นิทรรศการเพื่อสร้างความเข้าใจ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต: ความหวังของผู้ลี้ภัย”

17 มิถุนายน 2561

 

เมื่อวันที่ 16 - 17 มิถุนายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้และเครือข่ายจัดนิทรรศการเพื่อชวนคนไทยมาร่วมสัมผัสชีวิตผู้ลี้ภัยที่สยามวัน ผ่านการเวิร์กชอปทางศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ นิทรรศการจำลอง และกิจกรรมสนุกๆ อีกมากมายเนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยโลก

 

เนื่องด้วยวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงความเข้มแข็ง และความอดทนของผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีจากประเทศตนเอง ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะต้องได้รับการคุ้มครอง และการค้นหาทางออกอย่างยั่งยืน ในทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อเฉลิมฉลองให้กับพลังใจที่ยิ่งใหญ่ของผู้ลี้ภัยในทุกประเทศทั่วโลก

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และอไซลัมแอสเซสประเทศไทย (Asylum Access Thailand) จึงร่วมกับโครงการพลเมืองอาเซียนและพลเมืองโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามแสควร์วัน และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต: ความหวังของผู้ลี้ภัย” (Past Present Future: Stories of Hope for Refugee) เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเมืองในประเทศไทย โดยเล่าเรื่องของพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีอดีต มีความท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงความหวังและความฝันสำหรับอนาคต และเน้นย้ำว่าผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนและมีหลักประกันในชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคน

 AI_Refugees'Event3382.JPG

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยผ่านงานศิลปะ วัฒนธรรม และนิทรรศการ มีคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และยังไม่ทราบถึงความแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ งานในวันนี้จึงเป็นเสมือนตัวเชื่อมให้คนไทยในเมืองหลวงได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยได้มากขึ้น”

 

แสงเดือน เออร์วิง ผู้อำนวยการอไซลัมแอสเซสประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า “หากเป็นไปได้ ไม่มีใครอยากเลือกเป็นผู้ลี้ภัย แต่เราสามารถช่วยได้ด้วยการรักษาสันติภาพของโลก และปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา”

 

นิทรรศการครั้งนี้ เล่าเรื่องตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยนิทรรศการในส่วนของอดีต ได้จัดแสดงภาพวาดผู้ลี้ภัยจากปลายปากกาของเด็กเพาะช่าง แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัยในอดีตและความรู้สึกของพวกเขาต่อเหตุการณ์ที่ประสบ เช่น เจมส์ เด็กหนุ่มชาวกัมพูชาวัย 23 ปี ที่ต้องลี้ภัยมาตั้งแต่เด็กพร้อมกับครอบครัวเพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมืองของคุณพ่อ หรือกัลม่า ชาวโรฮิงญาที่ต้องหลบหนีจากการระเบิดไล่ที่ ต่อมาในส่วนของปัจจุบัน ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสบรรยากาศที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยในเมืองแบบ 360 องศา ผ่านเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) และมีการจัดแสดงของใช้จริงของผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ผู้ลี้ภัยเคยใช้ในประเทศของตัวเองก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งและทำให้ต้องลี้ภัย เช่น เครื่องแบบ เครื่องแต่งกาย หนังสือเรียน รองเท้า กระจก และเครื่องสำอางค์ และสำหรับนิทรรศการในส่วนอนาคต ได้บอกเล่าเรื่องราวความหวังและความฝันของผู้ลี้ภัยผ่านคลิปเสียง ว่าพวกเขามีความฝันอะไรบ้าง และมีความคาดหวังให้สังคมเปิดรับพวกเขาอย่างไร

 

AI_Refugees'Event3501.JPG

สำหรับกิจกรรมบนเวทีได้เปิดให้มีการสนทนาอย่างเป็นกันเอง ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต: ความหวังของผู้ลี้ภัย” ร่วมคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวโดย ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงภาพยนตร์อิสระและเพื่อนของผู้ลี้ภัย เอเอส ผู้ลี้ภัยชาวปากีสถาน นอกจากนั้นยังมีการแสดงดนตรีสดโดยนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการแสดงดนตรีจากวัฒนธรรมของผู้ลี้ภัย สลับกับกิจกรรมบนเวทีตลอดทั้งงาน

 

ภายในงานยังเปิดให้ประชาชนที่เข้าร่วมได้เรียนรู้วัฒนธรรมของผู้ลี้ภัยและทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้นในฐานะเพื่อนมนุษย์ ผ่านกิจกรรมเวิร์กชอป ”เพ้นท์เฮนน่า” ที่ถูกนำไปใช้เป็นแฟชั่น และใช้ในพิธีแต่งงานของหลากหลายวัฒนธรรม โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก็จะมีลายเพ้นท์เป็นของตัวเอง และเวิร์กชอป “การเย็บปักผ้าสไตล์ชาวม้ง” ซึ่งเป็นทักษะที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถเรียนรู้ทักษะและแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับช่างฝีมือ นอกจากนั้นยังเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านอาหาร 5 สัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น ซีเรีย ปากีสถาน ศรีลังกา เวียดนาม และโซมาเลีย

 

นอกจากนั้นนักกิจกรรมและอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ร่วมกัน  Take Action เชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดยืนว่าเราเข้าใจและจะอยู่เคียงข้างผู้ลี้ภัย และยังเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานส่งโปสการ์ดให้กำลังใจผู้ลี้ภัย พร้อมทั้งส่งข้อความถึงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญาในที่ประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัย ปี 2559 ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาจัดทำระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของ การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ให้สิทธิการศึกษา และฝึกอาชีพแก่คนในพื้นที่พักพิงฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานรณรงค์ของแอมเนสตี้ที่ต้องการสร้างหลักประกันว่า รัฐบาลได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาดังกล่าว

 

ทั้งนี้เนื่องในโอกาสวันผู้ลี้ภัยโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยซึ่งทำงานรณรงค์เรื่องผู้ลี้ภัยในประเทศไทยและทั่วโลกเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงได้ หากเรารู้จักและเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้น เราจะสามารถทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อหาหนทางการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยร่วมกันได้อย่างยั่งยืน