แด่อิสรภาพที่ถูกพรากไปในกรงขัง โปรดจดจำ และส่งต่อความหวัง ให้ "อัญชัญ ปรีเลิศ"

12 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

 

อัญชัญ ปรีเลิศคือใคร? 

 

อัญชัญ ปรีเลิศ คือลูกสาวที่เติบโตมากับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวท่ามกลางพี่น้อง 6 คน ในขณะที่เธออยู่ชั้นป.3

อัญชัญ ปรีเลิศ คือหนึ่งในคนที่ร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง 

อัญชัญ ปรีเลิศ คือคนที่ฟังรายการวิเคราะห์การเมืองของ “บรรพต” ในเว็บไซต์ ก่อนที่โซเชียลมีเดียจะแพร่หลาย

อัญชัญ ปรีเลิศ คือข้าราชการที่ใกล้เกษียณอายุ ในช่วงรัฐประหารโดยคสช. 

อัญชัญ ปรีเลิศ คือคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแชร์รายการของบรรพต ด้วยการถูกจำคุกถึง 43.6 ปี 

 

อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเวลาห้าวันในช่วงแรก ด้วยคดี 112 ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของ “ศาลทหาร”  เดิมพันแรกระหว่างอิสรภาพและเสรีภาพในการแสดงออกจึงอยู่บนความไม่แน่นอนของการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อโทษสูงสุดที่เธออาจได้รับ คือ 15 ปี x 29 กรรม เท่ากับว่าเธอจะถูกจำคุก 435 ปี  จากคลิปทั้งหมด 29 คลิป ในความผิดทั้งหมดตามมาตรา 112  ทำให้เธอกลายเป็นผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นจำนวนมากที่สุดในเครือข่ายคนที่ทางการไทยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายบรรพต และเป็นคดีมาตรา 112 ที่โทษหนักที่สุดนับแต่รัฐประหารปี 2557 

 

โดยศาลอาจลงโทษจริงได้สูงสุดที่ 50 ปี อัญชัญจึงตัดสินใจต่อสู้คดี ทว่าขณะนั้นคำยื่นขอประกันตัวของเธอถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง ทำให้เธอต้องถูกคุมขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี กับอีก 281 วัน ก่อนจะถูกปล่อยชั่วคราวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท คดีของเธออยู่ภายใต้ศาลทหารจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อมีประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ย้ายคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม เธอจึงถูกย้ายมาพิจารณาคดีที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

 

 

“นี่มันนรก นรกเห็น ๆ” คือสิ่งที่เธอบรรยายถึงความเป็นอยู่ตลอด 3 ปี 9 เดือนที่ถูกคุมขังหลังจากถูกจองจำตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2558  

 

ตลอดเวลาที่ได้รับ “อิสรภาพชั่วคราว” ในช่วงปลายของยุคคสช. ชีวิตของอัญชัญไม่มีอะไรที่เหมือนเดิม เธอแทบไม่เหลืออะไรเนื่องจากทรัพย์สินถูกยึดจากหนี้สินกับธนาคาร และขาดการชำระตามกำหนดเมื่อถูกขังระหว่างพิจารณาเป็นเวลาสามปีเศษ ในวัย 65 ปี อัญชัญต้องพยายามหาอาชีพเสริมด้วยการทำขนม โดยอัญชัญได้ให้สัมภาษณ์กับ iLaw ว่าสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำสำหรับเธอถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย “พี่ว่ามันเหมือนไม่ใช่คน เขาคุมเราเข้มไปหมด จะทำอะไรก็ไม่ได้ ในห้องขังมีคนอยู่รวมกันมากจนเรานอนหงายไม่ได้ ต้องนอนตะแคงเบียดๆ กัน” 

 

 

สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้ต้องขังอีกนับแสนคนต้องเผชิญ เมื่อจำนวนผู้ต้องขังมีมากกว่าความสามารถของเรือนจำในการรองรับ การมาถึงของโรคโควิด-19 ที่แพร่สะบัดไปทั่วเรือนจำ จึงทำให้หลังจากที่เธอถูกพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 โดยศาลอาญาสั่งจำคุก 43 ปี 6 เดือน อัญชัญ ปรีเลิศ ในวัย 65 ปี คือหนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำ จำนวน 35,472ราย ก่อนจะหายป่วยในเวลาต่อมา

