Op-ed : “ศูนย์ต้านข่าวปลอม” ช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ให้รัฐบาลอย่างไรในช่วง COVID-19
1 พฤษภาคม 2563
Amnesty International Thailand
บทความโดย ธนิษฐ์ นีละโยธิน
ศูนย์ต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2562 เพื่อกลั่นกรองและเตือนให้ประชาชนทราบถึง “ข่าวปลอม” ซึ่งสร้างผลกระทบ “ต่อชีวิตประชาชน สร้างความแตกแยกในสังคม สร้างความเชื่อที่ผิดต่อสังคม และทำลายภาพลักษณ์ประเทศ” (ตามหลักเกณฑ์ของศูนย์ ฯ)
ขณะนี้ศูนย์ ฯ มีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ติดตามกว่า 57,000 ผู้ติดตาม เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 เป็นต้นมา ศูนย์ ฯ ใช้เพจเฟซบุ๊ก “Anti-Fake News Center Thailand” สื่อสารกับประชาชนว่าข่าวใดเป็น “ข่าวจริง” และ “ข่าวปลอม”
เราสังเกตเห็นความน่าสนใจในปฏิบัติการของเพจนี้ในบริบทของการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล ในระหว่างการติดตาม พบว่าหลายโพสต์มีเนื้อหาที่เป็นข้อถกเถียงในสาธารณะและกระทบต่อภาพลักษณ์ในด้านการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล เราจึงรวบรวมโพสต์และข้อมูลที่น่าสนใจที่เชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นในระหว่างเดือนมกราคมถึง 24 เมษายน เพื่อนำมาวิเคราะห์การสร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์ผ่านการเลือกใช้คำ การจัดวางโครงสร้างของแต่ละโพสต์ และการใช้ภาพกราฟฟิกในโพสต์
คำเตือน : บทความนี้ไม่มีจุดประสงค์เพื่อคลี่คลายข้อถกเถียงหรือโต้แย้งข้อเท็จจริง เนื่องจากเราเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคือสิ่งสำคัญเหนือ “ความจริง” ที่ใครมีอำนาจก็ยึดครองไว้ได้
“ภาวการณ์บริหารสถานการณ์ของรัฐบาล” พีคที่สุด
เราสามารถรวบรวมและสำรวจโพสต์ทั้งหมด 38 โพสต์ (ม.ค. (7); ก.พ. (5); มี.ค. (11); เม.ย. (15)) ตามขอบเขตประเด็นที่ตั้งไว้ข้างต้น และต่อไปนี้คือสิ่งที่อยากจะเล่าให้ฟัง
ในเดือนมกราคม ในช่วงที่เริ่มมีข่าวว่าโควิด-19 เริ่มระบาดไปในหลายประเทศ และตามมาด้วยการตั้งคำถามถึงมาตรการป้องกันของรัฐบาลไทย เพจศูนย์ ฯ ติดป้ายข่าวปลอมให้กับเนื้อหาที่เกี่ยวกับ “มาตรการควบคุมโรคของรัฐไทย” (อ่านคำอธิบายของประเภทเนื้อหาของเราได้ใน ภาคผนวก 2) มากที่สุด (3 จากทั้งหมด 7 โพสต์)
ในเดือนกุมภาพันธ์ เพจศูนย์ ฯ ไม่มีการแจ้งเตือน “ข่าวปลอม” ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในจำนวนที่มากเท่ากับเดือนอื่น ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากมีผู้ติดเชื้อสะสม 42 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ในช่วงปลายเดือน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแย้มว่าอาจใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร “ในการควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค”
มีนาคมเป็นเดือนแห่งวิกฤตความเชื่อมั่นในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลก็ว่าได้ 1 มีนาคม คนไทยคนแรกเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว เพจศูนย์ ฯ ทำงานอย่างหนักในประเด็น “มาตรการควบคุมโรคของรัฐไทย” อีกครั้ง (6 จากทั้งหมด 14 โพสต์) และเราเริ่มเห็นเพจศูนย์ ฯ แตะประเด็น “คอร์รัปชันของรัฐ” เป็นอันดับรองลงมา (3 โพสต์)นอกจากนี้ เราพบเห็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรการควบคุมโรคและประสิทธิภาพในการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาลไทยอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่นกรณีของ “แหม่มโพธิ์ดำ” โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ ในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด อ้างว่าคนสนิทของรัฐมนตรีคนหนึ่งกักตุนหน้ากากอนามัยหลักล้านชิ้น และกรณีของคุณดนัย อุศมา โพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าไม่มีการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งต่อมาตำรวจกล่าวหาว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ เป็นเดือนแห่งวิฤตความเชื่อมั่นในการบริหารของรัฐบาล จนกระทั่งมีประชาชนกว่าสามหมื่นรายชื่อแสดงพลังผ่าน change.org เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาออกจากตำแหน่ง
เดือนเมษายน เพจศูนย์ ฯ เดินหน้าติดป้าย “ข่าวปลอม” ที่เกี่ยวกับ “ภาวการณ์บริหารของรัฐบาล” แซงทุกประเด็น (8 จากทั้งหมด 17 โพสต์) ซึ่งมีเนื้อหาตอกย้ำว่ารัฐบาลยังมีประสิทธิภาพและมีความพร้อมในการควบคุมโรค อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์ ของรัฐบาลในเดือนนี้ดูไม่ค่อยจะสู้ดีนัก การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนหลักร้อยรวมตัวบริเวณกระทรวงการคลังประท้วง “โครงการเราไม่ทิ้งกัน”
Engagement จากแอคเค้าท์ที่น่าจับตามอง
โพสต์ของเพจศูนย์ ฯ บางโพสต์ได้รับ “engagement”หรือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้เฟซบุ๊กยิ่งกว่าเพจ “ไทยคู่ฟ้า” เพจประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเสียอีก
Engagement ก็คือการกดแชร์ กดรีแอคชั่น (ไลก์ รัก ฮ่า ๆ ว้าว โกรธ เศร้า) และคอมเมนต์ในโพสต์ เราพบว่าโพสต์ได้รับengagement มากที่สุดจากการกดปุ่มแสดงความรู้สึก รองลงมาคือการแชร์ และคอมเมนต์ ตามลำดับ
เราอยากชวนตั้งข้อสังเกตคอมเมนต์ใต้โพสต์ทุกโพสต์ จากการสังเกตเบื้องต้น เราเห็นบางแอคเค้าท์เข้ามาแสดงความเห็นสนับสนุนเพจศูนย์ ฯ เป็นขาประจำ และบางแอคเค้าท์แสดงความเห็นในลักษณะยุยงให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีเพื่อลงโทษคนเผยแพร่ “ข่าวปลอม” เมื่อเราสำรวจโปรไฟล์ของแอคเค้าท์เหล่านั้นแล้ว พบว่าหลายแอคเค้าท์มีลักษณะเฉพาะ เช่น มีการตั้งชื่อโปรไฟล์ที่ค่อนข้างแตกต่าง (เช่น เป็นประโยคบอกเล่า หรือ มีการเล่นคำ) แชร์เพียงข่าวจากเพจของฝ่ายรัฐบาลและทหารบกจำนวนหลายโพสต์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง บางครั้งแชร์โพสซ้ำ 3-5 รอบ ไม่มีเพื่อนบนเฟซบุ๊กมาคอมเมนต์หรือกดไลก์ มีเพื่อนบนเฟซบุ๊กเพียงหลักสิบคน และปรากฏโพสต์แรกของแอคเค้าท์เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หรืออาจเดาได้ว่าเพิ่งสร้างแอคเค้าท์ขึ้นใหม่เฉพาะกิจ
นอกจากนี้ จากการสำรวจการแชร์โพสต์ของเพจศูนย์ ฯ พบว่าหลายโพสต์ถูกแชร์ไปยังแอคเค้าท์สาธารณะอื่น เช่น เพจสาธารณะ หรือกลุ่มสาธารณะ ทั้งที่เป็นของหน่วยงานภาครัฐระดับภูมิภาคและท้องถิ่น กองทัพ โรงเรียนรัฐบาล สื่อของรัฐหรือเอกชนที่มีอุดมการณ์เดียวกับรัฐบาล และเพจสาธารณะอิสระ (เราขอสงวนการเปิดเผยรายชื่อเพจสาธารณะเหล่านี้) แอคเค้าท์สาธารณะเหล่านี้มีผู้ติดตามตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักแสน ซึ่งแปลว่าการแชร์นี้ช่วยให้โพสต์ของเพจศูนย์ ฯ ไปยังผู้ใช้เฟซบุ๊กในวงกว้างขึ้นทุกระดับ
เราเห็นข้อมูลในเชิงตัวเลขกันไปแล้ว ต่อไปนี้เราจะชวนไปสำรวจข้อมูลที่ปรากฏในโพสต์บ้าง
ข่าวปลอม กับ บรรยากาศที่น่าหวาดระแวง
