INTO THE NEW WORLD: สู่โลกใบใหม่ ไปกับพลังของศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหว

24 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ชอบใช้โซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม ในทุก ๆ ช่วงที่เกิดการชุมนุม หรือเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน คุณคงจะเคยเห็นภาพอินโฟกราฟิกสุดจี๊ด ที่ถูกแชร์ไปทั่วสตอรี่ของชาวโซเชียล วันนี้เราจึงขอมาชวนคุยกับทีมงานของแอคเคาท์ YDFD ผู้เสกชีวิตให้อินโฟกราฟิกสีจี๊ด กับข้อมูลเรียลไทม์อัพเดตที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ข่าวการชุมนุม แต่ยังรวมไปถึงการอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ และส่งต่อประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกซ่อนไว้ ให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย 

 

และที่สำคัญ พวกเขาและเธอคือผู้จุดประกายม็อบออนไลน์ ที่มีผู้เข้าร่วมในการส่งต่อข้อความถึงรัฐบาลถึง 2 ล้านข้อความในทวิตเตอร์! 

 

“พระเจ้าช่วย นี่ทำมาปีนึงแล้วหรอ” นี่คือคำพูดจาก “เนย” หนึ่งในทีมงาน YDFD หรือกลุ่มนักเรียนออกแบบเพื่อประชาธิปไตย เมื่อเราเริ่มต้นเกริ่นถาม ว่าอะไรกันถึงทำให้ทีม YDFD ร่วมเสกอินโฟกราฟิกเพื่อการเคลื่อนไหวมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ด้วยรูปในอินสตาแกรมกว่าสองร้อยรูป 

 

น้ำเสียงของเธอดูตกใจ ก่อนจะเริ่มเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่ม YDFD 

 

ย้อนกลับไปหนึ่งปีที่แล้ว 

 

รวมพลัง นักเรียนออกแบบ!

 

“YDFD หรือยังดี เป็นพื้นที่ที่นักศึกษา นักเรียนมารวมตัวกัน ช่วยกันเขียนอินโฟกราฟิกหรืองานด้านสื่อต่าง ๆ ออกมาเฉพาะกิจ เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว พวกเรามีความตั้งใจว่าเราอยากช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคนที่ทำงานตามสำนักข่าว หรือองค์กรเคลื่อนไหวที่ขาดกราฟิกดีไซน์เนอร์ หรือนักออกแบบสื่อต่าง ๆ (Graphic Designer) 

“เราเริ่มตัวกันก็เพราะช่วงหนึ่งที่ในทวิตเตอร์ มีแฮชแท็ก #RespectThaiDemocracy (เคารพประชาธิปไตยของประเทศไทย) เราเห็นคนทำรูปเพื่อส่งต่อความตระหนักรู้ในการเคลื่อนไหวเยอะมาก ๆ ประกอบกับช่วงนั้นเราทำงานเบื้องหลังกลุ่มเคลื่อนไหว และเห็นว่าคนทำงานกราฟิกค่อนข้างน้อยมาก ต้องตามหาตัวกันให้ควั่ก เราเลยตั้งคำถามว่า ถ้าเราสามารถรวมคนมาอยู่ด้วยกันได้มันก็น่าจะต่อยอดได้อีก

“จากนั้นมาก็เลยค่อยๆ คุยกับเพื่อนๆ ว่าถ้าเราจะทำภาคีของนักเรียนออกแบบจะดีมั้ย ให้มาช่วยกันทำภาพกราฟิก วิดีโอ เขียนบทความด้วยกัน และใช้ในพื้นที่ของเราที่พวกเราจะไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อให้มันกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเราทุกคน” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มกันของเหล่านักศึกษาวิชาออกแบบ เขาและเธอกล่าวเพิ่มว่า พวกเขาต้องการให้ภาพกราฟิกเหล่านี้สามารถสื่อสารกับผู้คนได้อย่างเข้าใจง่ายที่สุด รวมถึงมีความรวดเร็ว ฉับไว ให้คนสามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างทันท่วงที ท่ามกลางบรรยากาศที่สื่อกระแสหลักน้อยชิ้นจะสามารถรายงานข่าวความเป็นไปของสังคมเมื่อสื่อมวลชนกำลังถูกคุกคามด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น 

