แอมเนสตี้ยินดี คสช. ยอมลดใช้ศาลทหารกับพลเรือน
แนะยกเลิกข้อหาคผู้ใช้เสรีภาพอย่างสงบ

13 กันยายน 2559

 

ตัวแทนแอมเนสตี้ระบุการลดอำนาจศาลทหารในคดีพลเรือนเป็นเรื่องน่ายินดี เชื่อเป็นผลจากการรณรงค์ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเรียกร้องยุติจำกัดเสรีภาพและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

 

โจเซฟ เบเนดิกต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของไทยออกคำสั่งโอนคดีด้านความมั่นคง การหมิ่นพระบรามราชานุภาพ และการพกพาอาวุธปืน ที่คอยอยู่ในศาลทหารให้กลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของศาลยุติธรรมแทน โดยระบุว่าพลเรือนไม่ควรถูกไต่สวนโดยศาลทหารอยู่แล้ว การลดอำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีและทางการไทยควรจะทำมานานแล้ว

 

 051_0.jpg

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนแอมเนสตี้ยังแสดงความห่วงใย เนื่องจากประกาศดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมคดีพลเรือนเดิมที่กำลังถูกไต่สวนโดยศาลทหารอยู่ตอนนี้

 

“มันไม่ได้พูดถึงคำถามสำคัญอีกหลายข้อ ซึ่งรวมถึงพลเรือนกลุ่มที่จะยังคงติดบ่วงในระบบศาลทหารต่อไป โดยหลายคนต้องโดนตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรมเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างสงบ หากทางการไทยจริงจังกับการปฏิรูป พวกเขาต้องยกเลิกข้อหาต่อผู้ที่ใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ ปล่อยตัวผู้ที่กำลังใช้โทษเพียงเพราะแสดงความเห็นต่างอย่างสงบ ลบประวัติอาชญากรรมต่อพวกเขา ตลอดจนโอนคดีพลเรือนที่เหลือทั้งหมดไปยังศาลพลเรือนด้วย” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะทางการไทยด้วยว่าควรยกเลิกคำสั่ง คสช. ใดๆ ที่ลงโทษการชุมนุมอย่างสงบและอนุญาตให้ทหารจับกุมพลเรือนโดยพลการและกักขังพวกเขาโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกได้นานถึงหนึ่งสัปดาห์ด้วย

 

ทั้งนี้ โจเซฟ เบเนดิกต์ เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงผลักดันของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ตลอดจนองค์การพัฒนาเอกชนในไทยและคนไทยที่ร่วมกันรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง

 

“ประเทศไทยตอนนี้ยังคงห่างไกลจากพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยบททดสอบสำคัญสำหรับทางการไทยกำลังจะเกิดขึ้นปลายเดือนนี้ เมื่อพวกเขาจะต้องตอบสนองต่อข้อเสนอแนะจากประชาคมโลกในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ UPR ของสหประชาชาติ โดยข้อเสนอแนะต่างๆ ครอบคลุมถึงการแก้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบด้วย” โจเซฟ เบเนดิกต์ กล่าวปิดท้าย