แอมเนสตี้ ประเทศไทย แถลงกรณีจับศิลปินชาวภูเก็ต หลังโพสต์กลับจากสเปนไม่ถูกคัดกรอง  'โควิด-19ที่ 'สุวรรณภูมิ'

25 มีนาคม 2563

Amnesty International Thailand

ภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่าศิลปินจากภูเก็ตถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเพราะโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ไม่มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเผยว่า การควบคุมตัวและดำเนินคดีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐอย่างสงบ เป็นสัญญาณให้เห็นถึงการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนก่อนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือและกว้างขวางเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มักถูกใช้เป็นเครื่องมือฟ้องปิดปากบุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล

 

“ทางการไทยต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และรับรองว่าข้อจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนใดๆ ต้องเป็นไปตามหลักแห่งความจำเป็นและความได้สัดส่วนเท่านั้น

ทางการไทยต้องรับรองว่า ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะไม่ใช้มาตรการจัดการกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยพลการและบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายดนัย อุสมา ศิลปินวัย 42 ปีจากแกลลอรี่ในจังหวัดภูเก็ตตามหมายจับศาลอาญา หลังโพสต์ข้อความว่าตนได้เดินทางกลับจากประเทศสเปน และพบว่าไม่มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ

ต่อมา เขาถูกส่งตัวมายังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14(2) แห่งพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 "นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" ในวันต่อมานายดนัยได้การรับประกันตัวด้วยวงเงิน 100,000 บาท

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน เพื่อตอบสนองต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเตือนผู้คนให้ระมัดระวังการเผยแพร่ข้อความบนโซเชียลมีเดีย และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับการให้ข่าวสาร “บิดเบือน” ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงว่าจะใช้มาตรการใดระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะนำไปสู่ข้อจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักการความจำเป็นและความได้สัดส่วน