“เราต้องการให้ภาพกราฟิกสามารถสื่อสารกับผู้คนได้อย่างเข้าใจง่ายที่สุด รวดเร็ว ฉับไว้ พร้อมกับให้คนสามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างทันท่วงที และเราตั้งใจออกแบบให้มันมีความเป็นวัยรุ่นที่ก๋ากั่น แต่ก็ยังคงความจริงจังเอาไว้ได้”

 

เราขอให้เนยช่วยเล่าเรื่องที่ประหลาดใจที่สุดตั้งแต่ทำกลุ่ม YDFD มา เธอตอบเราว่า “เราเคยโดน IO ก๊อบ!” ก่อนเล่าต่อ (IO นั้นย่อมาจาก “Information Operation” หรือที่แปลว่า “ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร”)

 

“ตอนแรกไม่เคยรู้เลยว่าฝั่งทหาร ตำรวจเขาจะรับรู้การมีอยู่ของเราด้วย จนกระทั่งได้เห็นว่าเลื่อนๆ แท็กในทวิตเตอร์แล้วเจอภาพกราฟิกที่ เหมือนของเราเลย! แต่ว่ามันไม่ใช่ของเรา! มันคืออะไรก็ไม่รู้ แต่เป็นการใช้ภาพมาโจมตีฝั่งผู้ชุมนุม พอเห็นอย่างนั้นเลยรู้สึกว่าเอาแล้ว.. นี่เราอยู่ในสายตาของพวกเขาแล้วรึเปล่าเนี่ย เราก็เลยลองดูว่าใครฟอลโลว์ (กดติดตาม) เราบ้าง ปรากฏเราก็เจอไอโอมากดติดตามเยอะเหมือนกัน”

 

อาจจะด้วยเพราะแอคเคาท์ของ “ยังดี” เป็นแอคเคาท์ที่เป็นที่นิยมในทั้งหมู่วัยรุ่นและเซเลบริตี้ จากความไวของเนื้อหา ที่ทีมงานร่วมแรงร่วมใจกันตรวจสอบข้อมูล (fact check) ไม่ยากเลยที่ทาง “ไอโอ” จะมองเห็นว่ามันกลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ช่วงการเคลื่อนไหว เลยทำให้อยากหยิบมาใช้กันสักหน่อยก็เป็นได้.. เผื่อจะเนียน

 

เนยได้เผยให้เราฟังว่า เนื้อหาข่าวที่ผู้ติดตามมักจะแชร์ ส่วนใหญ่คือข่าวปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมและพรากสิทธิประกันตัวไปช่วงหนึ่ง ข่าวการอดอาหารของแกนนำ ข่าวอพยพด่วนในเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ #โรงงานกิ่งแก้ว รวมไปถึงอินโฟกราฟิกชุด ขณะที่ไฟไหม้ นายกทำอะไรอยู่ ที่มีคนแชร์ถึงเก้าหมื่นครั้ง

 

“มันดูเป็นงานที่ต้องลงแรงมากเลยนะ แล้วทางทีมก็ทำมาหนึ่งปีแล้ว อะไรที่ทำให้เรายังทำงานนี้อยู่โดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย” เราถามเนย 

“มันก็น่าตกใจเหมือนกันที่ทำมาปีนึงแล้ว.. แบบ.. พระเจ้าช่วย” เธออุทานพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนเล่าต่อ

“เรารู้สึกว่าคนต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่และเตรียมความพร้อมไปชุมนุม ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เออ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำขึ้นมา ตอนที่เราทำเรื่องโรงงานระเบิด เราก็รู้สึกแล้วว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันสำคัญมากๆ ถึงเราจะไม่ใช่สื่อที่ออกตัวว่าเป็นสื่อนะ แต่ ณ จุดนั้นตอนตื่นมาแปดโมงเช้า เราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่พยายามเช็คว่าเพื่อนอยู่ตรงนั้นมั้ย ต้องทำตัวยังไงบ้าง พยายามเลื่อนหาข้อมูล แล้วพบว่ามันไม่มีอินโฟออกมาเลยในตอนนั้น สำนักข่าวก็เงียบ เราปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้จริง ๆ 

