แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรม “Movies That Matter: ดูหนัง-ฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน” พาหนังดอยบอยเข้าโรงหนังเนื่องในวันผู้สูญหายสากล
30 สิงหาคม ตรงกับวันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดกิจกรรม “Movies That Matter: ดูหนัง-ฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน” พาหนังดอยบอยเข้าโรงหนังเนื่องในวันผู้สูญหายสากล โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “ดอยบอย” ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน

อัพเดตสถานการณ์อุ้มหาย: กฎหมายและความท้าทาย
ก่อนเข้าสู่การฉายภาพยนตร์ คณะผู้จัดงานได้เปิดเวทีเสวนา เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทรมานและอุ้มหาย โดย สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้สำเร็จ หลังจากผลักดันกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว กสม. ยังมีการรายงานผลการตรวจสอบเรื่องบุคคลสูญหายในต่างประเทศ จำนวน 9 คน ซึ่งทาง กสม. เชื่อว่าบุคคลทั้ง 9 ถูกทำให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังไม่สามารถระบุตัวตนหรือหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม กสม. ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เพื่อสืบสวนสอบสวนต่อไป รวมทั้งเสนอรัฐบาลให้ดำเนินการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ สุภัทราระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานเรียบร้อยแล้ว และยังมีภารกิจอื่นๆ ได้แก่ การทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี เสนอไปที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อประชาชน รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน

ด้านนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการทำงานเกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาอุ้มหาย ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้มีพันธกรณีดังกล่าวแล้ว ก็ต้องนำกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมาปรับใช้ในประเทศไทย นำไปสู่การออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
จุดเด่นของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 คือการระบุถึงความผิด 3 ฐาน ที่ชัดเจน คือฐานความผิดการกระทำทรมาน ฐานความผิดการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และฐานความผิดเรื่องการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรืออุ้มหาย รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะการบันทึกหลักฐานขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปี ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ นรีลักษณ์มองว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความตระหนักในเรื่องการทรมานและการอุ้มหายพอสมควร และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นนี้ลดลง ทว่าก็ยังคงมีความท้าทายหลายข้อด้วยกัน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า การอุ้มหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดข้อหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูญหายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวของผู้สูญหาย และสังคมในวงกว้าง
นอกจากนี้ ปิยนุชยังแสดงความกังวลว่า แม้ทุกวันนี้จะมีกฎหมายที่ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหาย แต่ข้อท้าทายคือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ และญาติพี่น้อง ครอบครัวของผู้สูญหาย ก็ยังคงต้องแบกรับภาระในการหาหลักฐานเอาผิดผู้กระทำด้วยตนเอง แทนที่จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ปิยนุชจึงฝากความหวังไว้ว่า แอมเนสตี้เกิดขึ้นจากพลังของคนธรรมดาในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น หลังจากชมภาพยนตร์ดอยบอย ก็ขอให้ผู้ชมได้ตั้งคำถาม และทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม
ดอยบอย: ภาพสะท้อนการอุ้มหาย ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
ภาพยนตร์เรื่อง “ดอยบอย” เป็นผลงานการกำกับของนนทวัฒน์ นำเบญจพล เจ้าของผลงานสารคดีสะท้อนสังคม อาทิ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” “สายน้ำติดเชื้อ” และ “ดินไร้แดน” โดยผลงานชิ้นล่าสุดนี้ บอกเล่าเรื่องราวของ “ศร” เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ ที่เข้าไปพัวพันกับการอุ้มหายนักกิจกรรม รวมทั้งสะท้อนภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พนักงานบริการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมกับใครเลย

