สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2566

7 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

ซูดาน: อาชญากรรมสงครามรุนแรงขึ้น ประชาชนถูกสังหารจากการโจมตีโดยเจตนาและไม่เลือกเป้าหมาย

3 สิงหาคม 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานฉบับใหม่เรื่อง ‘‘Death Came To Our Home’: War Crimes and Civilian Suffering In Sudan บันทึกการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนเป็นจำนวนมากทั้งจากการโจมตีโดยเจตนาและการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย โดยคู่สงคราม นอกจากนั้นรายงานยังระบุถึงความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง การโจมตีแบบเจาะจงไปที่วัตถุของพลเรือน เช่น โรงพยาบาลและโบสถ์ และการปล้นสะดมอย่างกว้างขวาง

ในรายงานระบุว่า มีการก่ออาชญากรรมสงครามอย่างกว้างขวางในประเทศซูดานในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) และกองทัพซูดาน (SAF) กำลังทำลายประเทศ

โดยประชาชนในซุดานถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บหลายพันคนนับตั้งแต่การต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (RSF) และกองทัพซูดาน (SAF) ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่อายุเพียง 12 ปี เผชิญกับความรุนแรงทางเพศ “พลเรือนทั่วประเทศซูดานกำลังทนทุกข์กับความน่ากลัวที่เหนือจินตนาการ” เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/45iltcx

 

----- 

 

 

ไนเจอร์: รัฐบาลใหม่ต้องยุติการควบคุมตัวโดยอำนาจฝ่ายบริหารและการจับกุมโดยพลการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

1 สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการจับกุมโมฮาเหม็ด บาซูม ประธานาธิบดี ฮามา อมาดู โซลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ

ฮาบิบาโต โกโลโก รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง กล่าวว่า

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ในไนเจอร์ปล่อยตัวประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด บาซูม และครอบครัวของเขา รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ถูกจับกุมและถูกคุมขังโดยพลการนับตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

“รัฐบาลไนเจอร์ต้องเร่งปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ควรมีใครถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/45fMtcO

 

-----

 

 

บังกลาเทศ: ทางการต้องลดระดับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นและเคารพสิทธิของผู้ชุมนุมประท้วง

31 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากความความรุนแรงที่กำลังเพิ่มขึ้น การใช้กำลังที่เกินควรและการจับกุมอย่างกว้างขวางในระหว่างการชุมนุมประท้วงที่นำโดยฝ่ายค้านเพื่อต่อต้านพรรครัฐบาลในบังกลาเทศ

สมริธิ สิงห์ รักษาการผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำเอเชียใต้ กล่าวว่า

“มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลดระดับสถานการณ์ในบังกลาเทศเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนมากขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะทำให้มีความรุนแรงและความไม่สงบมากขึ้นอีกในช่วงหลายเดือนก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง

“ทางการควรจะมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และประกันว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในการควบคุมการชุมนุมในลักษณะที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมในการควบคุมการชุมนุมประท้วง และการใช้กำลังของหน่วยงานดังกล่าวจะต้องไม่เกินความจำเป็นและได้สัดส่วน

“ความรุนแรงในช่วงสุดสัปดาห์นี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งและอาจมีผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3OL51Mo

 

-----

 

โตโก: “ผู้หญิงบางคนต้องคลอดบนพื้น” ท่ามกลางการขาดแคลนบุคลากรและสภาพสถานที่ที่ย่ำแย่

31 กรกฎาคม 2566

 

ทางการโตโกต้องเร่งเสริมสร้างการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพของมารดาภายในประเทศและลดอัตราการเสียชีวิตของทารกและทารกแรกเกิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องในวันสตรีแอฟริกัน 

ตามข้อมูลจาก UNICEF ประเทศโตโกมีอัตราการเสียชีวิตของทารกอยู่ที่ 43 คนต่อเด็ก 1,000 คนที่เกิดมามีชีวิต และอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด ซึ่งหมายถึงมีทารกเกิดใหม่ที่เสียชีวิตก่อนอายุ 28 วัน อยู่ที่ 24 คนต่อเด็ก 1,000 คนที่เกิดมามีชีวิต

