#PortraitOfWHRDs : ณัฏฐา มหัทธนา

16 พฤศจิกายน 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: ณัฏฐา มหัทธนา
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati

"เรามารู้สึกจริงๆ ว่าเป็นผู้หญิงนั้นยากกว่าที่คิดหรือมันโดนหนักกว่าที่เราจินตนาการก็ตอนที่เราโดนเหตุการณ์สอดแนมแอบถ่าย และปล่อยภาพออกมา ซึ่งในตอนนั้นปฏิบัติการมันชัดเจนว่าผู้กระทำหวังผลทางการเมือง ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายผู้ชายด้วย เพราะว่าภาพที่ถูกปล่อยออกมาชุดแรก คือแปะโลโก้กลุ่มเคลื่อนไหวของเราไว้บนนั้นเลย และแปะโลโก้พรรคการเมืองของฝ่ายชายไว้บนนั้นด้วย เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันแรงกว่าที่คิดว่านักกิจกรรมคนหนึ่งจะโดน"

 

เรามารู้สึกว่าเป็นผู้หญิงมันจะโดนหนักกว่าก็หลังจากเหตุการณ์นั้น  เพราะว่าส่วนใหญ่ในการโจมตีทางออนไลน์ที่เกิดขึ้น สื่อฝ่ายตรงข้ามจะพุ่งเป้ามาที่ตัวเรามากกว่าผู้ชาย เราก็เลยเริ่มที่จะเข้าใจว่า “สังคมชายเป็นใหญ่” แปลว่าอะไร คือก่อนหน้านี้เราเป็นคนที่สนใจสิทธิมนุษยชนมาก แต่ไม่เคยไปแยกมันว่าเป็นสิทธิผู้หญิง ผู้ชายหรือสิทธิของใคร เราจะมองในภาพหลักกว้างๆ มากกว่า เนื่องจากในเมืองไทยสถานการณ์ สิทธิ์ยังอยู่ในขั้นติดลบ เราจึงยังไม่ได้ถึงขั้นไปดูแยกสิทธิสตรีโดยเฉพาะ หรือสิทธิ LGBT แต่ก่อนไม่ได้สนใจ ขอดูสิทธิในภาพรวม ขอสิทธิพลเมือง สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เราเน้นแค่นี้เลย แต่พอเหตุการณ์นี้เกิดกับตัวเอง ก็เพิ่งเข้าใจว่า “สังคมชายเป็นใหญ่” แปลว่าอะไร เพราะว่าถึงที่สุดแล้วทุกวันนี้เราก็ยังโดนโจมตีหนักในขณะที่ฝ่ายชายจะไม่โดนหนักแบบเรา เหตุการณ์นี้เลยทำให้เราเข้าใจประเด็นทางเพศมากขึ้น เราก็เริ่มสังเกตว่า แล้วนักการเมืองหญิง หรือนักกิจกรรมหญิงคนอื่นโดนไหม จึงพบว่าส่วนใหญ่ฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่าง ถ้าเขาจะโจมตีเขาก็เลือกที่จะโจมตีผู้หญิงจริงๆ

 

พอเราเริ่มสังเกตก็เลยเจอเยอะเลย ยกตัวอย่างเช่น น้องๆ ที่ออกมาชูป้ายในงานชุมนุม ถ้ามีคนเอาไปกลั่นแกล้งเขาก็จะเอาภาพไปตัดต่อให้ป้ายนั้นเขียนข้อความที่ส่อแนวทางเพศ หรืออย่างล่าสุดที่เราไปแจ้งความที่สน. สำราญราษฎร์ เราแจ้งความว่าเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาเกินจริงกับกลุ่มแกนนำประท้วง พอลงมาจากโรงพักเราก็มาถ่ายภาพใบแจ้งความ ก็จะมีคนเอาภาพนี้ไปตัดต่อ และเขียนใข้อความใส่บนกระดาษที่เราถือว่า “จับทำผัวหมดทั้งโรงพักแล้วค่ะ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้นะ นักกิจกรรมชายจะไม่โดน หรือนักกิจกรรมชายก็จะไม่มีการถูกเอาภาพไปตัดต่อ ส่วนใหญ่นักกิจกรรมหญิงจะโดน เหตุที่เกิดขึ้นจากตัวองทำให้เราสังเกตมากขึ้น และเห็นว่าผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมืองมักจะโดนโจมตีในลักษณะนี้

 

ด้วยความที่เราเจอหนักตู้มเดียว ดังนั้นมันไม่มีเวลาให้ท้อ แวปแรกที่รู้เรื่องคือนักข่าวส่งมาให้ดู เพราะว่าเขาปล่อยไปทางนักข่าว ปล่อยไปทางสื่อ เราก็รู้สึกอย่างแรกว่า โอ้โห นี่เล่นกันหนักขนาดนี้เลยหรอ? ใช้วิธีสกปรกขนาดนี้เลยหรอ? เราไม่รู้สึกอย่างอื่นนอกเสียจากว่าเราต้องโต้กลับ ตอนนั้นที่รู้สึกหนึ่งคือ เราต้องเผชิญหน้ากับความจริง คือจะไม่มีความคิดเข้ามาในหัวเลยว่า ฉันจะบอกว่าภาพตัดต่อดีไหม เพราะจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้เห็นหน้าเรา เราก็โจมตีกลับเลยว่าคุณทำอย่างนี้เพื่ออะไร บอกว่านี่เป็นอาชญากรรม 