“มันต่อยอดมาจากเรื่องที่แล้ว คือดินไร้แดน เป็นเรื่องชาติพันธุ์ ที่ตอนไปเชียงใหม่ผมสงสัยว่าทำไมคนไทใหญ่ถึงมาอยู่กันเยอะ ผมไปเชียงใหม่บ่อยมาก แต่ไม่เคยสังเกตเห็นการมีอยู่ของพวกเขา เหมือนเป็นมนุษย์ล่องหนอยู่ในประเทศเราด้วย เรื่องนี้เราใช้เวลาเขียนบท 5 – 6 ปี แล้วในระหว่างที่ผมพัฒนาบทอยู่ มันก็มีเหตุการณ์ของวันเฉลิมเกิดขึ้นด้วย จริงๆ ผมก็เป็นเพื่อนกับวันเฉลิมเหมือนกัน ก็ตกใจแล้วก็เสียใจมากๆ แล้วก็อยากเล่าเรื่องนี้ใส่ลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย” นนทวัฒน์เล่าถึงที่มาที่ไปของภาพยนตร์ดอยบอย
สำหรับนนทวัฒน์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการรวบรวมประเด็นที่เขาสนใจในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง ที่ประเด็นทางสังคมมากมายถูกหยิบยกมาพูดด้วยเสียงของคนรุ่นใหม่ และถูกขับเคลื่อนออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน

และหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็ได้แก่ อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงนำผู้รับบทเป็น “ศร”
“ก่อนหน้านี้ผมก็รู้สึกว่าผมจะหยุดแสดงแล้ว แต่พอผมได้อ่านบทเรื่องนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เราอยากจะถ่ายทอดเรื่องนี้ ตัวละครนี้ ประเด็นเรื่องการอุ้มหาย เรื่องของระบบที่มันไม่ยุติธรรม เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องของสิทธิและเสียงของมนุษย์ มันคือประเด็นที่ผมสนใจ แล้วผมก็ร่วมต่อสู้มาตลอดตั้งแต่ที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการประท้วง เรารู้สึกว่าเราใช้เสียงในที่ของเรามาโดยตลอด และในฐานะนักแสดง จะได้มาถ่ายทอดเรื่องราวเล่านี้ด้วย กับผู้กำกับที่มีความกล้าที่จะพูดเรื่องนี้สักที อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอันนี้ผมเลยรู้สึกว่า ผมต้องได้บทนี้ มันก็เลยเป็นจุดที่แบบว่า เอาวะ ต้องลุยให้ได้ ก็พร้อมอุทิศตัวเองทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนตัวเองไปเป็นศรในดอยบอย”
อวัชเข้าไปลงพื้นที่ใช้ชีวิตกับเพื่อนชาวไทใหญ่ และค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตของพนักงานบริการ เพื่อถ่ายทอดชีวิตของผู้คนเหล่านี้ให้สมจริงที่สุด ในฐานะนักแสดงที่ต้องการทำหน้าที่ของตัวเองในการเป็นกระบอกเสียงของผู้คนที่ไร้อำนาจในสังคม
“ที่ผ่านมา เราในฐานะนักแสดง เมื่อก่อนก็จะถูกบอกว่า อย่าพูดเรื่องการเมือง พูดแล้วเดี๋ยวจะโดนแบน เดี๋ยวไม่มีงาน แต่สุดท้ายวันนี้ผมก็รู้สึกว่า การที่ผมได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ ผมทำในฐานะมนุษย์ที่ประกอบอาชีพเป็นนักแสดง และผมเชื่อว่า เรื่องการเมือง เรื่องอุ้มหาย เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่เราทุกคน ในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าอาชีพอะไร เรามีสิทธิที่จะพูด เราควรมีสิทธิที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นเสียงของคน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ในอาชีพใด คุณสามารถจะทำได้” อวัชกล่าว
เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูด
อย่างไรก็ตาม อาจจะเรียกได้ว่า ดอยบอยเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่บอกเล่าปัญหาการทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการพูดคุยถกเถียงกันในสังคมอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น การเผยแพร่ภาพยนตร์ในระบบสตรีมมิง ที่กระจายไปทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเซ็นเซอร์ใดๆ ยังสร้างพลังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถไปได้ไกลกว่าเดิม
“การลุกฮือของเด็กรุ่นใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างขึ้น พูดกันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ทำให้ผมคิดว่า เวลาทำหนังหรืองานศิลปะมันควรจะพูดกันตรงไปตรงมาบ้าง ไม่ต้องใช้สัญลักษณ์ ไม่ต้องตีความอะไรกันมากมายขนาดนั้น แล้วผมก็รู้สึกว่า พอมันออกฉายไป ก็ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและเกิดการถกเถียงมากมายในโลกออนไลน์ แล้วก็ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ออกมาหลังจากนั้น ก็พยายามเล่า วิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบตรงไปตรงมาเพิ่มมากขึ้นในทางการตลาด ผู้คนเองก็ชอบหนังที่มันมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา มันแซ่บกว่า” นนทวัฒน์กล่าว

ด้านอวัชมองว่า ภาพยนตร์ดอยบอยเป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อหนึ่งที่สามารถเข้าถึงคนที่ไม่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ให้ “ตาสว่าง” และตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น และเขาไม่รู้สึกกลัว หากวันหนึ่งจะถูกผู้มีอำนาจคุกคาม
“ผมก็ทำอาชีพตัวเองอยู่ แล้วก็แค่ถ่ายทอดเรื่องราวที่มันก็มีอยู่จริงในฐานะนักแสดง ทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด การที่คุณไม่ให้พูด นั่นแปลว่าคุณกำลังใช้อำนาจของคุณในการกดทับให้เสียงของคนที่อยากจะพูดมันไม่มีเสียง มันยิ่งกลายเป็นว่า ยิ่งคุณกด ยิ่งคุณปิด ประชาชนเขายิ่งอยากพูด”
อุ้มหาย “วันเฉลิม” เรื่องจริงนอกจอภาพยนตร์
“ทำไมคนที่อุ้มต้าร์ไม่ใจดีแบบในหนัง” คำพูดแรกของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2563 หลังจากภาพยนตร์ดอยบอยจบลง

หลังจากที่น้องชายถูกทำให้หายตัวไปเมื่อ 4 ปีก่อน สิตานันปรากฏตัวในสื่อต่างๆ ในฐานะญาติของผู้สูญหาย ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่นเดียวกับครอบครัวนักกิจกรรมอีกหลายคนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่ทราบชะตากรรม
“ตั้งแต่วันแรกที่น้องหายไป แล้วเราออกมาเรียกร้อง คนรอบข้างพูดทุกคนว่าระวังจะเจอเหมือนต้าร์ ไม่กลัวเหรอ ก็ทบทวนนานเหมือนกัน เราก็มานั่งคิดว่ามีบุคคลถูกอุ้มหายนอกราชอาณาจักรไทย 9 คน แล้วไม่มีการออกมาเรียกร้อง มันก็เลยเกิดเคสวันเฉลิมขึ้น เราก็เลยไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวใครอีก เราก็เลยตัดสินใจว่าเป็นไงเป็นกัน เพราะนั่นก็คือน้องเรา”
นับแต่นั้นมา คนธรรมดาอย่างสิตานันได้กลายเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเธอในหลายด้าน แต่เธอก็ยืนยันว่า ไม่ควรต้องมีใคร “ถูกอุ้ม” เพียงเพราะแสดงออกทางการเมือง

“คนอย่างต้าร์มันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้าร์มันยอมสละ มันอยากเห็นประเทศไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา นั่นคือต้าร์ค่ะ มันเป็นสิ่งที่เรายอมทุ่มทั้งชีวิตเพื่อออกมาเรียกร้องให้น้อง ก็ยังไม่รู้เลยนะว่าความยุติธรรมมันคืออะไร สำหรับเรา แต่เสียดายไหม เวลา 4 ปี เสียอะไรไปเยอะมาก ไม่เสียดาย เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราพูดออกไป จะมีคนเกรงและไม่ทำกับใครอีก แล้วเราก็ยังไม่พอแค่นี้ การทำงานของเรา ถึงแม้ว่า 4 ปีมันจะนาน แต่เราอยากให้คนที่สั่งได้รับผลกรรม ไม่ใช่ลอยนวลพ้นผิด” สิตานันสรุป