“ที่ผ่านมาเราพยายามอ่านคอนเทนต์จากองค์กรอื่น ๆ แล้วพบว่าบางทีคนไม่ได้อยากจะอ่านหนังสือยาว ๆ ก็เลยพยายามผลักเรื่องที่เข้าใจยากมาให้เข้าใจง่ายมากขึ้น และอยากทำในเรื่องที่ไม่เห็นว่ามีคนทำมาก่อน..

“ในโลกออฟไลน์ก็มีคนเซฟรูปจากยังดีไปแปะเพื่อชุมนุมจริงๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ เลย มีทั้งคนที่ขอใช้อินโฟไปทำเป็นแผ่นพับแจกในม็อบ ช่วงเดบิวต์ (เปิดตัว) แรกๆ เราก็ทำกราฟิกขนาดเอสาม แจกให้คนในม็อบตอนไปสนามหลวง ไปฝาก iLaw ให้คนหยิบไป ทำเอาไว้ประมาณสี่พันแผ่น ก็คือคนหยิบไปหมดเลย

 

ความเปลี่ยนแปลงในโลกออนไลน์ เพื่อก้าวไปสู่โลกใบใหม่

 

“ตอนแรกเราเห็นคนในโซเชียลไม่ได้พูดถึงการเมืองเป็นวงกว้าง ไม่มีแฮชแท็กการเมืองติดแท็กเรียงเกินห้าแท็กบนทวิตเตอร์ แต่เมื่อปีที่แล้ว มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนที่ทุกคนช่วยกันระดมพูดถึง และแพลตฟอร์มตัวเองในโลกโซเชียล มาพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้กับเพื่อน ๆ ในวงโคจรของตัวเอง 

 

กลายเมืองกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับคนหลาย ๆ คนมาก มีคนบางคนที่อาจรู้เรื่องพวกนี้แค่ผิวเผินตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่พอมีคนออกมาพูดบนโซเชียล ทำอินโฟกราฟิกออกมาอธิบาย แปะลิ้งบทความให้อ่าน ก็กลายเป็นว่าเขาเข้าใจประเด็นเหล่านี้ลึกขึ้นเยอะขึ้น ทำให้โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลและเป็นเครื่องมือทรงพลังอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหว..

 

“จากการด่าเพื่อเคลื่อนไหว มันทำให้นักข่าวรัฐสภาเอาไปถามเจ้าตัวจริง ๆ  ในทุกๆ ครั้ง ที่มีแท็กการเมืองขึ้นเทรนด์บนทวิตเตอร์ นักข่าวก็จะเอาไปถามนักการเมืองถึงประเด็นนั้นว่าคิดเห็นอย่างไรบ้าง..

“แต่ผลที่รัฐตอบกลับมา ก็คือไม่รู้ๆ” เธอหัวเราะ แล้วกล่าวเสริม 

“มันเห็นได้เลยว่ารัฐมีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแสดงความเห็นทางออนไลน์เยอะขึ้น ตั้งแต่มีปรากฎการณ์การชุมนุม มีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือม. 112 ที่ไปจัดการคนที่แชร์คลิปเพลงเดียวจากเพจ หรือบางคนกดไลค์ก็โดนแล้ว ทำให้เห็นว่ารัฐเราเปราะบางแค่ไหน ทั้ง ๆ ที่บางคนไม่ได้มีเพื่อนในเฟซบุ๊คเยอะเลย เป็นแค่ใครไม่รู้ด้วยซ้ำในทวิตเตอร์ แต่กลับถูกข่มขู่จากรัฐ นั่นแปลว่ารัฐกลัวความเห็นของคนบนโลกออนไลน์” 

 

