“เปิดกรณีอุ้มหายในไทย เมื่อคนต่อไปอาจเป็นคุณ"

4 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้จัดวงพูดคุยในคลับเฮาส์เนื่องในวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances)  โดยมีวิทยากรจากหลากหลายแนวทางการเคลื่อนไหว มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “เปิดกรณีอุ้มหายในไทย เมื่อคนต่อไปอาจเป็นคุณ” ผ่านประเด็นที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์ไทย ที่หลายชีวิตถูกซ่อนไว้และถูกบังคับให้หายไปในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เกิดขึ้นในปี 2535 ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่เราได้ชวนทุกคนให้นำมาพูดถึงอีกครั้งในการถูกบังคับให้สูญหาย

 

ในวงคุยนี้ วิทยากรพาพวกเราย้อนรอยประวัติศาสตร์ไทยที่น่าสนใจ คืออังคณา นีละไพจิตร  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากการถูกบังคับให้สูญหายในช่วงปี 2547 รศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย University of Wisconsin-Madison อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

อังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากการถูกบังคับให้สูญหายและผู้ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน

อังคณา นีละไพจิต อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากการถูกบังคับให้สูญหายในช่วงปี 257  ได้ให้ข้อมูลของการนิยามการถูกบังคับให้สูญหาย ว่า 

“การบังคับบุคคลให้สูญหายตามนิยามของสหประชาชาติ จะต้องเป็นการทำให้บุคคลนั้นสูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ การรู้เห็นเป็นใจ หรือการสั่งการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นการกำจัดศัตรูหรือคนที่เห็นต่าง ซึ่งจะเกิดในภาวะสงครามหรือเหตุการณ์จลาจลทางการเมือง เป็นต้น

ที่ผ่านมา มักจะไม่สามารถติดตามหาตัวผู้สูญหายและคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัว ดังนั้นจึงทำให้มีอนุสัญญาเพื่อยุติการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ในส่วนประเทศไทยเรื่องการถูกบังคับให้สูญหายได้ถูกบันทึกไว้ ผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ถูกบังคับให้ลืมดังนี้

-        ก่อนปี 2490

เตียง ศิริขันธ์ และพร มะลิทอง ส.ส.สมุทรสาคร ถูกบังคับให้สูญหายไปหลังจากนั้นไม่มีใครรู้ชะตากรรม เมื่อเวลาผ่านไป.. ก็ได้พบร่างอันไร้วิญญาณ

-        2490-2500

การปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยช่วงนั้นมีการเสียชีวิตและสูญหายของบุคคลจำนวนมากที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

-        ประมาณปี 2510

เกิดเหตุการณ์ถังแดงที่เกิดขึ้นที่พัทลุงซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ซึ่งตอนนั้นมีการประมาณการกันว่ามีคนหายถึง 2,000-3,000 คน จึงก่อให้เกิดเป็นคำพูดที่ติดปากคนไทยกันว่า “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง”

-        2534

ทนง โพธ์อ่าน ถูกบังคับให้สูญหายไปในยุค รสช. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมองค์การแรงงานโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเคยประกาศว่าจะนำเรื่องราวความไม่ยุติธรรมไปฟ้องโลก

-        2535

เป็นกรณีเหตุการพฤษภา 35 หรือ พฤษภาทมิฬ ซึ่งกลุ่มคนที่ถูกบังคับให้สูญหายก็หายจากเหตุการจลาจลกลางเมืองหลวงซึ่งเกิดจากการใช้ความรุนแรงแรงโดยภาครัฐ

-        2545

เป็นต้นมาเป็นเหตุการณ์สงครามยาเสพติดถือเป็นช่วงการปราบปรามการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งในช่วงนี้เอง ทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็เป็นเหยื่อของการถูกบังคับให้สูญหายไปด้วยเช่นกัน

-        2557

กรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกบังคับให้สูญหายต่อมาภายหลังช่วงปี 2562 มีการพบชิ้นส่วนกระดูกโดยคาดว่าน่าจะเป็นของบิลลี่แต่ถึงกระนั้นความยุติธรรมก็ยังไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวบิลลี่   

