มายาธิปไตย

13 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย นกน้อยทำรังแต่พอตัว

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

“หากท่านเด็ดดอกไม้ทิ้ง จะยิ่งบาน”

นี่เป็นคำกล่าวที่เกิดขึ้นในปีคริสต์ศักราช 1990 ของนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในประเทศไต้หวัน ที่เปรียบ ‘ดอกไม้’ เป็นภาพแทนคนหนุ่มสาว คำกล่าวนี้เกิดในเหตุการณ์ที่เริ่มต้นจากนักศึกษาเพียงแค่ 9 คน แต่ไม่ช้าไม่นานก็มีผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันเพิ่มขึ้นมากมายในชั่วพริบตา และเปรียบการ ‘เด็ดดอกไม้’ เป็นเหมือนการทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ให้หายไป แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การที่ใครเด็กดอกไม้ออกจากขั้ว แม้ดอกไม้จะหายไป 1 ดอก แต่ธรรมชาติก็สามารถสร้างเซลล์ของต้นไม้ขึ้นมาใหม่ และกลับทำให้เพิ่มจำนวนดอกไม้ขึ้นไปอีก

หากดอกไม้คือภาพแทนคนหนุ่มสาวที่มีความเบิกบาน และมีอุดมการณ์ที่พร้อมมอบความงดงามแก่โลก แต่กลับมีใครบางคนอยากจะเด็ดดอกไม้เพื่อหวังจะหยุดความงดงามและการเบ่งบานแล้ว คนๆ นั้นอาจจะคิดผิด เพราะหากยิ่งปลิดดอกออก หรือยิ่งหยุดคนรุ่นใหม่ไม่ให้เติบโตทางความคิด ดอกไม้จะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น 

จริงอยู่ว่าหากเด็ดดอกไม้ออกมันจะหายไป แต่เคยคิดหรือไม่ว่าสิ่งที่หายไปแท้จริงมันคือความงดงามต่างหาก “ท่านไม่อยากเห็นความสวยงามบนโลกใบนี้หรือ” นี่เป็นคำถามที่จะถามคนที่เด็ดดอกไม้ดอกนั้นออก 

หากท่านไม่เด็ดดอกไม้ดอกนั้นออก ป่านฉะนี้ผู้คนอาจจะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยดอกไม้ที่งดงามเร็วขึ้นก็เป็นได้ เสมือนความเสรีและการที่มีประชาธิปไตยที่เบ่งบาน

ต้องยอมรับว่าไม่เพียงแต่คนหนุ่มสาวในไต้หวันเท่านั้นที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่หนุ่มสาวชาวไทยไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักศึกษาและนักเรียนที่แม้บางคนจะอายุยังน้อย แต่พวกเขาได้ออกมาใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องเอาประชาธิปไตยให้คืนกลับมาเป็นของพวกเขา 

 

เกิดอะไรขึ้น! นี่คือคำถาม?

 

การออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย นับเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมควรตั้งคำถามและหาคำตอบให้ได้ว่า เหตุใดคนรุ่นใหม่เหล่านี้ถึงได้ลุกขึ้นมาสร้างปฏิบัติการให้เป็นที่ปรากฏในช่วงเวลาหลายปีติดต่อกันมานี้ บางคนสลัดชุดนักเรียนวิ่งกรูเข้าไปเป็นกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง และอะไรบางอย่างที่ว่านั้นหากย้อนคิดกลับไป สิ่งนั้นเคยอยู่ในสังคมอยู่แล้วใช่หรือไม่ เหตุใดกันหนอที่คนรุ่นใหม่ยังคงต้องเรียกร้องสิ่งที่เกิดขึ้นมานานตั้งแต่อดีต