เนยบอกว่า เธออยากให้การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์และออฟไลน์สอดคล้องไปด้วยกัน โดยคนในโลกออนไลน์ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านข่าว พร้อมกับทำอะไรให้นึกถึงคนที่อยู่ในโลกออฟไลน์ด้วยเช่นกัน ว่าแต่ละสิ่งที่ทำจะเกิดผลอะไรกับพวกเขา 

 

“บางทีการที่เราไม่ได้อยู่ในแถวหน้าของคนที่เคลื่อนไหว เราก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าคนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นไม่มีทางรู้ความรู้สึกและแรงกดดันต่าง ๆ ที่เขาได้รับ บางทีในโลกออนไลน์เสียงวิจารณ์ดังมาก ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้นึกถึงว่าสถานการณ์เขาต้องเจออะไร เราอยากให้พวกเราร่วมกันถนอมความรู้สึกกันไว้บ้าง 

“สมมติเพื่อนเรากำลังโดนคดีร้ายแรง ต้องเข้าคุก แล้วเราเปิดโลกทวิตแล้วเจอเรื่องถูกขุดขึ้นมามากมาย สุขภาพจิตยิ่งแย่ลงไปอีก แต่ขณะเดียวกัน สำหรับนักกิจกรรมเอง ถ้าเราไม่เปิดโซเชียลมีเดีย เราก็จะไม่รู้ว่าเอาเสียงของผู้คนไปสะท้อนอย่างไรบ้าง แต่บางทีเปิดมาแล้วทำให้จิตใจของเราแย่ลงมากๆ ทั้งๆ ที่เราเจอแรงกดดันจากรัฐ”

 

เธอเชื่อว่าประชาชนและคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นกลุ่มก้อนพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะเอาชนะความเป็นเผด็จการได้ “ถ้าไม่ใช่ประชาชนแล้วจะเป็นใคร ถ้าประเทศนี้ประชาชนไม่ต้องการพวกคุณแล้ว พวกคุณไม่ใช่ห้าสิบเปอเซนต์ของประเทศนี้ด้วยซ้ำ แต่คุณกลับทำให้ทุกอย่างมันแย่ลงขนาดนี้ คำถามคือคุณเป็นใคร ทำไมถึงใหญ่กว่าประชาชน

 

“ตอนนี้มันเป็นจุดที่ว่า ทุกคนมีสิทธิมีเสียง ไม่ต้องตามกฎหมายหรอก เพราะเรามีอำนาจในคำพูดของแต่ละคนเองอยู่แล้ว และคำพูดเหล่านั้นสามารถสร้างอิทธิพลต่อคนอื่นได้ และเปลี่ยนแปลงคนได้ด้วยความคิดและคำพูดของตัวเอง เสียงของเรามันมีความหมายต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคม จากเรื่องเล็กๆ ก็สามารถเป็นเรื่องใหญ่ๆ ได้ และจะดังยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราพูดพร้อมๆ กัน คนที่ไม่เคยกล้ามาก่อน ก็จะกล้าที่จะออกมาพูดด้วย แล้วถ้าเรายังลังเลอยู่ว่าเราจะออกมาพูดเรื่องการเมืองดีมั้ย แล้วเราเห็นว่าเพื่อนของเราพูดหมดเลย มันก็ยิ่งเป็นแรงผลักให้คนที่ไม่กล้าได้กล้าที่จะพูดบ้าง 

“คำว่าประชาชนมีความสำคัญในความหมายอยู่แล้ว ประชาชนคือประชาชน ประชาชนคือคนจำนวนมาก ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว มันไม่ควรมีคำถามว่าประชาชนสำคัญแค่ไหนในการเปลี่ยนแปลงเลย”

 

ดังนั้นแล้ว เธอและกลุ่ม YDFD จึงเริ่มต้นลงมือทำ “ม็อบออนไลน์” และรวบรวมพลังคนรุ่นใหม่มาร่วมกันส่งต่อเสียงของตนเอง ให้ดังไปสู่รัฐบาล

 