-        ช่วงปี 2560

กรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนไทยซึ่งเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ลี้ภัยไปในประเทศเพื่อนบ้าน ถูกบังคับสูญหายไปนับ 10 คน 

อังคณา นิละไพจิตร กล่าวปิดท้ายว่า “การบังคับให้สูญหายไม่ได้หมายถึงการอุ้มหายไปอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงการจับตัวใครไปสักคนและทำให้เขาไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้ หรือการถูกควบคุมตัวในคุกลับหรือห้องลับ ถึงแม้จะเป็นเวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงหรือแค่ 1 วัน ก็ถือว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย

การบังคับสูญหายจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อเราทราบที่อยู่และชะตากรรมเช่นเขาถูกปล่อยตัวมา เพราะฉะนั้นเรื่องการควบคุมตัวตามอำเภอใจหรือเรื่องของคุกลับสิ่งเหล่านี้ก็จะอยู่ในนิยามของการบังคับให้สูญหายทั้งหมด”

 

ประวัติศาสตร์และความขัดแย้งทางการเมือง สู่การสูญเสียที่เหลือเพียงไว้แค่อนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงวีรชน

รศ.ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย University of Wisconsin-Madison ได้เล่าย้อนถึงช่วงปี 2510 กรณีถังแดงที่จังหวัดพัทลุง “เมื่อพูดถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย ก็ต้องนึกไปในช่วงที่อ่านข้อมูลเพื่อทำวิจัยอยู่ ที่พบเจอว่าในช่วงก่อน 14 ตุลา ปี 2516 มีชาวบ้าน 2,000 – 3,000 คน ถูกจับในช่วงที่มีกฎหมายพิเศษ พวกเขาถูก กอ.รมน. จับโดยไม่ต้องอิงหลักฐานหรือหาเหตุผล และนำไปสู่การทรมาน โดยคนส่วนมากถูกฆาตกรรมด้วยการเผาลงในถังแดง”

หลัง 14 ตุลา และก่อน 6 ตุลา นักศึกษาก็เริ่มมีความสนใจและตามไปเก็บข้อมูลในปี 2518 เพื่อส่งเรื่องให้นักข่าวและนำเสนอข่าวต่อสาธารณะชน จนกระทั่งกระทรวงมหาดไทยต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนนำมาเขียนเป็นรายงาน

ทว่ารายงานนั้นกลับไม่ได้เผยแพร่ความจริงทุกด้านหรือบางเหตุการณ์ก็ไม่มีการเผยแพร่เลย   ซึ่งชี้ให้เห็นได้ชัดว่าในสมัยนั้น ไม่มีรายงานที่กล่าวถึงการใช้ความรุนของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน อาจารย์ไทเรลกล่าว

อาจารย์ไทเรลเล่าต่อว่า ทหารคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทใหญ่ทางการเมืองในสมัยนั้นได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำที่ทหารตำรวจชอบเขียนเพื่อทำการบันทึกในตอนนั้น ว่า

“จำนวนคนที่สูญเสียที่ถูกบันทึกไว้ในกรณีถังแดง ไม่ได้มีจำนวนมากถึง 3,000 คน อย่างที่หลาย ๆ คนคิด.. แต่ตัวเลขนั้นกลับมีแค่ 1 คนเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา คือมีทหารเข้าไปสอบสวนชาวบ้านที่มีส่วนต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ในขณะสอบสวน ก็มีชาวบ้านคนหนึ่งที่บังเอิญเสียชีวิต เพื่อไม่ให้ชาวบ้านคนอื่นตกใจก็เลยนำศพไปเผา”

สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การตั้งคำถามว่าการใช้ความรุนแรงแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อรัฐอย่างไร เพราะท้ายที่สุดมันคือการฆ่ามนุษย์คนนึงและในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีการที่ทำให้เกิดความกลัวเพื่อเป็นการขู่ประชาชน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือระบอบการลอยนวลพ้นผิด

“เขามักจะใช้คำว่าระบอบมากกว่าวัฒนธรรม เพราะคำว่าวัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นระบอบการลอยนวลพ้นผิดนี้ มันหมายถึงเขาไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

