วันแรงงานกับสิทธิในการพักผ่อน : เพราะเราเป็นคน ไม่ใช่เครื่องจักร

3 พฤษภาคม 2564

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

ในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความก้าวหน้านั้น จำเป็นจะต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มแรงงาน ซึ่งก็คือประชาชนของประเทศนั้นๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เทคโนโลยี หรืออีกหลายๆ ด้านก็ตาม จึงทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นกลไกที่มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินต่อไปข้างหน้า และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กลุ่มคนใช้แรงงาน ทั่วโลกจึงได้ประกาศให้มีวันกรรมกรสากล หรือวันเมย์เดย์ และในประเทศไทยเองก็กำหมดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกๆ กลายเป็นวันแรงงานแห่งชาติ

 

วันแรงงานในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับรองให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500 แต่ในสมัยนั้นกลุ่มคนใช้แรงงานยังต้องทำงานอยู่ เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้มีวันแรงงานแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุด ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 17 ปีด้วยกัน กว่าสังคมจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มคนใช้แรงงาน และรัฐบาลก็ได้ประกาศให้วันแรงงานกลายเป็นวันหยุดในปี พ.ศ. 2517 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงมีวันแรงงานแห่งชาติที่เป็นวันหยุดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

เพราะแรงงานคือกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ 

ในปัจจุบัน หลายประเทศต่างแข่งขันกันพัฒนาประเทศของตนให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ และกลุ่มคนใช้แรงงานก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้ เพราะในกระบวนการทำงานด้านต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นในการใช้แรงงานคน ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่อนแรงเรามากขึ้นก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าผลลัพธ์ของงานที่ออกมาจะสามารถเทียบเคียงได้กับฝีมือของคน งานบางอย่างที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนก็ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ กลุ่มคนใช้แรงงานจึงยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

 

กลุ่มคนใช้แรงงานในประเทศไทย

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 39.45 ล้านคน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ตามสายอาชีพดังนี้

  • เป็นผู้มีงานทำ 38.76 ล้านคน
  • ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคบริการ
  • และการค้า 17.50 ล้านคน
  • ภาคเกษตรกรรม 13.48 ล้านคน
  • และภาคการผลิต 7.78 ล้านคน 

ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนใช้แรงงานในประเทศไทยนั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรภายในประเทศที่มีอยู่กว่า 66.5 ล้านคน ในปี 2563 กลุ่มคนเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

 

ทำไมเราจึงต้องมีวันหยุดพัก?

คนเราทุกคนย่อมต้องการการหยุดพัก ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ หากเราทุกคนโหมงานหนักมากจนเกินไป จนไม่ได้พักผ่อน ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เราเกิดการเจ็บป่วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับตัวขงอเรา เพราะถ้าหากเกิดการเจ็บป่วย นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพในการทำงานของเราก็จะลดลงตามไปด้วย และอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเรา การได้หยุดพักจึงเปรียบเสมือนกับการหยุดเพื่อซ่อมแซมร่างกาย หรือหยุดพักเพื่อขจัดความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และไม่เพียงแต่การพักผ่อนทางกายเท่านั้นที่มีความสำคัญ การพักผ่อนทางจิตใจถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนเราก็ต้องการเช่นกัน เพราะหากจิตใจย่ำแย่ นานเข้าอาจจะส่งผลร่างกายของเราย่ำแย่ลงไปด้วย วันหยุดพักผ่อนจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม

 

ผู้ใช้แรงงานกับสิทธิมนุษยชน

หลายๆ คนคงทราบอยู่แล้วว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากลที่ทุกคนบนโลกให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิดและมีบทบาทอยู่ในทุกช่วงของชีวิต และหนึ่งในสิทธิที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเราก็คือ สิทธิในการพักผ่อน เพราะมนุษย์ทุกคนควรมีเวลาให้กับตัวได้ผ่อนคลายและพักผ่อนจากความเหนื่อยล้า

ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 24 สิทธิในการพักผ่อน “ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการผ่อนคลายยามว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาทำงานตามสมควรและวันหยุดเป็นครั้งคราว โดยได้รับค่าจ้าง” จะเห็นได้ว่าสิทธิการพักผ่อนนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้รับ และเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมควรตระหนักถึง เพราะในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย การเคารพสิทธิของบุคคลอื่นเป็นเรื่องที่พึงกระทำอย่างยิ่ง