โพสต์ติดป้าย “ข่าวปลอม” ทุกโพสต์มีลักษณะสร้างบรรยากาศที่น่าหวาดระแวง ความคลุมเครือ และข่มขู่ เราสำรวจการใช้คำ การเรียบเรียงโครงสร้างเนื้อหา และการใช้รูปภาพกราฟฟิกซึ่งปรากฏในโพสต์ของศูนย์ ฯ อย่างมีแบบแผน
ทุกโพสต์เริ่มต้นด้วยการเตือนผู้อ่านด้วยการขึ้นต้นว่า “ข่าวปลอม อย่าแชร์!❌” เขียนแบบนี้อาจนำไปสู่การลดทอนโอกาสในการไตร่ตรองของผู้อ่านว่า “ข่าวปลอม” นี่มันปลอมจริง ๆ ใช่ไหม
หลังจากเตือนด้วยคำ cliché อย่าง “ข่าวปลอม” พร้อมสั่งห้ามแชร์แล้ว เพจศูนย์ ฯ ก็สร้างมายาคติว่าสื่อออนไลน์ (ซึ่งศูนย์ ฯ คงกำลังหมายถึงเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ ไลน์ เว็บไซต์) เป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย ต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยข้อความว่า “ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ...” หรือ “ตามที่มีข่าวปรากฏและกำลังมีการพูดถึงเป็นอย่างมาก...” ตามด้วยหัวข้อหรือพาดหัว “ข่าวปลอม” ยาวหนึ่งบรรทัด ซึ่งในบางโพสต์เพจศูนย์ ฯ เขียนขึ้นจากเนื้อหาใน “ข่าวปลอม” นั้น ๆ
เอาเข้าจริง ผู้อ่านบางคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่าข่าวนี้พูดถึงอย่างมากที่ใด เมื่อไหร่กัน “สื่อออนไลน์” ที่ว่าหมายถึงเพจเฟซบุ๊กใด หรือเว็บไซต์ใด
จากนั้นโพสต์ของศูนย์ ฯ สรุปเนื้อหาบางส่วนของ “ข่าวปลอม” เหลือเพียงสี่ถึงห้าบรรทัด โดยไม่ระบุแหล่งของข่าวดังกล่าว ภาพกราฟฟิกในบางโพสต์แสดงภาพแคปหน้าจอ (screenshot) ของข่าวนั้น โดยปกปิดอัตลักษณ์ของผู้แชร์
การนำเสนอที่คลุมเครือ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วนและปกปิดที่มาของข้อมูล ลดโอกาสของผู้อ่านในการเข้าไปค้นคว้า พิจารณา และตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งด้วยตนเอง อีกทั้งยังสร้างความหวาดระแวงแก่ผู้อ่านได้ว่า เราอาจพบเจอเนื้อหา “ข่าวปลอม” นี้ที่ใดก็ได้ในสื่อออนไลน์
ความเป็น “ข่าวปลอม” หรือ ความปราศจากซึ่งข้อเท็จจริง ถูกตอกย้ำต่อไปอีกด้วย “ข้อเท็จจริง” ในปริมาณกว่าสองเท่าของเนื้อหา “ข่าวปลอม” ในย่อหน้าก่อน โดยโพสต์ของศูนย์ ฯ อ้างว่าได้ “ตรวจสอบข้อเท็จจริง” ในเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ในย่อหน้าถัดมา โพสต์ของศูนย์ ฯ ปิดท้ายด้วยข้อความว่า “ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ” และ “เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารทางภาครัฐที่ถูกต้อง...สามารถติดตามได้ที่...[ชื่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง]” เราวิเคราะห์ว่าการสื่อสารเช่นนี้กำลังสร้างภาพที่ว่าประชาชนไม่ควรคิดวิเคราะห์ความจริงเท็จด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการบั่นทอนสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างเต็มที่ของประชาชน โดยต้องพึ่งพาอาศัยรัฐ และรัฐนี่แหละเป็นผู้ยึดครอง “ความจริง” แต่เพียงผู้เดียว วิธีการเช่นนี้บั่นทอนศักยภาพของประชาชนในการค้นคว้าข้อมูลจากหลากหลายแหล่งและศักยภาพในการพิสูจน์และเชื่อในข้อมูลที่เขาพิจารณาว่าเป็น “ความจริง” และที่สำคัญ การไม่เชื่อใน “ความจริง” ที่รัฐกำลังนำเสนอ อาจก่อให้เกิดผลที่ตามมา นั่นก็คือ การดำเนินคดีตามกฎหมาย
เหตุใดผู้อ่านจึงอาจมีความคิดเช่นนั้น ก็เพราะเรามีรัฐบาลที่ขู่ประชาชนทางโทรทัศน์อยู่แทบทุกวัน หรือถ้าเลื่อนลงมาอ่านคอมเม้นต์ใต้โพสต์ ก็จะพบแอคเค้าท์ที่น่าสงสัย (ดังที่นำเสนอข้างต้น) แสดงความเห็นในลักษณะยุให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีตามกฎหมายกับคนแชร์ “ข่าวปลอม”