“เราเห็นว่าตอนนี้ มันมีข้อจำกัดเรื่องโควิด ทำให้จำนวนคนหดหายไปในโลกออฟไลน์ เมื่อมันเปลี่ยนรูปแบบของม็อบมาเป็นออนไลน์ ก็ทำให้เห็นจำนวนคนที่ต้องการแสดงออกเพิ่มมาขึ้นแล้วชัดเจนยิ่งขึ้น จากที่แต่ละคนเมื่อไปม็อบออฟไลน์อาจไม่ได้มีกิจกรรมอะไรให้ทำมากเท่าไหร่ พอเป็นออนไลน์ก็ได้แสดงออกบนพื้นที่ของตัวเองจริงๆ ทำให้คนรอบข้างที่ติดตามกันอยู่บนโซเชียลได้เห็นแล้วก็ทำไปด้วยกัน

“แฮชแท็ก #ออกไปอีสัส ถือว่าได้รับผลตอบรับที่เหนือคาดมากๆ เราไม่คิดว่าจะมีคนเข้าร่วมจนทำให้มันติดเทรนด์โลกอันดับ 1 ได้ด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าทุกคนได้ออกมาแสดงความโกรธถึง 2.2 ล้านทวีต ยังไม่รวมโพสต์และยอดแชร์บนอินสตาแกรมที่มีศิลปิน นักวาดภาพประกอบ ออกมาช่วยกันทำภาพ #ออกไปอีสัส หลากหลายมากๆ จากที่นัดล่วงหน้าแค่ในเวลาคืนเดียวเท่านั้นเอง

“ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมากๆ จนทำให้ @prayutofficial ต้องปิดการเมนชั่นถึงและแท็กรูปภาพในไอจีไปเลย เราถือว่ามันเป็นการทำอารยะขัดขืนที่ส่งผลไปยันคนทำงานให้กับรัฐโดยตรง ทำให้พวกเขาได้เห็นพลังคนแม้ว่าเราจะไม่ได้ออกไปข้างนอกถนน ไม่มีทางที่เขาจะไม่รู้เลยเพราะแฮชแท็กมันติดเทรนด์ไทยนานยาวทั้งคืน 

“อย่างน้อยมือถือของแอดมินที่รับผิดชอบ @prayutofficial ก็ต้องเดี้ยงกันไปข้างแหละ!”

 

จากการเมืองบนโต๊ะอาหาร สู่การพยายามสร้างความตระหนักรู้ในหมู่คนรอบตัว 

 

น้ำเสียงของเนยฟังดูจริงจัง และเปี่ยมไปด้วยพลังเมื่อเธอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราจึงขอให้เธอช่วยพาเราย้อนเวลาไปยังจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องการเมืองให้พวกเราได้ฟัง

 

“การเมืองของเรา.. เริ่มต้นบนโต๊ะอาหาร”

 

เจ้าของนามสมมติที่ชื่อเนย พาเราย้อนไปเจอกับเด็กวัยประถมที่เติบโตมากับบ้านที่มีความสนใจเรื่องการเมือง เช่นเดียวกับหลาย ๆ คนในเจเนอเรชั่นเดียวกับเธอ พวกเขาและเธอต่างเติบโตมากับช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่ม “เสื้อเหลือง” และกลุ่ม “เสื้อแดง” 

 

“ตอนที่ช่วงม็อบพันธมิตรเกิดขึ้นนั้น เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเมืองคืออะไร รู้แค่พ่อไม่ชอบเสื้อเหลือง แต่แม่เราดันเป็นเสื้อเหลืองน่ะสิ” 

 

เธอบอกว่า ตอนนั้นพ่อกับแม่ชอบทะเลาะกันบ่อย ๆ ในเรื่องการเมือง และทำให้บรรยากาศของบ้านไม่ดีเท่าไหร่นัก เธอตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาถึงชอบคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะอาหาร ทำไมเขาถึงต้องทะเลาะกัน แต่ในตอนนั้นเธอยอมรับว่าเธอเชื่อแม่มากกว่าพ่อ และยังเติบโตมากับโรงเรียนที่สอนเสมอว่า คนโกงทำผิดศีลห้า เขาเป็นคนไม่ดี โดยที่ตอนนั้นเธอไม่เคยรู้มาก่อนเลย ว่ารายละเอียดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความโกงกินนั้นคืออะไรบ้าง 