เช่นเดียวกันกับในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 ชะตาชีวิตของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในเหตุการณ์กรณีถังแดง ยังคงไม่ชัดเจนและถูกบีบบังคับให้ลืม

การใช้ความรุนแรงโดยรัฐยังคงเป็นสิ่งที่รัฐยังกระทำอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์นี้ยังคงส่งผลให้คนในครอบครัว ยังต้องทนทุกทรมานอยู่จนถึงทุกวันนี้”

 

พฤษภา 35: การสูญเสียและสูญหายอย่างไร้ร่องรอย 

เกือบสามสิบปีที่อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ในอายุ 78 ปี มุ่งเรียกร้องความยุติธรรมให้กลุ่มวีรชนที่สูญเสียไปจากเหตุการณ์พฤษภา 35 โดยหนึ่งในนั้น คือลูกชายของเขาเอง

“ปีหน้าจะครบ 30 ปี พฤษภา  ผมอยู่ในส่วนที่ต้องสูญเสียลูกชาย.. ลูกของผมถูกยิงตายในเหตุการณ์  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีหลายฝ่ายถูกกระทำอย่างไร้การรับผิดชอบ พวกเขากำลังถูกรัฐบาลพยายามทำให้ตัวเลขของผู้ถูกกระทำดูน้อยที่สุด

“กระทรวงมหาดไทยได้ระบุจำนวนคนที่ถูกบังคับให้สูญหายไว้ที่ 58 คนพร้อมขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า จะไม่ยอมให้จำนวนมันมากไปกว่านี้ ทั้งที่จำนวนคนหายจริงๆ ที่เราไปร้องเรียนองค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีถึง 634 คน  แต่ไม่มีใครยอมรับจนถึงป่านนี้คนเป็นญาติก็ไม่รู้จะเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม”

“ญาติไม่กล้าทำเรื่องเรียกร้องต่อรัฐบาล ต่อการถูกบังคับให้สูญหายในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 เพราะเขาต้องเจอกับอำนาจรัฐที่เข้ามาข่มขู่คุกคาม หลังออกไปเรียกร้องความยุติธรรม”

“แม้ภายหลังทหารจะถูกปลดอออกไป แต่ประเทศไทยก็ยังคงถูกควบคุมโดยทหารอยู่ดี” อดุลย์กล่าว ก่อนเริ่มต้นเล่าต่อ “หลังจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาได้ผ่านไป ส.ส. ก็ไม่ได้กล้าหาญที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ในยุคนั้นเกิดการพยายามประนีประนอมเพราะไม่อยากทะเลาะกับทหาร

“แต่เราก็ต้องต่อสู้ทุกทาง จนต่างประเทศและสังคมให้การยอมรับ จนทหารต้องเกรงใจในสิ่งที่เราออกมาพูดและเรียกร้อง เราแค่สู้เพื่อให้รัฐต้องชดเชยต่อเหตุการณ์นี้ และขอประกาศให้ทราบเลยว่า ที่ผ่านมา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่เคยได้รับการชดเชย

สามข้อเรียกร้องที่คุณอดุลย์และกลุ่มวีรชน ต้องการให้รัฐชดเชยและเยียวยา

 1. ต้องยอมรับว่าสิ่งที่รัฐทำในเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นสิ่งที่ผิดและเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

2. ต้องมีการสร้างอนุเสาวรีย์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าสังคมห้ามใช้ความรุนแรงและเป็นสัญลักษณ์เพื่อมิให้ทหารออกมาปราบปรามประชาชนดังเช่นกรณี ปี 2535 และปี 2553

 3. เรียกร้องให้มีการเยียวยาชดใช้ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐยอมรับว่ากระทำการเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์พฤษภา 35 พร้อมทั้งต้องอยู่ในเวลาที่เหมาะสมที่มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ที่มาจากการสืบทอดอำนาจ  