อัตราการเสียชีวิตของมารดาในโตโกก็สูงเช่นกัน โดยมีรายงานการเสียชีวิตของมารดาอยู่ที่ 399 คนต่อทุก 100,000 คนที่คลอดเด็กมีชีวิต

“แม้ว่าทางการโตโกจะได้ดำเนินการเพื่อทำให้การดูแลสุขภาพของมารดาเข้าถึงได้อย่างย่อมเยามากขึ้น แต่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อประกันว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถคลอดลูกได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสถานที่ที่พวกเธอได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม” เอเม่ อาดี  ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โตโก กล่าว

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/45jvRB0

 

----- 

 

โลก: ข้อเรียกร้องของห้าประธานาธิบดีจากยุโรปใต้เพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

3 สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาของห้าประธานาธิบดีจากยุโรปตอนใต้ ได้แก่ อิตาลี กรีซ โปรตุเกส มอลตา และสโลวีเนีย ที่เรียกร้องให้มีมาตรการในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หลังจากเกิดเหตุคลื่นความร้อนที่รุนแรง ไฟป่าและอุทกภัยในพื้นที่เมื่อเร็วๆ นี้

มาร์ต้า ชาฟ ผู้อำนวยการโครงการความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และสังคม และความรับผิดชอบขององค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

“ประธานาธิบดีของประเทศเหล่านี้มีสิทธิที่จะเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากปีนี้เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่ทำลายสิทธิในชีวิต สุขภาพ อาหาร ที่อยู่อาศัย งานที่มีคุณค่าและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และอื่นๆ

“แต่ถึงเวลาแล้วที่เหล่าผู้นำระดับโลกต้องหยุดการพูดโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ พวกเขาควรหยุดประกาศว่า 'ต้องมีการดำเนินการ' และเริ่มดำเนินการนั้นด้วยตนเอง”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Or76f3

 

----- 

 

เซเนกัล: ต้องยุติข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคล

4 สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการเกี่ยวกับพื้นที่ของภาคประชาสังคม และการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ

ฮาบิบาโต โกโลโก รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง กล่าวว่า

“ปาเป้ อาเล่ เนียง ซึ่งเป็นนักข่าว ถูกจับกุมในช่วงสุดสัปดาห์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม และได้รับคำสั่งขังในวันที่ 1 สิงหาคม เพียงเพราะทำหน้าที่ในฐานะนักข่าวอิสระ และสืบสวนคดีทางการเมืองและกฎหมายที่ละเอียดอ่อน ตามที่ทนายของเขากล่าว อัยการไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาของลูกความของเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาในทันทีและไม่มีเงื่อนไข

สื่อรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คนในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม หลังจากเกิดเหตุประท้วงรุนแรงตามเมืองต่างๆ ทั่วเซเนกัล  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการสอบสวนการเสียชีวิตเหล่านี้ พร้อมกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่ได้มีการบันทึกไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3OsTvUu

 

----- 

 

ซิมบับเว: ทางการต้องสอบสวนการเสียชีวิตของนักกิจกรรมจากพรรคฝ่ายค้านโดยทันที

4 สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข่าวการเสียชีวิตของทินาเช ชิทซันจ์ นักกิจกรรมจากพรรค Citizens Coalition for Change (CCC) ที่เป็นฝ่ายค้านในกรุงฮาราเรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของผู้สนับสนุนพรรค ZANU-PF ที่เป็นฝ่ายรัฐบาล

คันโย ฟาริส รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้ กล่าวว่า

“การถูกทำร้ายจนถึงชีวิตของทินาเช ชิทซันจ์ นักกิจกรรมจากพรรค CCC แสดงถึงภาพที่น่าสยดสยองของสภาพแวดล้อมด้านสิทธิมนุษยชนในซิมบับเวก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ความรุนแรงที่โหดเหี้ยมเช่นนี้ ทำลายภูมิทัศน์ทางการเมืองของซิมบับเวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุมโดยสงบอย่างร้ายแรง

“ทางการจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันความรุนแรงที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และควรหลีกเลี่ยงการแถลงการณ์ยั่วยุที่อาจปลุกปั่นให้เกิดการโจมตีที่คล้ายคลึงกันหรือกีดกันประชาชนจากเสรีภาพในการใช้สิทธิมนุษยชนและแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองที่พวกเขาเลือก

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3DKIp8x