#PortraitOfWHRDs : สิรินทร์ มุ่งเจริญ

28 กันยายน 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: สิรินทร์ มุ่งเจริญ 

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี

ภาพ: Ivana Kurniawati

“เป็นครั้งแรกที่ออกข่าวแล้วหน้าเราเด่นขึ้นมากว่าคนอื่น เพราะเราย้อมผมสีทอง ทาปากแดง ภาพทำให้เราดูเด่น คอมเม้นก็จะไปโจมตีที่เรามากกว่าในภาพที่มีผู้ชายหลายคน เขาก็ไม่โจมตี เขาก็เลือกที่จะโจมตีเรา ว่าเป็นนักศึกษาจริงรึเปล่า หรือจริงๆเป็นกะหรี่ปลอมตัวมา ส่วนมากคำด่าก็จะไม่พ้นแนวๆนี้”

 

“คลิปที่เราชักธงดำที่หลุดออกมาหลังจากที่เกิดเหตุการณ์นั้นไปสัปดาห์หนึ่งแล้ว… เริ่มจากการแชร์คลิปในกลุ่มเฟสบุ๊ก ไปจนถึงช่องข่าว ซึ่งถ้าไปอ่านตามคอมเมนต์ก็คือมีแต่ด่าในเชิงทางเพศ ก็คล้าย ๆ เดิม คำด่าผู้หญิงก็จะวนอยู่แค่นี้แหละ เป็นกะหรี่บ้าง รูปร่างหน้าตาบ้าง แต่เคสนี้เราจะโดนขุดคุ้ยประวัติว่า เราเคยทำกิจกรรมอะไรกับใครมาก่อน แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่เราทำกิจกรรมมาเยอะแล้ว เค้าก็เอาเราโยงไปกับนักการเมือง นักกิจกรรมรุ่นพี่ เครือข่ายการเมือง โดยที่แท้จริงแล้วกิจกรรมที่เราออกไปทำไม่ได้เกี่ยวกับคนกลุ่มนั้น ถ้าถามว่ารู้จักมั้ยก็รู้จัก แต่เราก็ไม่ได้อะไรจากเขา”

 

“เราก็รู้สึกท้อมากช่วงนึง เรารู้สึกว่ากฎหมายไทยยังปกป้องประเด็น cyber bullying ได้ไม่ดีเลย ไม่ปกป้องเราเลย”

 

“การต่อสู้มันมี 2 แนวทาง วิธีการแรกก็คือสยบยอมตามที่สังคมให้เราทำ เช่นการประณีประนอม การใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งถามว่าเราเป็นอย่างนั้นไหม ก็ไม่ เรียกว่าเราไม่เป็นเลยดีกว่า เพราะเราไม่เห็นด้วยว่าเราจะสู้เพื่ออะไรบางอย่าง แล้วทำไมเราต้องสู้ด้วยวิธีการที่เขากำหนดมาให้เราสู้ด้วย เราควรที่จะสู้ไปเลย เอาให้สุด จะใช้อารมณ์หรืออะไรก็เป็นสิทธิของเราที่เราจะโกรธ สิทธิที่เราจะอินในเรื่องที่เรามี passion มันก็ไม่แปลกที่เราจะดูใช้อารมณ์หรือเกรี้ยวกราดในบางที”

 

“ถ้าถามว่าเรารู้ไหมว่าการใช้อารมณ์อาจจะทำให้คนบางกลุ่มมีอคติกับเรา เราก็รู้นะ แต่ว่าเราก็ยังอยากที่จะยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อ มากกว่าที่จะให้ทุกคนยอมรับเรา แต่เราต้องเสียอะไรบางอย่างของเราไป”

 