 “ผมไม่เคยลืมตอนที่เราได้เรียกร้องเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ที่ผ่านมา พวกเราไม่มีความรู้ทางด้านนี้เพราะเราเป็นแค่ประชาชนธรรมดาที่ทำมาหากิน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น.. ผมไม่เคยลืมเลยว่าองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาช่วยพวกเรา และพาเราไปเรียกร้องตลอดเวลาที่เราต้องต่อสู้กับความบิดเบี้ยวของระบบยุติธรรมและความบิดเบี้ยวทางการเมือง” เขากล่าวเสริม

“ปีหน้าจะครบรอบ  30 ปี เราจะทำให้เหตุการณ์พฤษภา 35 หรือพฤษภาทมิฬเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้จักและระลึกอยู่เสมอว่าสังคมต้องไม่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน”

.

คนก็หายกฎหมายก็ไม่มี: กฎหมายเพื่อยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายอยู่ที่ไหนในสภา?

 “แม้จะมีความพยายามจะผลักดันกฎหมายกันอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง แต่ก็มีการแซวแบบเจ็บปวดว่าเป็น พ.ร.บ. ที่ถูกอุ้มหายไปด้วยเพราะตอนนี้ก็ไม่รู้เลยว่าหายไปไหน  พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... 

พรรณิการ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนมากและพยายามผลักดันร่างกฎหมายการปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้สอดคล้องตามหลักสากลให้มากที่สุด โดยตัวร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ค้างมาตั้งแต่ยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)  ตัวร่างที่ร่างกันมาเป็นร่างที่ถูกแก้จนแทบจะไม่สามารถช่วยปกป้องการอุ้มหายได้ แม้จะมีการผลักดันร่างฯ ปราบปรามการอุ้มหายและทรมานก่อนยุค คสช.เสียอีก 

ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ได้ถูกส่งเข้าสภามาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน 21 วัน (30 สิงหาคม 2564) โดยผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการการกฎหมายยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน(กมธ.)  ซึ่งเป็นร่างที่ผลักดันผ่านความร่วมมือและร่วมใจของภาคประชาชนมีมติเห็นชอบและส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระเห็นชอบของสภาราษฎร ไปตั้งแต่ 8 กรกฎาคม 2563  แต่กลับไม่มีคำตอบใด ๆ มากไปกว่าคำว่า “ต่อคิวแล้วรอไปก่อน”

“จึงเป็นที่มาที่เราพูดกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกอุ้มหายไปแล้วเหมือนกัน” 

พรรณิการ์ กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันพ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า “ประชาชนมีสามารถส่วนร่วมได้ตามกระบวนการ เช่น เมื่อตัวร่างกฎหมายจะผ่านการรับฟังของสภา เราสามารถรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้”

พร้อมเสนอความคิดเห็นว่า  ในระหว่างการพิจารณากฎหมาย การทำแคมเปญจากภาคประชาชนควบคู่กันไปก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยผลักดันพ.ร.บ.นี้ได้ เช่น การทำการรณรงค์กับสามกรณีใหญ่ โดยใช้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการขับเคลื่อนประเด็น เช่น

  • การบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ 
  • กรณีการทรมานของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ
  • กรณีคลิปหลักฐานการทรมานโดยผู้กำกับโจ้

 

เสียงจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

จากที่ผ่านมา ไม่เคยมีกฎหมายออกมาปกป้องคุ้มครองการถูกบังคับให้สูญหาย จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แอมเนสตี้ จึงมุ่งหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... มาโดยตลอด

โดยเรียกร้องให้นำตัวคนผิดมารับผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย หรือต้องมีการรับผิดชอบโดยภาครัฐ อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐทำตามคำมั่นสัญญาต่อเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นการรับปากว่าจะกลับมาทบทวนแก้ไขตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review)  รวมทั้งการให้คำมั่นสัญญาและข้อผูกพันของตัวกฎหมายระหว่างประเทศ

ปิยนุช โครตสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า กระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review)  หรือ UPR นั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะหลังจากที่เราอยู่ในห้วงเวลาของการลอยนวลพ้นผิดในการกระทำของรัฐมายาวนาน