นั่นก็เพราะว่าในปัจจุบันสิ่งที่พวกเขาและคนรุ่นก่อนหน้านี้เคยคิดว่า ‘มีอยู่’ มันได้หายไปแล้ว คงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อเรียกในระบอบการปกครองว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อหลอกคนทั่วไปว่าประชาธิปไตยยังมีอยู่ แต่แท้จริงมันได้หายไปเสียนานแล้ว คิดไปคิดมาสิ่งนี้คล้ายมายาคติ ที่มีโรล็องด์ บาร์ตส์ เป็นเจ้าของทฤษฎีนั่นเอง ประชาธิปไตยในประเทศไทย ก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องผีที่ถูกหยิบยกมาหลอกหลอนคนไทยแบบมาๆ หายๆ ปรากฏตัวได้แบบเลือนๆ ลางๆ เหมือนเคยเป็นคนที่มีรูปร่างมาก่อน

มาต่อกันที่คำถามที่ว่า เหตุใดคนรุ่นใหม่จึงออกมาขับเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยกันอย่างมากมาย บ้างว่าทำไปตามกระแสสังคมของแวดวงเพื่อนฝูง บ้างว่าทำเพราะความคึกคะนอง บ้างว่าเป็นพวกเด็กก้าวร้าว แต่หากใครลองพินิจสักนิดจะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “คนทุกคน” และเรามีสิทธิที่จะตั้งคำถามหรือแสดงออก ตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวว่าเป็น สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, 2561)

ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เชื้อไวรัสโควิด–19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ความระส่ำระส่ายก็ถาโถมเข้ามาในบ้านเมืองไทยด้วยเช่นกัน สภาพเศรษฐกิจและสังคมล้วนตกต่ำย่ำแย่ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาคนตกงาน เด็กนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างสาหัสสากรรจ์

ความจริงแล้วก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งนี้ ประเทศไทยได้พบเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาก่อนด้วยแล้ว พ่อค้าแม่ขายต้องปิดกิจการไปเป็นทิวแถว ยิ่งเจอกับมรสุมสงครามโรคระบาดมาซ้ำเติมด้วยแล้ว ประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและรายได้หลักในด้านของการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการต่างๆ ก็พลอยได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวอย่าว่าแต่ร้านอาหารหรือภัตตาคารหรูๆ จะอยู่ไม่ได้เลย แม้แต่แม่ค้าพ่อค้าร้านแกงถุงราคาถูกก็ค้าขายได้ยากเย็นแสนเข็ญ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่มีการเช่าห้องพักโรงแรม หลายโรงแรมต้องปิดตัวไปก่อนวิกฤตโควิด-19 เสียอีก

เหตุการณ์เช่นนี้นี่เองที่ทำให้บรรดานักเรียน นิสิตและนักศึกษาออกมาตั้งคำถามเพื่อเรียกร้องอนาคตของตนเองและลูกหลาน เมื่อคิดว่าในปัจจุบันยังเกิดวิกฤตได้เท่านี้ แล้วต่อไปในอนาคตวันที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากจะเป็นอย่างไร หากตนไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงในวันนี้ โดยยังนิ่งเฉยกับปัญหาได้ต่อไปแบบทองไม่รู้ร้อน ไม่ช้าไม่นานคนที่ต้องกลืนน้ำตาตัวเองอาจเป็นพวกเขา ที่สำคัญพวกเขาต้องมานั่งขอโทษลูกหลานตัวเองที่ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสแก้ไขได้ แต่กลับไม่คิดที่จะลงมือทำอะไร

ชีวิตหลายชีวิตต้องโรยรากันไป หลายคนที่เจอมรสุมปัญหาในช่วงนี้เมื่อหนักมากเข้าก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในวิกฤตเช่นนี้มีหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่ควรช่วยประชาชนในยามภาวะสงครามโรคระบาดเช่นนี้มากที่สุด ฝ่ายหมอและพยาบาล หรือผู้ถืออำนาจรัฐ หรือผู้คนควรต้องจำใจปล่อยไปตามเวรตามกรรม

แต่การตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ก็มีผู้ใหญ่บางคนให้ความเห็นว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของพวกเขา เมื่อมีหน้าที่เรียนหนังสือหนังหาก็ควรตั้งหน้าตั้งตาก็เรียนไป ผู้ใหญ่จำนวนมากอาจจะที่คิดและพูดเช่นนี้ ซึ่งนั่นก็อาจจะต้องให้ผู้ใหญ่กลับไปทบทวนตนเองเสียใหม่เหมือนกัน ผู้ใหญ่เองหรือเปล่าที่พูดผิดและควรเปลี่ยนใจมาตั้งคำถามใหม่ว่า 

“ฤๅการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน”

นอกจากนี้แล้วมีสิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนนั้นควรตั้งคำถามกลับด้วยคือ 

“แล้วผู้ใหญ่เองทนอยู่มาได้อย่างไรตลอดการใช้ชีวิตที่ดำเนินมา”

ต้องยอมรับว่าในอดีตการตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาลเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมองว่าทำได้ยาก ถือเป็นเรื่องไกลตัว เพราะคิดว่าเรื่องการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนคนรากหญ้า แต่เป็นเรื่องของคนใหญ่ๆ โตๆ ในบ้านเมืองที่จะได้เข้าไปรับผิดชอบดูแลและจัดการ ส่วนคนเล็กๆ มีหน้าที่ทำมาหากินและทำตามนโยบายต่างๆ ที่รัฐจะจัดหามาให้ แต่ในปัจจุบันด้วยสังคมที่แปรเปลี่ยนไป เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้า รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว เหล่านี้ได้ทำให้ประชาชนสามารถเห็นการทำงานของรัฐบาลได้อย่างประจักษ์ชัด ส่งผลให้ผู้คนหลายกลุ่มก้อนกล้าที่จะเริ่มตั้งคำถาม นอกจากกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบชัดเจนแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นประเทศของพวกเขาพัฒนาไปข้างหน้าก็ไม่ละเลยการทำหน้าที่นี้เช่นกัน

พลังของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า การส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ดี เพราะหมุดหมายและพลังของหนุ่มสาวนี้เองที่จะก่อให้เกิด ‘สังคมพลวัต’ ซึ่งสังคมพลวัตที่ว่าไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทัศนคติและการยอมรับความหลากหลายของผู้คนมากยิ่งขึ้น

ผู้ใหญ่บางคนในสังคมมองว่าผู้ที่ที่อายุยังน้อย หรือเด็กๆ ไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่มากพอจะมีเหตุผลหรือเข้าใจการเมืองได้อย่างไร เข้าทำนอง ‘เด็กไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม’ หรือ ‘หนูๆ จะไปรู้ดีกว่าป้าที่อาบน้ำร้อนมาก่อนได้อย่างไร’ หลายท่านมองว่าพวกเขารวมกลุ่มกันเพราะตามเพื่อนฝูงไปเสียมากกว่า และมองไปถึงขั้นที่ว่าคนเหล่านี้เป็น ‘เด็กก้าวร้าว’ เพียงเพราะคิดไม่เหมือนตน 

แต่แท้จริงแล้วการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่คนไทยเพิ่งกระทำ เพราะความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุข การดูแลประชาชน นโยบายทางการศึกษา ล้วนเกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่า ‘การเมืองเกี่ยวข้องกับทุกผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย’

หากลองพิจารณาตรึกตรองกันดีๆ สังคมที่มีคนรุ่นใหม่มีความคิด ทั้งความคิดที่สร้างสรรค์ กล้าแสดงออก แน่นอนว่าในอนาคตประเทศไทยจะต้องก้าวหน้า แต่ถ้าหากวันนี้เราปิดกั้นความคิดของคนรุ่นใหม่ ประเทศไทยจะต้องพัฒนาไปแบบที่เรียกกันว่า ‘เต่าคลาน’ คือพัฒนาแบบช้าๆ หรือซ้ำร้ายอาจจะพัฒนาแบบ ‘ถอยหลังลงคลอง’

ฉะนั้นแล้วการเปิดโอกาสรับฟังคนรุ่นใหม่บ้าง จึงไม่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเสียหายหรือเสียเวลาแม้แต่น้อย หากเราให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกทางความคิดและร่วมกันพัฒนาประเทศ ท้ายสุดแล้วเรามาดูกันว่าประเทศที่คนรุ่นใหม่คอยขับเคลื่อนจะเป็น ‘ประชาธิปไตยที่เต็มใบ’ ได้หรือไม่

หรือว่าจะกลับไปเป็น ‘มายาประชาธิปไตย’ ในรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ ในประเทศไทยกันแน่