระรานสื่อมวลชนโดยทหารในช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2561 ทำให้มีการเซนเซอร์อย่างร้ายแรงเทียบเท่ากับยุคเผด็จการทหารในอดีต

 

เสี่ยงตายในภาคสนาม

สื่อมวลชนภาคสนามในปากีสถานต้องเผชิญหน้ากับอันตราย มีผู้เสียชีวิตในหน้าที่อย่างน้อยสามรายภายในปี 2018 แต่ความปลอดภัยของนักข่าวในอัฟกานิสถาน (121, ลดลง 3 อันดับ) น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าหลังนักข่าวมืออาชีพกว่า 16 รายเสียชีวิตแม้ทางรัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือ โดย 9 รายที่เสียชีวิตในการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะ การจะรายงานข่าวในอัฟกานิสถานได้ต้องใช้ความกล้าหาญยิ่งกว่าที่เคยมีมา ในขณะที่บังกลาเทศ (150) ยังมีความปลอดภัยมากกว่า สื่อมวลชนที่ทำข่าวการประท้วงและการเลือกตั้งก็ยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

การทำร้ายสื่อมวลชนได้รับการสนับสนุนจากการที่ผู้กระทำผิดได้รับการปกป้องอย่างเช่นในศรีลังกา (126) ในประเทศอินเดีย (140, ลดลง 2 อันดับ) สื่อมวลชนอย่างน้อย 6 รายเสียชีวิตในหน้าที่ในปี 2018 โดยยอดผู้เสียชีวิตนี้เกิดจากการใช้ความรุนแรงโดยทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้รักษาความปลอดภัย อาชญากร และนักกิจกรรมทางการเมือง

 

การคุกคามบนโลกออนไลน์และข่าวปลอม

สื่อมวลชนอินเดียต้องถูกโจมตีทั้งในภาคสนามและโลกออนไลน์ โดยใครก็ตามที่กล้าวิจารย์นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที จากพรรคชาตินิยมฮินดูจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกต่อต้านอินเดียและต้องถูกกำจัด ผลที่เกิดขึ้นคือการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์อย่างน่าละอาย หลังจากนักข่าวต้องตกเป็นเหยื่อการข่มขู่ที่จะฆ่าหรือในกรณีนักข่าวหญิงถูกขู่ว่าจะข่มขืน โดยเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ (134, ลดลง 1 อันดับ) หลังนักข่าวอิสระตกเป็นเป้าการโจมตีออนไลน์หากไม่สนัมสนุนประธานาธิบดีโรดรีโก

ดูแตร์เต โดยเคสที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือสำนักข่าว Rappler และบรรณาธิการของสำนัก นางมาเรีย เรสซา ที่ถูกคุกคามบนโลกออนไลน์และฟ้องร้องโดยหน่วยงานรัฐหลากหลายเจ้า 

การใช้โซเชียลมีเดียก็กำลังกลายเป็นเรื่องน่ากังวลในเมียนมา (138, ลดลง 1 อันดับ) หลังจากข่าวปลอมและวาทะสร้างความเกลียดชังชาวโรฮิงญาแพร่กระจายไปทั้งเฟสบุ็คโดยไม่มีการยับยั้ง ส่งผลดีให้แก่รัฐบาลอองซาน ซูจี ที่ปิดปากเงียบในกรณีจำคุกสองนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนกันยายน 2018 หลังเปิดโปงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

 

ประชาธิปไตยโดนรุม

กระแสการบิดเบือนข้อมูลช่วยให้ประชาธิปไตยล้มพับลงในหลายๆพื้นที่และฉุดเอาเสรีภาพสื่อลงไปด้วยกัน ประเทศประชาธิปไตยหลายๆแห่งพบว่าพิษร้ายนี้ชักจะต่อต้านได้ยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศเหล่านี้ร่วงหล่นลงไปในดัชนีเช่นกัน บางประเทศเช่นเนปาล (อันดับ106) และซามัว (อันดับ22) บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมโซเชียลมีเดียแต่มีผลกระทบต่องานสื่อมวลชนด้านการสืบสวน

 ความปราศจากการปฏิรูปทางโครงสร้างประเทศเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อมวลชนทำให้ประเทศอย่างเกาหลีใต้ (41) และอินโดนีเซีย (124) ไม่สามารถไต่อันดับได้ และสื่อมวลชนอิสระก็ทำงานได้ยากยิ่งขึ้นในสังคมที่วงการสื่อแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างโจ่งแจ้ง เช่นในไต้หวัน (42) และมองโกเลีย (70)

 

ความหลากหลายกำลังตกอยู่ในอันตราย

ในเรื่องสุดท้ายนี้ ความหลากหลายของเนื้อหาข่าวกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความกดดันจากเจ้าของกิจการที่มองการนำเสนอข่าวในแง่กำไรเป็นหลัก อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่น (67) และออสเตรเลีย (21, ตกลง 2 อันดับ) ทว่าในประเทศนิวซีแลนด์ (7, ขึ้น 1 อันดับ) ทางการได้ออกระเบียบควบคุมความซ้ำซ้อนในการนำเสนอเพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศได้เลื่อนขึ้นมา 1 อันดับหลังจากการแทรกแซงโดยทางการได้ผล

นอกจากนี้ยังมีชัยชนะเล็กๆ ในพื้นที่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง จากการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งของประเทศในปี 2561 อย่างครอบคลุม สื่อมวลชนในประเทศฟิจิ (52, ขึ้นมา 5 อันดับ), ติมอร์ตะวันออก (84, ขึ้น 11

อันดับ), และภูฑาน (80, ขึ้น 14 อันดับ) ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่แม้จะยังอยู่ในระหว่างการสร้างตัวในประเทศประชาธิปไตยน้องใหม่ ความก้าวหน้าในสามประเทศนี้แสดงให้เห็นว่าการอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวการคุกคามเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย