#PortraitOfWHRDs : มัจฉา พรอินทร์ 

6 พฤศจิกายน 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: มัจฉา พรอินทร์
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati

เพราะเราเป็นผู้หญิง และมีความหลากหลายทางเพศ เขา(ทั้งในแง่ปัจเจกและเชิงสถาบัน) ถึงทำแบบนี้กับเรา เขาทนไม่ได้ที่เห็นเราทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไปพร้อมกับต่อต้านอำนาจเหนือและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แต่ก็เราก็สู้และไม่มีวันจำนนหรอกนะ

 

การขับเคลื่อนสังคม ต้องคำนึงถึงสภาวะอำนาจที่ทับซ้อน เช่น พอเราจะขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วเราเป็นผู้หญิง เราจะเจอช่องว่างที่ไม่เหมือนกับนักปกป้องสิทธิผู้ชาย วิธีคิดว่าผู้หญิงควรจะเป็นอย่างไร ผู้หญิงควรจะทำอะไรมันส่งผลต่อนักเคลื่อนไหวผู้หญิงมาก  เพราะโดยภาพรวม ถ้าเป็นนักเคลื่อนไหวนอกจากเราจะถูกแปะป้าย นอกจากเราจะถูกวาทกรรมกดทับจากภาครัฐแล้ว สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ไม่ได้ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกที่รอบด้าน

 

จะว่าไปแล้ว มันมีช่องว่างสำหรับนักปกป้องสิทธิที่เป็น LGBTIQN+ คือ เวลาเราขับเคลื่อนในไทย ขบวนการเคลื่อนไหวมันเป็น Silo มันเป็นแท่ง อย่างเช่น ถ้าเรื่องสิทธิ เราก็จะว่ากันเต็มที่ไปเลยเป็นเรื่องๆ ที่ดิน แรงงาน ชนเผ่าพื้นเมือง ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องประชาธิปไตย พอเราพูดเรื่องเพศ เรื่องเจนเดอร์ สังคมก็มักจะมีภาพฝังหัว คือ ภาพของผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหว พอเป็นประเด็น LGBTIQN+ เราก็จะมีภาพเหมารวม เช่น การขับเคลื่อนเรื่อง HIV หรือภาพ Gay male privilege แต่ว่าภาพจำของสังคม ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่เป็นเลสเบี้ยน หรือ Bisexual woman ยังน้อยมาก และมักไม่ถูกนับไม่ถูกยอมรับในฐานะแกนนำขบวนการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า มันมีการแยกตัวจากจากขบวนการเคลื่อนไหวระหว่างประเด็นสิทธิมนุษยชน ในขบวนการเคลื่อนไหวแต่ก่อนไม่มีใครเอาประเด็นLGBTIQN+ ของเราไปด้วย เวลาเราไปมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาจะเอาแต่ตัวเรา แต่ไม่เอาประเด็น  รสนิยมทางเพศอัตลักษณ์ทางเพศการแสดงออกทางเพศ (SOGIESC- Sexaul Oreintation, Gender Identity, Expression and Sex Characteristic) ของเราไปด้วย ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่า การขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไม่สามารถพูดถึงสิทธิความหลากหลายทางเพศ เรากำลังถูกเลือกปฏิบัติ แม้เราจะได้มี representation ในขบวนการเคลื่อนไหว แต่แต่ประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศที่เป็นปัญหาของชุมชนเรากลับไม่ถูกผลักดัน แก้ไข

 

นอกจากนี้ อยากยกตัวอย่างของสิ่งนี้เกิดขึ้นเวลาเราไปขับเคลื่อนกับกลุ่มผู้หญิง ที่ไม่มีมุมมองเรื่องสิทธิLGBTIQN+ เราพบว่าขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง ก็ไม่สนใจประเด็นปัญหาของเรา เพราะมองว่าแม้เราจะมีความหลากหลายทางเพศ แต่เราก็เป็นผู้หญิง ดังนั้นประเด็นปัญหาก็น่าจะเหมือนกัน คือ ข้อเรียกร้องของเราก็สามารถถูกขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงทิ้งไว้ข้างหลัง ประเด็นของเราไม่ได้ถูกนับ และเอาไปด้วยจริงอยู่ว่าเราเป็นผู้หญิง แต่เรามีความหลากหลายทางเพศ ในแง่หนึ่งเราจำเป็นต้องพูดเรื่องผู้หญิงเพราะนั่นเป็นร่มอีกหนึ่งใบของเรา แต่เราจำเป็นต้องพูดในมิติที่จำเพราะเจาะจงที่เป็น ปัญหาที่เราเผชิญ เช่น เมื่อเราพูดเรื่องการข่มขืนผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ เราก็ถูกบอกว่ามันเป็นปัญหาทั่วไปเหมือนกันกับที่ผู้หญิงทั่วไปเผชิญ หรือพอเราจะเสนอประเด็นสมรสเท่าเทียม เขาก็บอกว่าให้ไปขับเคลื่อนกับขบวนการเคลื่อนไหว LGBTIQ คือเรารู้สึกว่า เราเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติอย่างซับซ้อน รวมถึงในขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิความหลากหลายทางเพศทางเพศด้วย เราก็ถูกเลือกปฏิบัติในมิติเจนเดอร์ บนพื้นฐานที่เรามีอัตลักษณ์เป็นผู้หญิงภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เราเข้าไม่ถึงทรัพยากร เสียงของเราไม่ดัง และ/หรือไม่ถูก take it seriously ทำให้ประเด็นที่เราขับเคลื่อนไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร 

 

ส่วนมิติ Gender Based Violence หรือความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ ที่เราในฐานะเลสเบี้ยน นักปกป้องสิทธิ์ เผชิญ มีเยอะ ตัวอย่าง เช่น เราเคยมีประสบการณ์เข้าร่วมอบรมกับ NGOs ไทย รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะยาวและมีการลงพื้นที่ต่างจังหวัด จำได้ว่าวันนั้นหลังจากกินข้าวเสร็จ ก็มีกินเหล้ากินเบียร์กัน ในวงเหล้ามีเพื่อนผู้ชาย 3 คนกับเพื่อนผู้หญิงอีก 1 คนแล้วก็เรา ทั้งหมดประมาณ 5- 6 คน เราถูกผู้ชาย 3 คนที่เมาเหล้ารุมและพูดประมาณว่า ‘จริงๆเธอก็ดีนะ แต่จะดีกว่านี้มาก ถ้าเธอไม่เป็นแบบนี้ ถ้าพูดน้อยกว่านี้ ถ้าเก่งน้อยกว่านี้ เธอรู้มั้ยว่าเธอทำให้ฉันรู้สึกไม่มีคุณค่า เวลาที่จะพูดอะไร’ เราตกใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าถูกข่มขู่ คุกคาม แต่ตกใจมากขึ้นเพราะเมื่อทุกคนก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา แต่ไม่มีใครสักคนพูดถึงเรื่องนี้ และที่สำคัญคนที่กระทำเขาก็รู้ดีว่า เป้าหมายคือ ต้องการปิดปากเรา เพราะสิ่งที่เราพูดมันไปท้าทายอำนาจของเขา

 

"นอกจากนี้ เราพบว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเสี่ยงที่จะถูกคุกคามในพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อเราพูดหรือเรียกร้องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย อย่างเช่นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเราถูกสัมภาษณ์เรื่องสงกรานต์ เพราะมีสถานการณ์คุกคามทางเพศสูงมากทุกปี ในบทสัมภาษณ์ เราได้พูดประมาณว่า “ต่อให้ผู้หญิงแต่งตัวอย่างไร และต่อให้ใส่เสื้อคอเต่า ถ้าผู้ชายไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องมิติทางเพศ ผู้หญิงก็ยังคงเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ” เราพูดสั้นมากประมานนาทีกว่า 2 นาทีพอข่าวถูกเผยแพร่ออกไปแล้วเราไปไล่ดูคอมเม้น พูดแค่นี้ก็สามารถมีคอมเม้นท์เสียๆ หายๆ ได้ ที่สำคัญมีกลุ่มชาตินิยิมที่เข้ามาโจมตีด้วย ทำให้เรารู้เลยว่าการต่อสู้เรื่องเพศ มันท้าทายความเชื่อแบบชาตินิยม ท้าทายระบบทหารรวมถึงท้าทายทุนนิยมด้วยซ้ำไป สิ่งเหล่านี้ คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายโดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ ในกรณีนี้เราจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก แต่เราก็เริ่มตระหนักและเห็นภาพชัดมากขึ้นว่า การต่อสู้กับเรื่องพื้นฐานมากๆ เช่น สิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเอาเข้าจริงมันสามารถไปสั่นสะเทือนความคิดความเชื่อฝังหัวที่ถูกปลูกฝังโดยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ได้"