 

ในตอนนั้นเธอที่อยู่ประถมต้นพยายามเอาเรื่องการเมืองไปคุยกับเพื่อน โดยครูที่โรงเรียนคืออีกหนึ่งคนที่มักพูดถึงเรื่องขายชาติและกู้ชาติ ตอนนั้นเธอบอกเราว่า “ก็อยากได้คนดีเป็นผู้นำอะ.. เราเลยเออ-ออ ไปกับเขาด้วย.. พอคุยกับเพื่อน เพื่อนก็งงว่าเราพูดถึงเรื่องอะไร เพราะตอนนั้นเรายังอายุไม่ถึงสิบขวบกันเลย”

 

“พอมาถึงยุคที่เป็นเรื่องคนเสื้อแดงมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เราเริ่มได้รับความเกลียดชังต่อคนเสื้อแดงจากแม่มาเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าเราเป็นเด็กที่ถูกครอบงำทางความคิด และฟังเขาอย่างเดียวเลย เราได้รับความคิดมาตลอดว่าคนเสื้อแดงเป็นคนหยาบคาย แต่ทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ตอนที่พี่สาวของเราเริ่มโตขึ้น  

“พี่สาวเราตัดสินใจลุกขึ้นมาเถียงแม่ และเลือกที่จะยืนอยู่กับพ่อ แล้วเราเลยฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมพี่ถึงเข้าข้างพ่อ ตอนนั้นที่บ้านเรามีทีวีสองเครื่อง ข้างบนเป็นช่องเสื้อแดง ส่วนข้างล่างเป็น ASTV ที่บ้านก็คุกรุ่นมาก ๆ 

“เหตุการณ์ช่วงสลายชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดไปอย่างคู่ขนานกับตอนที่เราป่วยหนักพอดี แล้วเราต้องเข้าโรงพยาบาลนานมาก ๆ ตอนนั้นเราแทบไม่รู้เรื่องเลยว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมมันมีอะไรรุนแรงบ้าง เราเพิ่งมารู้ทีหลังตอนได้ใช้อินเตอร์เน็ต ว่าบรรยากาศสังคมมันแย่มาก และรู้สึกแย่ที่ทำไมถึงไม่มีใครในครอบครัวพูดถึงเลย ว่ามีคนตายจากการถูกสลายการชุมนุมเยอะขนาดนี้ พ่อเราก็ไม่พูดเรื่องการเมืองอีก เพราะเขาเห็นว่าสุขภาพเราตอนนั้นมันแย่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีการซุ่มยิง เราเห็นภาพความรุนแรงที่แม่บอกว่าคนเสื้อแดงทำ แต่เรากลับไม่รู้จริงเท็จอะไรเลย 

“เช่นเดียวกับหลาย ๆ คน ที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับเรา เราถูกสื่อหลักยัดใส่หัวว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดง ตอน ป.4 เราเคยโทรไปร้องไห้กับเพื่อนด้วย ว่าทำไมคนไทยไม่รักกันแล้ว 

“หลังจากที่เราเคยร้องไห้เพราะที่คนพูดว่าเขาเผาห้าง พอได้ติดตามข่าวเรื่อย ๆ แล้วรู้ว่ามีกี่ศพที่ต้องเสียชีวิตไปจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เราก็จ๋อย เงียบ ไม่อยากรับรู้เรื่องการเมืองอีกแล้ว เหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ที่ปิดระบบตัวเอง (Shut down) ไปเลย ไม่สามารถรู้สึกได้ว่าเราพูดอะไรเกี่ยวกับคนเสื้อแดงได้อีกเลย เพราะมันมีคนเสียชีวิตเกิดขึ้นจริงๆ ในสายตาเรามันก็กลายเป็นว่า ที่บ้านพี่สาวที่เลือกข้างพ่อก็เริ่มไม่พูดกับแม่อีกเลย 

