อิหร่าน: เอกสารที่รั่วออกมาเผยให้เห็นคำสั่งระดับสูงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ ‘เผชิญหน้าอย่างไร้ความเมตตา’ กับผู้ประท้วง

30 กันยายน 2565

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : © Private

แถลงการณ์

 

หน่วยงานทหารระดับสูงสุดของอิหร่าน สั่งการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพในทุกจังหวัด “เผชิญหน้าอย่างไร้ความเมตตา” กับผู้ประท้วงที่ออกมาเคลื่อนไหว ภายหลังการเสียชีวิตของมาห์ซา อามีนีระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจศีลธรรมในอิหร่าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ หลังได้รับเอกสารอย่างเป็นทางการที่รั่วไหลออกมา เผยให้เห็นแผนของทางการที่จะปราบปรามการประท้วงอย่างเป็นระบบ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น การปราบปรามครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 52 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนจนถึงปัจจุบัน 

ในการวิเคราะห์อย่างละเอียด ที่เผยแพร่วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยหลักฐานที่แสดงถึงแผนการของทางการอิหร่าน ที่จะปราบปรามการประท้วงอย่างทารุณ โดยใช้กำลังของกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม หน่วยทหารพรานบาซิจ ตำรวจปราบจลาจลของหน่วยบังคับใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ทางหน่วยงานยังได้เปิดเผยหลักฐานที่แสดงถึงการใช้กำลังและอาวุธปืนถึงขั้นชีวิตของเจ้าหน้าที่อิหร่านอย่างกว้างขวาง เพื่อจงใจสังหารผู้ประท้วง หรือทำการสังหารทั้งที่ควรรู้ด้วยความมั่นใจระดับหนึ่งว่า การใช้อาวุธปืนของตน อาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต 

“ทางการอิหร่านตั้งใจทำให้เกิดอันตรายและสังหารประชาชน ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความโกรธเคืองต่อการปราบปรามและความอยุติธรรมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอิหร่าน ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายสิบคนถูกสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างการปราบปรามนองเลือดล่าสุด” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการสากลของแอมเนสตี้ กล่าว 

“หากปราศจากปฏิบัติการร่วมกันอย่างเด็ดเดี่ยวของประชาคมโลก ซึ่งไม่ใช่แค่การออกแถลงการณ์ประณามเท่านั้น จะยังมีประชาชนอีกมากมายที่จะตกเป็นเหยื่อการสังหาร ทำให้พิการ ถูกทรมาน ถูกทำร้ายทางเพศ หรือถูกคุมขัง เพียงเพราะเข้าร่วมในการประท้วง จากเอกสารที่รั่วไหลออกมาและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับ ทำให้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกสอบสวนระดับสากลที่เป็นอิสระ เพื่อไต่สวนให้เกิดความรับผิดชอบ”  

         จากถ้อยคำของประจักษ์พยาน และจากสื่อด้านเสียงและภาพที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับ ผู้เสียชีวิตทั้ง 52 คนไม่ได้มีท่าทีที่จะเป็นภัยคุกคาม ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บร้ายแรง อันอาจเป็นเหตุผลให้มีการใช้อาวุธปืนกับพวกเขาได้เลย 

การปฏิเสธและปกปิดข้อมูลของรัฐ หลังหนึ่งสัปดาห์ของการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับสำเนาเอกสารอย่างเป็นทางการที่รั่วไหลออกมา ซึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 กองบัญชาการของกองทัพได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาในทุกจังหวัด “เผชิญหน้าอย่างไร้ความเมตตากับผู้ก่อกวนและผู้ต่อต้านการปฏิวัติ” ในช่วงค่ำวันนั้นเอง ได้เกิดการใช้กำลังถึงขั้นชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเสียชีวิตจำนวนมาก เฉพาะในคืนนั้นคืนเดียว  

เอกสารที่รั่วไหลออกมาอีกฉบับชี้ให้เห็นว่า ในวันที่ 23 กันยายน ผู้บัญชาการเหล่าทัพในจังหวัดมอแซนแดรอน สั่งการให้กองกำลังในทุกอำเภอและทุกเมืองในจังหวัด “เผชิญหน้าอย่างไร้ความเมตตา โดยอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เพื่อจัดการกับการลุกฮือของผู้ก่อจลาจลและผู้ต่อต้านการปฏิวัติ”  

จนถึงปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกรายชื่อบุคคล 52 คน รวมทั้งผู้หญิงห้าคน และเด็กอย่างน้อยห้าคน ที่ถูกกองกำลังอิหร่านสังหารระหว่างวันที่ 19 กันยายนและ 25 กันยายน สองในสามของผู้เสียชีวิตที่บันทึกข้อมูลได้ (อย่างน้อย 34 คน) ถูกสังหารในวันที่ 21 กันยายน ทางหน่วยงานเชื่อว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก และยังคงมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อจำแนกจำนวนผู้เสียหาย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตรวจสอบจากภาพถ่ายและวีดิโอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายเกือบทั้งหมดถูกสังหารโดยกระสุนจริงที่ยิงมาจากเจ้าหน้าที่ ผู้ชายอย่างน้อยสามคนและผู้หญิงสองคน ถูกเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนโลหะใส่ในระยะประชิด ส่วนซารีนา เอสมาอิลซาเดห์ เด็กผู้หญิงอายุ 16 ปี เสียชีวิตหลังถูกตีด้วยไม้กระบองอย่างรุนแรงที่ศีรษะ  

ทางการอิหร่านพยายามปัดความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตเหล่านี้ โดยเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผู้เสียหาย พยายามสร้างภาพว่าพวกเขาเป็น “บุคคลอันตราย” “บุคคลที่ก่อความรุนแรง” หรืออ้างว่าพวกเขาเสียชีวิตเพราะถูกสังหารโดย “ผู้ก่อจลาจล” ทางการยังได้ข่มขู่และคุกคามครอบครัวของผู้เสียหายเพื่อปิดปากพวกเขา หรือสัญญาว่าจะให้เงินตอบแทนถ้าครอบครัวยอมบันทึกวีดิโอ ระบุว่าผู้ที่สังหารญาติของตนเองเป็น “ผู้ก่อจลาจล” ซึ่งทำงานรับใช้ “ศัตรู” ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน 

ผู้ประท้วงถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูล การทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายที่เป็นระบบของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการรุมซ้อมอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงและผู้มุงดู ทางหน่วยงานยังได้บันทึกข้อมูลการทำร้ายทางเพศและความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงด้วยเหตุผลของเพศสภาพในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่จับหน้าอกผู้หญิง หรือดึงผมผู้หญิงอย่างรุนแรง หลังจากพวกเธอถอดฮิญาบออกเพื่อประท้วง 

ในวันที่ 28 กันยายน ผู้ประท้วงจากเอสแฟฮอนให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ได้เห็นผู้ประท้วงถูกรุมซ้อม ในคืนก่อนหน้านั้นเพื่อนก็เล่าให้ฟังว่าได้เห็น [ผู้ประท้วง] ผู้หญิงคนหนึ่งถูกลากผมมาบนพื้น ทำให้เสื้อผ้าหลุดออก และเจ้าหน้าที่ยังคงลากผมเธอต่อไป....”

“สองคืนก่อนหน้านี้” ผู้ประท้วงกล่าวเสริม “เพื่อนหลายคนก็ถูกซ้อมด้วยไม้กระบอง มีผู้หญิงคนหนึ่งได้รับแผลฟกช้ำที่หน้าผากและขา และบอกว่าเจ้าหน้าที่ไล่ต้อนพวกเธอเข้าไปในซอย และได้รุมทุบตีด้วยไม้กระบอง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยังบอกว่า ‘ยิงพวกมันที่ขาด้วย’ ส่วนเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบอกว่า ‘อย่าทำเลย ไปกันเถอะ’ พวกเขาทารุณโหดร้ายมาก”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ดูภาพวีดิโอและรายงานที่ชี้ว่า ผู้ประท้วงบางส่วนกระทำการด้วยความรุนแรงเช่นกัน อย่างไรก็ดี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลย้ำว่า การกระทำที่รุนแรงของผู้ประท้วงเพียงส่วนน้อย ไม่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังถึงขั้นชีวิต 

ตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้ว่าผู้ประท้วงบางคนจะใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องประกันว่า ผู้ประท้วงอย่างสงบส่วนที่เหลือ ยังคงสามารถประท้วงต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปแทรกแซงหรือคุกคามโดยไม่เหมาะสม การใช้กำลังใด ๆ เพื่อรับมือกับความรุนแรง ก็ต้องสอดคล้องกับหลักการความถูกต้องตามกฎหมาย ความจำเป็น และความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จะต้องไม่ใช้อาวุธปืน เว้นแต่เพื่อป้องกันตนเองหรือบุคคลอื่น จากภัยคุกคามที่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส และเฉพาะเมื่อแนวทางอื่นที่สุดโต่งและเป็นอันตรายน้อยกว่า ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อคุ้มครองชีวิตได้แล้ว

 

****************************************      

สำหรับข้อมูลหรือการติดต่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ: press@amnesty.org or ghina.bouchacra@amnesty.org