 

กรณีของอัญชัญนั้นเป็นหนึ่งในกรณีที่แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการการบังคับใช้ของม. 112 มาดำเนินคดี เมื่อบรรพตที่เป็นคนทำคลิปไม่ตำกว่า 1000 ตอน ถูกฟ้องเพียง 1 กรรม ส่วนเธอที่เป็นคนแชร์ กลับถูกฟ้องถึง 29 กรรม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปตลอดกาล โดยอัญชัญกล่าวกับ iLaw ว่า เธอไม่เคยคิดว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ เพราะก่อนหน้านี้เธอและสามีได้วางแผนกันว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณในแบบสงบๆ ถ้าว่างก็ไปเยี่ยมลูกที่อเมริกา ทว่าเธอกลับต้องถูกจำคุก ส่วนสามีต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส เมื่อสาเหตุที่ทำให้เธอต้องถูกจำคุก เกิดมาจากความ “หวัง” ในสถานการณ์การเมืองไทย และความตั้งใจที่อยากจะช่วยรายการวิเคราะห์การเมืองดังกล่าวที่เคยจุดประกายความหวังให้เธอ เท่าที่เธอจะช่วยได้

 

ปัจจุบันนี้หน่วยงานต่าง ๆ เองกำลังพยายามดำเนินการคืนความยุติธรรมให้กับอัญชัญ ปรีเลิศ โดยสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights; FIDH) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights; TLHR) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention; UN WGAD) เพื่อให้มีการปล่อยตัวอัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องโทษจำคุกที่ยาวนานที่สุดภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) ที่ขณะนี้กำลังถูกจองจำอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพฯ

 

ปัจจุบัน แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ติดต่อไปยังทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพมหานครที่อัญชัญถูกคุมขังอยู่ และได้รับการแจ้งว่า ทางเรือนจำยกระดับมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด – 19 จึงยังไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยมอัญชัญได้ เช่นเดียวกับนักโทษคนอื่น ๆ อีกทั้ง เธอยังเป็นนักโทษเด็ดขาด ความจำเป็นที่ต้องพบทนายความจึงน้อยกว่านักโทษที่อยู่ระหว่างพิจารณา หนทางในการร่วมส่งต่อแสงเทียนแห่งความหวังจากคนข้างนอกให้คนที่ยังอยู่ในเรือนจำ อย่างอัญชัญ ปรีเลิศ จึงเป็นการเขียนจดหมายเพื่อบอกให้เธอรับรู้ว่าเธอไม่ได้ต่อสู้กับความอยุติธรรมเช่นนี้เพียงลำพัง

 

 

เราขอเชิญชวนให้คุณร่วมเขียนจดหมายให้กำลังใจอัญชัญ ปรีเลิศ อีกครั้ง บนช่องทางออนไลน์ https://forms.office.com/r/kejdkzRzF4 

รวมถึงขอเชิญชวนให้คุณร่วมถ่ายภาพกับดอกอัญชัญ เพื่อส่งกำลังใจให้เธอ ผ่านแฮชแท็ก #มองจากลูกกรงนั้นเจ็บปวด

#LookingThroughBarsHurts 

 

โดยสามารถติดตามรายละเอียดช่องทางการส่งจดหมายในโลกออฟไลน์ได้เร็ว ๆ นี้

 

ดาวน์โหลดโปสการ์ด เพื่อส่งจดหมายถึงอัญชัญ ปรีเลิศ ที่นี่: คลิกที่นี่
สามารถส่งไปได้ที่ : คุณอัญชัญ ปรีเลิศ
ทัณฑสถานหญิงกลาง ห้อง 12 เรือนบัวกรุณา 33/3 ถ.งามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครฯ 10900
 
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: 

https://freedom.ilaw.or.th/node/875 

https://tlhr2014.com/archives/31849

https://tlhr2014.com/archives/25282