“มันกลายเป็นแผลในครอบครัวที่ค่อยๆ บานปลายไปเรื่อยๆ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าทำไมพี่ถึงโกรธแม่ขนาดนั้น ทำไมสถานการณ์ครอบครัวมันแย่มาก เราอยากสมานแผลให้พี่กับแม่ พี่ก็อยากให้เราเข้าใจด้วย เรื่องการเมืองก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกคุยในโต๊ะอาหารอยู่ดี 

“พี่สาวเราค่อย ๆ หย่อนประเด็นให้เราสนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นในการเมืองไทยบ้าง เริ่มจากเหตุการณ์เดือนตุลา มาจนถึงพฤษภาทมิฬ เราก็อยากรู้ว่าที่พี่พูดถึงมันหมายถึงอะไรบ้าง เราเริ่มไปหาข้อมูลมาอ่านเอง และเจอจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากกลับไปเรียบเรียงทุกอย่างใหม่

“นั่นคือตอนที่เราอ่านเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลา พร้อมกับหาคำตอบว่าทำไมถึงมีเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย พอถึงตรงนั้นเราก็ยิ่งเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของรัฐ เป็นสิ่งที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เราเห็นว่ารัฐดำเนินการแบบนี้ในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง แล้วจึงค่อยๆ เชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้  

“ตั้งแต่ตอนนั้นมามันก็ขนานไปกับปีที่ กปปส.ออกมา กลายเป็นเรื่องที่ช่วงนั้นเรารู้เรื่องเพิ่มมากขึ้น รู้สถานการณ์การเมือง เริ่มมีชื่อตัวละครในหัวแล้ว ทำให้เราไม่ได้ไหลไปตามแม่อีก เราแล้วว่าการที่แม่มีจุดยืนทางการเมืองยังไง เราไม่จำเป็นต้องไปตามเขา แต่ต้องคิดเองให้ได้ว่าเราอยากมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน มีทัศนคติยังไง ไม่ควรให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมาเกี่ยวด้วย กลายเป็นว่าเราอยู่ในจุดที่ค่อย ๆ เดินออกมาจากจุดที่เราเคยมองในเลนส์แคบ ๆ และได้มามองกว้างยิ่งขึ้น ไม่ต้องพึ่งพี่สาวให้มาหย่อนคีย์เวิร์ดอะไรให้เราแล้ว และค่อยๆ สนใจการเมืองจริง ๆ จังๆ ด้วยตัวเอง 

“เราพบว่าสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันยังคงวนเป็นวงกลม คนที่มีอำนาจก็เป็นคนกลุ่มเดิม รัฐบาลทหารก็ยังมีอิทธิพลในประเทศ นักการเมืองก็ยังเล่นการเมืองแบบเดิมอยู่ ผู้คนก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเอง มันยังมีการผลิตวาทกรรมเดิมๆ ว่าคนนั้นคนนี้เป็นคนล้มเจ้า ทั้งหมดก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลย”

 

เพื่อวันหนึ่ง เราจะได้โบยบินกันอีกครั้ง

 

“ตั้งแต่วันนั้น จนถึงตอนนี้ จากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าคนหลายๆ คนในไทยสนใจการเมืองกันมากขึ้น เห็นปัญหาเรื้อรังทับอยู่เป็นเวลานาน ตั้งแต่ยุคการเมืองเก่าจนถึงตอนนี้ เราก็หวังว่าในอนาคตทุกคนจะเห็นและเรียนรู้บาดแผลเก่าๆ ว่าอะไรเป็นอะไรบ้าง และนำสิ่งตรงนั้นมาปิดช่องโหว่ที่เคยมี” เนยเล่าต่อ 

