สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 20 พฤษภาคม - 26 พฤษภาคม 2566

29 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

 

ประเทศไทย : ปฏิบัติการด่วน (อัพเดท) เด็กผู้ชุมนุมประท้วงตกเป็นเป้าหมายในประเทศไทย 

25 พฤษภาคม 2566

 

ทางการไทยกำลังดำเนินคดีและคุกคามต่อเด็กนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ "เพชร" ธนกร ภิระบัน นักกิจกรรมรณรงค์ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกศาลตัดสินจำคุก "แซนด์" อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี "จัน" จันทร ต้นน้ำเพชร นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองด้านสิทธิในที่ดิน และ "หยก" ผู้ชุมนุมประท้วงวัย 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา

ในปี 2563 เยาวชนรวมทั้งนักศึกษาและนักเรียนมัธยมอายุน้อยกว่า 18 ปี เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายครั้งทั่วประเทศไทย การชุมนุมประท้วงเหล่านี้ได้เริ่มจากพื้นที่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยและขยายมาสู่ท้องถนน ทางการไทยตอบโต้ปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยการจับกุมและดำเนินคดีอาญากับผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้ โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงที่มุ่งข้อเรียกร้องไปที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

 

อ่านต่อ: https://shorturl.at/rFIJS 

 

-----

 

 

กัมพูชา : หัวหน้าคาสิโน ชิม สีหาร์ และคนงานที่หยุดงานประท้วงถูกตัดสินว่ามีความผิด

25 พฤษภาคม 2566

 

ทางการกัมพูชาต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อ ชิม สีหาร์ ผู้นำสหภาพแรงงานสนับสนุนสิทธิแรงงาน (LRSU) ของพนักงานกัมพูชาของนาคเวิลด์ และสมาชิกสหภาพแรงงานหรืออดีตสมาชิกอีกแปดคน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรท์วอทช์ และ สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย กล่าว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยสมาชิกสหภาพแรงงานถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุมโดยสงบ 

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ศาลกรุงพนมเปญตัดสินให้สหภาพแรงงานมีความผิดฐาน “ยุยงให้ก่ออาชญากรรมหรือรบกวนปลอดภัยในสังคม” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 494 และ 495 และ ตัดสินจำคุก ชิม สีหาร์ เป็นเวลาสองปี และเช่นเดียวกันกับสมาชิกสหภาพแรงงานคนอื่นๆที่ถูกตัดสินระหว่างหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง มีเพียงสีหาร์เท่านั้นที่ถูกย้ายเข้าคุกขนาดในที่คนอื่นๆการตัดสินจำคุกโดยรอการลงอาญาหรือมีเงื่อนไขการกำกับการพิจารณาคดี

 

อ่านต่อ: https://shorturl.at/IOTYZ 

 

----- 

 

 

อาร์เมเนีย/อาเซอร์ไบจาน : สปายแวร์เพกาซัสมุ่งเป้าไปที่บุคคลสาธารณะชาวอาร์เมเนียท่ามกลางความขัดแย้ง 

25 พฤษภาคม 2566

 

การสืบสวนร่วมกันเปิดเผยว่าบุคคลสาธารณะและเจ้าหน้าที่ชาวอาร์เมเนียอย่างน้อย 12 คน รวมทั้งนักข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตกเป็นเป้าหมายของสปายแวร์เพกาซัสของบริษัท NSO Group ท่ามกลางความขัดแย้งในนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างเดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2565

หลักฐานจากการสืบสวน จากการทำงานร่วมกันระหว่างแผนก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมด้วย Access Now, the Citizen Lab, CyberHUB-AM และ นักวิจัยด้านความปลอดภัยบนมือถืออิสระอย่าง รูเบน มูรัดยาน ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุของการมุ่งเป้าหมายดังกล่าว

โดยแผนก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบการติดไวรัสของนักข่าวสองคนจากสำนักข่าว Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) สาขาอาร์เมเนีย: คาร์เลน อัสลานยาน และ อัสตกิก เบเดยาน โดยมีเหยื่อรายอื่นๆ ด้วย อาทิ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (ผู้ตรวจการแผ่นดิน) ของอาร์เมเนีย เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ อดีตโฆษกกระทรวงต่างประเทศอาร์เมเนีย และตัวแทนภาคประชาสังคมของอาร์เมเนียอีกเจ็ดคน

 

อ่านต่อ: https://shorturl.at/dgzCY 

 

-----

 

โลก : รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามทำให้สนธิสัญญาฉบับใหม่อ่อนแอลงซึ่งอาจเปิดทางให้อาชญากรสงครามหลุดรอดกระบวนการยุติธรรม

22 พฤษภาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข้อเสนอของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะลดทอนสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่เสนอเกี่ยวกับความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรสงคราม ซึ่งอยู่ในการเจรจาขั้นสุดท้ายในการประชุมที่เมืองลูบลิยานา ประเทศสโลวีเนียเมื่อสัปดาห์นี้ 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า 

“การเคลื่อนไหวทางการทูตของรัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินไปโดยฝ่าฝืนกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นและตั้งคำถามถึงสาระสำคัญของเขตอำนาจสากล หากข้อเสนอของพวกเขาได้รับการยอมรับ อาจทำให้รัฐมีช่องโหว่เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ การแก้ไขที่น่าเป็นห่วงนี้อาจทำให้ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ทำการทรมานและอาชญากรสงครามหลุดจากความรับผิดชอบ และนำไปสู่การจัดหาที่หลบภัยให้พวกเขาด้วย” 

 

อ่านต่อ: https://shorturl.at/cfBWX 

 

-----

 

เวียดนาม : ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักเคลื่อนไหวที่อยู่เบื้องหลังวิดีโอเสียดสี 'ซอลต์เบ'

23 พฤษภาคม 2566

 

ทางการเวียดนามต้องยกเลิกข้อหา 'โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ' ในทันทีต่อนักเคลื่อนไหว  บุ่ย ต๋วน เลิม ซึ่งต้องโทษจำคุกสูงสุด 12 ปีจากการโพสต์เชิงวิพากษ์วิจารณ์ เหน็บแนม และโพสต์โซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม 

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ นักวิจัยด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวก่อนการพิจารณาคดีของลัม ในวันที่ 25 พฤษภาคมว่า

“ทางการเวียดนามต้องยกเลิกข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้และปล่อยตัว บุ่ย ต๋วน เลิม ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ทางการได้ติดตามเขาจากโพสต์และวีดีโอของเขา แสดงให้เห็นถึงความพยายามของทางการเวียดนามที่จะปฏิเสธไม่ให้ผู้คนใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตน ไม่ว่าสิ่งที่แสดงออกจะปรารถนาดี เหน็บแนม หรือขำขันแค่ไหนก็ตาม การเสียดสีไม่ใช่อาชญากรรม ความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมนี้จะต้องจบลง” 


อ่านต่อ: https://shorturl.at/vCEHJ