ภาพกราฟฟิกส่งเสริมให้ “ข่าวปลอม” ดูเป็นเรื่องความผิดทางอาญา โดยใช้รูปภาพประทับตรา “ข่าวปลอม” ที่วางไว้กลางภาพ ผู้อ่านคงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับ ประทับตราน้ำหมึกสีแดงที่อยู่บนเอกสารราชการ มักเป็นข้อความที่แสดงถึงความเร่งด่วน สำคัญ และสีแดงมักถูกใช้เป็นสีอักษรพาดหัวข่าวในข่าวอาชญากรรม
ก่อนจบบทความนี้ เราอยากชวนไปสำรวจโพสต์ของศูนย์ ฯ ที่พอค้นคว้าข้อมูลลึกลงไปแล้วเกิดคำถามว่า “นี่ข่าวปลอม หรือ ความจริงที่ไม่ตรงใจเธอจริงเหรอ?”
จากข้อมูลที่เราเก็บมา พบว่ามีอย่างน้อยเก้าโพสต์ที่เกิดข้อสงสัยเช่นนั้น โดยขอยกมาให้ดูเพียงบางโพสต์ ดังนี้

อนุทินชาญวีรกูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าว
แต่ในเวลาต่อมา วันที่ 25 มกราคม กรมควบคุมโรคประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าเป็นการเข้าใจผิดเพราะกระทรวงยังคงมาตรการคัดกรองผู้โดยสารจากจีนอย่างเข้มอยู่ และกล่าวว่าข่าวที่ปรากฏในสื่ออาจสร้างความสับสน
จากนั้นว๊อยซ์ ออนไลน์สรุปประเด็นข้อถกเถียงพร้อมตั้งคำถามถึง “ข่าวลวง”
- 2. กรณี “หน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ เป็นไมโครพลาสติกสูดดมอาจเสี่ยงมะเร็ง” (โพสต์เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563)
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 พีพีทีวี รายงานว่า สิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐแจกหน้ากากให้ประชาชนหมื่นชิ้น
ต่อมาในวันเดียวกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีโพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าได้วิเคราะห์วัสดุที่ใช้แล้วพบว่าหน้ากากดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
จากนั้น สื่อบางแห่งนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ต่อ
วันที่ 4 มีนาคม สิระ เจนจาคะบอกว่าจะดำเนินคดีกับผู้ผลิตหน้ากากหลังปรากฏข้อมูลจากอาจารย์คนดังกล่าว แต่ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม สิระ แจ้งความเอาผิดอาจารย์คนนั้นข้อหาทำเสียชื่อเสียง
----------------------------------
ภาคผนวก1 : ตารางประเด็นของโพสต์ของเพจศูนย์ ฯ แบ่งตามประเภท
ภาคผนวก 2 : คำอธิบายประเภทของเนื้อหา
เราจัดประเภทเนื้อหาของ “ข่าวปลอม” ออกเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้
1. มาตรการควบคุมโรคของรัฐไทย
มาตรการที่ออกโดยรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
2. ความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19
ความเป็นไปของโควิด-19 ซึ่งหมายถึงในแง่ขอบเขตและความรุนแรงของสถานการณ์ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นต้น
3. ข้อมูลสุขภาพเพื่อป้องกันดูแลตัวเอง
ข้อเสนอแนะและข้อกังวลที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
4. การคุกคามสิทธิเสรีภาพ
การปิดกั้นการเข้าถึงหรือการจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19
5. มาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐไทย
มาตรการของรัฐบาลที่ช่วยให้ประชาชนปลอดภัยหรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
6. ภาวการณ์บริหารของรัฐบาล
ความพร้อมและประสิทธิภาพในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ
7. คอร์รัปชันของรัฐ
การทุจริตที่เกิดขึ้นภายในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19