“ที่สำคัญคือ เราหวังว่าทุกคนจะได้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ นายทุน รัฐทหาร รัฐสถาบัน ข้าราชการ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับระบบศักดินาในไทยเป็นยังไง เราอยากเห็นคนไทยสนใจว่าชนชั้นแรงงานได้พบเจอปัญหาอะไร แล้วก็อยู่ด้วยกันด้วยความพยายามเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ไม่แกล้งทำเป็นไม่รับรู้ปัญหาแล้วไม่กล้าพูดอีก เพราะเราก็เห็นตัวอย่างแล้วว่าการที่เราไม่กล้าพูดถึงหรือไม่กล้าสนใจ คิดว่าการเมืองคือการทำลายบรรยากาศ มันยิ่งทำให้ปัญหาหมักหมม และอยู่ใต้พรม เราอยากเห็นการพูดถึงปัญหา ไม่ว่าจะซอกไหนก็ตาม มันต้องพูดถึงขึ้นมาในสังคม”

 

ในฐานะของคนรุ่นใหม่ เธอมองว่าในตอนนี้สภาพทางการเมืองมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของเด็กสูงมาก โดยเฉพาะคนที่เรียนออนไลน์นอกจากจะถูกจำกัดการออกนอกบ้านแล้ว เยาวชนยังถูกจำกัดอิสรภาพไปด้วย จากการที่ไม่สามารถไปเล่นกับเพื่อน แอบคุยกับเพื่อนในห้องเรียนได้ เกิดเป็นภาวะที่ทำให้คนที่เรียนออนไลน์เริ่มต้นขาดปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

 

“มันยิ่งหนักยิ่งขึ้นกับเด็กที่กำลังจะสอบเข้ามหาลัย ยิ่งเขามองไม่เห็นอนาคตตัวเองที่ประเทศไทยแล้ว ดังนั้นมันก็เกิดคำถามในตัวเขา ว่าเขาจะสอบไปทำไม เราอยู่ในสภาวะสังคมที่คุณไม่สามารถมองเห็นอนาคต ไขว่คว้าความฝันไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ยิ่งถูกกดไปอีก ถ้าคนไม่เป็นซึมเศร้าก็เป็นยอดมนุษย์เลยแหละ แล้วจะเอาอะไรกับคนที่อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ 

“มันเลยยากมากที่จะมามีสมาธินั่งสอบเข้ามหาลัย ก็ยิ่งปกติที่แย่อยู่แล้ว แล้วตอนนี้ยังจะมาเครียดเรื่องการเงินใด ๆ ที่ต้องเอาเงินไปติว ไปเตรียมเงินทำนั่นนี่ จ่ายค่าสอบเข้า พอสถานการณ์แย่ เศรษฐกิจยิ่งแย่ ทุกอย่างยิ่งเครียด กังวล หดหู่ ตามมาด้วยสภาวะที่มีผลต่อสุขภาพกาย บางคนนอนไม่หลับเรื้อรังไปเลย

“ดังนั้นแล้ว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว มันก็คือการที่เรากำลังทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมที่ดีขึ้น ถ้าคุณไม่นึกถึงส่วนรวมของประเทศ ก็เห็นแก่ตัวเองหน่อยก็ได้  

“ตั้งแต่ คสช.เข้ามา เราก็รู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในกรงอยู่แล้ว อิสรภาพแทบจะเป็นสิ่งที่เราไม่รู้จัก บางคนอยู่ในกรงจนไม่รู้วิธีบินแล้ว ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นนกทั้งๆ ที่ตัวเองบินได้ ตัวเองเป็นมนุษย์ที่สมควรจะได้รับสิทธิ มีความฝัน มีความหวัง แต่บางคนกลับไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองมีอิสรภาพ  

“ตอนนี้ส่วนตัวความหวังริบหรี่ แต่ความหวังนี้มันจุดขึ้นมาได้ถ้าเราเอาความหวังที่ริบหรี่ของผู้คนมารวมกัน มันก็อาจจะเป็นประกายไฟก็ได้นะ”

 

เราถามเธอทิ้งท้ายว่าถ้าเธอเป็นนักการเมืองตอนนี้ เธอจะทำอย่างไร 

เนยตอบเสียงสูงว่า “แก้รัฐธรรมนูญให้ได้!!” 

 

และนี่คืออีกหนึ่งเสียงจากคนรุ่นใหม่อย่างเนยและกลุ่ม YDFD ที่กำลังพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่โลกใบใหม่ที่สวยงามมากขึ้นกว่าเดิม