“มันนำมาสู่คำถามว่า เราจะไปหวังอะไรได้.. กับรัฐที่ไม่ทำตามสัญญา ถึงแม้จะบอกว่าจะขอเวลาอีกไม่นาน เราจึงต้องหันมาใช้กลไกระหว่างประเทศเพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่เป็นกระบวนการทบทวนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน”

กระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review)   หรือ UPR เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีรัฐมาร่วมมือกันทุกประเทศซึ่งมันจะมีเป็นรอบๆ และประเทศที่เป็นสมาชิกทั้ง 193 ประเทศก็ต้องทำรายงานส่งและจะมีการทบทวน โดยรอบนี้จะมีการทบทวนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 โดยคนที่มีสิทธิส่งรายงาน คือ รัฐบาล ยูเอ็น และภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นการรวบรวมเสียงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมกันส่งเสียงในสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน  

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยเปรียบการส่ง UPR เสมือนเป็นการส่งการบ้าน “พอถึงสถานการณ์ในขณะนั้นมันเปรียบเสมือนเราส่งการบ้านโดยการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ก็จะมีเพื่อนๆ และมีครูใหญ่คอยซักถามและให้ข้อแนะนำว่าเรายังทำในประเด็นนี้ไม่ดี ต้องไปแก้ไข และเราก็จะต้องรับและไปแก้ไข แต่ว่ามันก็ไม่มีการคาดโทษหรือลงโทษว่าถ้าคุณไม่ทำจะเป็นอย่างไร แต่ว่ามันจะมีกระบวนการอื่นมาตัดสินว่าถ้าคุณไม่ทำจะโดนอะไร ถ้าให้นึกภาพถ้าเราไม่แก้ไขสถานการณ์ที่มันยังละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะทำให้คนมองว่าใครอยากจะมาทำสังฆกรรมกับรัฐบาลที่ตบัตรสัตย์”

หลังจากที่เรามีการทบทวนในรอบที่ 2 เมื่อปี 2559 เราก็ยอมรับข้อเสนอต่าง ๆ ตั้งหลายข้อจาก 249 ข้อ เรารับมา 187 ข้อเสนอแต่เท่าที่ดูก็ยังคงมีปัญหาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอยู่ รวมทั้งยังคงมีปัญหาต่อประเด็นการทรมานและการถูกบังคับให้บุคคลสูญหายด้วย ก่อนหน้านี้ก็มีการให้คำมั่นสัญญาว่าประเทศไทยจะดำเนินการเพื่อรองรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย

ปิยนุชเล่าเสริมว่า “เพราะว่าประเทศไทยลงนามไปเมื่อปี 2555 จึงต้องออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น  แต่ในปัจจุบันก็ยังคงเกิดเรื่องการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายอยู่”

“แม้จะไม่มีกฎหมายเพื่อปราบปรามการบังคับให้บุคคลสูญหาย และที่ผ่านมารัฐได้ผิดสัญญาต่อประชาคมโลกในประเด็นดังกล่าวไปแล้ว แต่คุณอย่าลืมว่ามวลชนในยุคปัจจุบันนี้มีโซเชียลมีเดียเพื่อทำการตรวจสอบ สอบสวน และจับตารัฐบาลอยู่ ดังเช่นกรณีการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ประชาชนตื่นตัวและจับตารัฐบาลจนส่งผลให้เกิดการเรียกร้องความยุติธรรมให้กรณีอื่น ๆ ที่ถูกอุ้มหายด้วยเช่นกัน”

 

ด้านอังคณา นีละไพจิตร  ได้กล่าวทิ้งท้ายและตอบคำถามกับผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ว่า การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายจากเหตุการณ์ทางการเมืองย้อนหลัง ยังสามารถทำได้เพียงแต่ต้องมีการเก็บข้อมูล พร้อมย้ำว่า “สิ่งสำคัญคือการรักษาความทรงจำของคนหาย มันจะทำให้พวกเขาไม่ถูกลืม และจะทำให้เขาถูกกล่าวถึง.. ความทรงจำของคนที่ ‘ไม่ลืม’ เหล่านั้นจะทำให้คนรุ่นหลังทวงถามความยุติธรรมให้พวกเขาได้”