 

"กระบวนการยุติธรรมไทยมันไม่ค่อยเอื้อต่อคดีลักษณะนี้ ต่อให้เราชนะคดีหมิ่นประมาท ศาลจะตีมูลค่าความเสียหายได้ไม่สมน้ำสมเนื้อ  เพราะว่าคนไทยไม่ได้ให้มูลค่ากับชื่อเสียงอย่างที่สังคมต่างประเทศให้ เท่าที่เคยฟังทนายคือเขาจะใช้วิธีการถามว่า เรามีรายได้จากชื่อเสียงของเราเท่าไหร่ และพิสูจน์ได้ไหมว่าการที่เราถูกทำให้เสียชื่อเสียงทำให้เราเสียรายได้เป็นมูลค่าเท่าไหร่ คือคุณเอาหลักฐานแบบนั้นไม่ได้ คุณต้องตีมูลค่าเอาเองซึ่งต่างประเทศสามารถทำได้ แต่ประเทศไทยไม่ได้มีวิธีคิดแบบนั้น"

 

ปัจจุบันเรามีคดี 6 คดี คดีจากการเรียกร้องการเลือกตั้ง 4 คดี เป็นคดีข้อหาหนักตามมาตรา 116 หมดทั้ง 4 คดี 1 คดียกฟ้องไปแล้ว อีก 3 คดีกำลังอยู่ในชั้นศาล อีกคดีหนึ่งคือคดีหมิ่นประมาทกกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) คดีนี้แค่จากการที่เราแชร์ Petition (ใบคำร้อง) ใน www.change.org ที่มีน้องๆ เขาทำขึ้นมา เรื่องการถอดถอนกกต. ตอนนั้นได้ 800,000 รายชื่อ พอถึง 800,000 รายชื่อ กกต. ไปแจ้งความและเลือกตั้งข้อหากับ 7 คน โดยเราเป็น 1 ใน 7 คนที่แชร์ และหลังจากนั้นตัวเลขก็หยุดที่ 800,000  ไม่ขึ้นไปถึงล้าน เพราะคนกลัว โดยคนที่แชร์ใบคำร้องนี้มีเป็นแสน แต่เขาเลือกแค่ 7 คนที่เป็นที่รู้จักเพื่อจะเป็นข่าวดังพอที่จะทำให้เขาปิดปากคนอื่นได้ 

 

"เรื่องของสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยมันมีแต่กราฟขึ้น เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวนี้ยังขึ้นไปได้อีกเยอะ ในช่วงชีวิตของเราก็คงจะเห็นแต่กราฟขึ้น เพราะแค่ในปีนี้เอง เราเห็นขบวนการเคลื่อนไหวของ LGBT ที่ก้าวหน้าไปหลายก้าวมาก ถ้าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เมื่อคนมีความรู้แล้ว เขาก็จะปกป้องสิทธิ์ของเขาเอง ที่ผ่านมาที่คนไม่ปกป้อง  สิทธิมนุษยชนเพราะเขาไม่รู้ว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร แต่เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รู้จักคำนี้ ทุกคนที่รู้จักคำนี้ก็จะอยากปกป้อง หรือไม่ก็ส่วนใหญ่ของคนที่รู้จักคำนี้จะอยากปกป้อง เราเชื่ออย่างนั้น"

 

อย่างเดียวที่เราจะแนะนำได้แน่ๆ ก็คือ ทุกคนควรมีความรู้กฎหมาย ต้องศึกษา สำหรับเรา เรารู้กฎหมายได้จากการที่ถูกรัฐละเมิดหลายครั้งเข้า เราเลยต้องหาอาวุธ ซึ่งก็คือการรู้กฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้คือฐานที่อาจจะฟังดูไม่ตื่นเต้น แต่ว่ามันทำให้คุณมีพลัง คุณควรมีความรู้แน่นเรื่องกฎหมาย และหลักการสิทธิมนุษยชน จากนั้นคุณก็จะมีความมั่นใจในการไปต่อสู้เอง ส่วนเรื่องที่ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน นั่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่สิ่งที่ต้องมีเป็นเสาเข็มคือความรู้ เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราต้องสร้างวัฒนธรรมด้วย เช่นสมมุติว่าเราไปเห็นใครถูกกลั่นแกล้ง คำถามคือแล้วคนที่เห็นล่ะทำอะไร ถ้าคนที่เห็นไม่ทำอะไร ก็คือการปกป้องมันไม่เกิด

 

------------------------------

 

ณัฏฐา มหัทธนา ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ วิทยากรอิสระครูสอนภาษาไทย-อังกฤษ เน้นการสื่อสาร