 

การเป็นนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน สิ่งหนึ่งเราต้องตระหนัก คือ นักสิทธิ์เองก็มีมิติความบอบบางที่ไม่เท่ากันเราต้องคำนึงถึงมิติอายุ มิติทางเพศ มิติความเป็นชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมือง มิติด้านความเชื่อ ศาสนา ของนักปกป้องสิทธิ์ จึงไม่ใช่ว่านักปกป้องสิทธิ์ทุกคนจะมีอำนาจ ที่จะสามารถต่อต้านหรือรับมือกับการถูกข่มขู่และถูกคุกคามทางเพศได้เท่ากัน นอกจากนี้ผลจากการถูกข่มขู่ คุกคามและ/หรือคุกคามทางเพศ อาจส่งผลกระทบในหลายระดับ เช่น บางครั้งอาจทำให้หวาดกลัว วิตกกังวล เสี่ยงที่จะเจ็บป่วยหรือเผชิญกับสภาวะซึมเศร้า บางครั้งทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ต่อไปได้ ตัวอย่างคนอื่นๆก็มี ที่ถูกโจมตีในพื้นที่ออนไลน์ ส่วนหนึ่งเราสนับสนุนFreedom of Speech , Freedom of expression แต่หากนักสิทธิ์ถูกคุกคาม ข่มขู่ในพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะด้วยเหตุแห่งงานที่ทำและ/หรือด้วยเหตุแห่งเพศ เราสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น การแจ้งความ การดำเนินคดี โดยเฉพาะเมื่อนักสิทธิ์ถูกกระทำโดยคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ การใช้กระบวนการทางกฎหมายก็เพื่อยุติความรุนแรง ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวล รวมถึงพัฒนาและสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน และต้องปกป้อง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย

 

จริงๆเราเชื่อว่าตอนนี้คนที่ขับเคลื่อนในมิติความเป็นธรรมทางเพศและสิทธิความหลากหลายทางเพศเรามีความโกรธไม่แพ้ขบวนการขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตย เพราะสังคมที่ปฏิเสธการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ปฏิเสธการเคารพสิทธิมนุษยชน ขบวนการเคลื่อนไหวที่ปฏิเสธสิทธิหลากหลายทางเพศ ประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความเป็นธรรมทางเพศจะไม่ได้โกรธได้อย่างไร

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิง ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเรา เผชิญกับการห้ามเราพูด หรือไม่ถูกสนับสนุนให้พูดเรื่องเพศ เรื่องความหลากหลายทางเพศ เผชิญกับการถูกข่มขู่ คุกคามทางเพศ รวมถึงเราเคยมีประสบการณ์การถูกลอบเผาบ้าน ไปแจ้งความ จะดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ก็ไม่รับแจ้งความ โดยบอกว่าบ้านยังไม่เสียหายเราไม่ได้เสียชีวิต เราถูกกระทำขนาดนี้ไม่โกรธได้อย่างไร แต่เราก็แปรเปลี่ยนความโกรธให้เป็นพลังสร้างสรรค์ให้เกิดการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคม เราอยากเห็นสังคม เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน มีความเท่าเทียมเป็นธรรมระหว่างเพศ และอยากเห็นนักสิทธิ์ได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากสังคมและกฎหมายด้วย

 

"ท้ายที่สุด เราอยากบอกว่าการนิยามตนเองว่าเป็น “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” นอกจากเราจะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับต่างๆ คำนี้ยัง empower (เสริมพลังเรา และทำให้เรามีชุมชน มีเครือข่ายในการทำงาน ไม่ต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งเครือข่ายในการทำงานของเรามีตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับประเทศและระดับโลก เราอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทั้งใน ขบวนการเคลื่อนไหวเฟมมินิสต์ ขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ขบวนกาเคลื่อนไหวLGBTIQN+ และขบวนการเคลื่อนไหวชนเผ่าพื้นเมือง ฯลฯ"

 

-----------------------------------------

 

มัจฉา พรอินทร์ ปัจจุบันเป็นนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิความหลากหลายทางเพศทั้งในระดับชุมชน ประเทศและนานาชาติ