“คือมีหลายจุดที่เราอยากยอมแพ้ แล้วเลิกเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฟมินิสต์ หรือเรื่องประชาธิปไตย เวลาที่โดนโจมตีก็จะมีจุดนึงที่ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องมาโดนโจมตีแบบนี้ ถ้าเราเงียบๆ เราก็ไม่โดนแล้ว แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง เราก็จะรู้สึกว่า สิ่งนี้แหละเป็นหลักและคุณค่าที่เรายึดถือ ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ สิ่งนี้คืออุดมการณ์ของเรา แม้เราจะพยายามเบาลงก็ไม่ได้ สุดท้ายเราจะกลับมาที่อุดมการณ์ของตัวเราเอง กลับมาในเรื่องที่ว่าเราเชื่อในสิทธิมนุษยชน แล้วเราเชื่อว่าเราต้องสู้ต่อไป และสิ่งที่เป็นกำลังใจให้กับเราเวลาเราเหนื่อยหรือไม่อยากทำต่อ ก็คือกำลังใจจากคนที่ติดตามเรา หลายคน follow เราในทวิตเตอร์ หรือช่องทางต่างๆ ถึงแม้เขาจะได้รู้จักเราเป็นการส่วนตัว แต่หลายคนก็พิมให้กำลังใจเรามายาว เราก็ดีใจมากๆ ว่าท้ายที่สุดสิ่งที่เราทำมันมีคนเห็น เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว แต่ว่ามันมีคนได้ยิน”

 

“เร็วๆ นี้เวลาเราไป flash mob ก็จะมีคนเข้ามาหา เข้ามาชื่นชม ให้กำลังใจ ขอถ่ายรูป เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามทำ มันมีคนฟัง มีคนติดตามจริงๆนะ การที่บอกว่าเราเป็นเฟมินิสต์และพูดเรื่องเฟมินิสต์ มันไม่ได้เสียเปล่า มีหลายคนเข้ามาบอกกับเราว่าที่เขากล้าเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ได้ ก็เพราะเรา”

 

“ปกติเราก็หากิจกรรมทำกับเพื่อน กินกาแฟ ไปคาเฟ่ แต่ถ้ามันหนักไม่ไหวจริงๆ เราก็ไปหานักจิต ซึ่งปกติก็หาอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ปัจจุบันก็เข้าถึงง่ายขึ้น เราก็ยังแนะนำคนอื่นว่าถ้าไปเจออะไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ การไปหานักจิตไม่ใช่อะไรที่เสียหายเลย”

 

“ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จตรงที่เราหาแนวร่วมได้เยอะ อย่างเช่น Femtwit ที่เขาเรียกกัน ทุกวันนี้ก็มีจำนวนไม่ใช่น้อย ๆ จากคำด่า ทุกวันนี้คนก็เรียกตัวเองเป็นเฟมทวิตกันเยอะ เราคิดว่ากระแสนี้เก๋มาก และน่านำไปศึกษาต่อ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่กันแค่ในโลกออนไลน์ พวกเราก็ไปม็อบ หรืออย่างในม็อบตุ้งติ้ง เวลาถามว่าใครเป็นเฟมทวิต ก็มีคนแสดงตัวเยอะเลย มันทำให้เห็นว่าพวกเราฝั่งเฟมินิสต์ก็พร้อมสู้เหมือนกัน”

 

“เราอยากให้ทุกคนมีความกล้า เพราะขั้นตอนแรกก่อนที่จะออกมาพูดอะไรซักอย่างมันยากที่สุด ทำให้แน่ใจว่าตัวเองพร้อมในทั้งด้านจิตใจและร่างกายว่าเราอยากออกมาพูดสิ่งนี้จริงๆ เชื่อในสิ่งนี้จริงๆ ถ้าพร้อมแล้วก็พูดออกมาเลย อย่าปล่อยให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเรามาทำลายกำลังใจเราได้ เราต้องเชื่อในคุณค่าที่เรายึดถือ”

 

--------------------------------------

 

 

สิรินทร์ มุ่งเจริญ ปัจจุบันเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ ปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัด Spring Movement และ สำนักพิมพ์เฟมินิสต์สามย่าน