“ความกล้าไม่ได้มาจากตัวเอง” คุยกับทนายจูนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

17 กันยายน 2561

สัมภาษณ์โดย วิรดา แซ่ลิ่ม

ถ่ายภาพโดย ยศธร ไตรยศ

ลูกอีสาน ลีลาการเต้นประมาทไม่ได้ ชอบกินส้มตำ และนอนในวันหยุด เหล่านี้คือข้อมูลไม่มาก แต่ก็ไม่ได้เห็นง่ายๆ เมื่อเทียบกับภาพที่ออกตามสื่อของทนายรุ่นใหม่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ทนายจูน

 

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทนายจูนเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้หญิงไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัล "ผู้หญิงกล้าหาญนานาชาติ" (International Women of Courage Award) รางวัลที่เป็นผลมาจากการทำงานหลังเกิดการรัฐประหารในปี 2557 เรื่องราวของทนายจูนเป็นที่รู้จักหลังจากเธอตกเป็นผู้ต้องหาจากการทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ท่ามกลางเสียงชื่นชม และกำลังใจจากผู้คนทั่วโลก ทนายจูนยืนยันว่า ความกล้าหาญนี้ ถูกส่งต่อมาอีกทีจากลูกความของเธอ กลุ่มคนที่กลายเป็นผู้ต้องหาจากการยืนยันว่า สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตยต้องไปด้วยกัน

 

ในวันหยุดที่รถติด ณ คอนโดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เราชวนทนายจูนนั่งคุยกันแบบชิลๆ เรื่องชีวิตและสิทธิมนุษยชน

 

ทนายจูนช่วยแนะนำตัวให้คนที่ไม่ได้อยู่แวดวงการเมืองและสิทธิมนุษยชนรู้จักหน่อย

 

ชื่อจูน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ คนเรียกว่าทนายจูน มาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารปี 57 แล้วก็ถูกคดีเพราะว่าไม่ให้เจ้าหน้าที่เขาค้นรถลูกความของเราเพราะเขาไม่มีหมายค้นตามกฎหมายและเพื่อที่เราจะคุ้มครองสิทธิของลูกความธรรมดาๆ ของเรานี่แหละ ก็เลยโดนคดีไปด้วย

 

พอเราไม่ให้ค้นรถ เขาก็เลยบอกว่าเราไม่ทำตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ต่อมา พอเราบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทำตามกฎหมาย เขาก็กล่าวหาเรากลับมาว่าเราแจ้งความเท็จ ตอนนั้นลูกความของเราคือนักศึกษา 14 คนที่ออกมาชุมนุมอย่างสงบเรียกร้องไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เขาถูกคดี 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น กับพ.ร.บ.ชุมนุม ทางเจ้าหน้าที่เขาก็แจ้งความคดีเราข้อหาเดียวกันกับลูกความ คล้ายๆ ว่าเอาทนายไปกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเอง ก็รวมกันสามคดี

june-03.jpg

ทำไมถึงมาเป็นทนายความ?

 

จริงๆ ตั้งแต่เด็กไม่ได้อยากเป็นทนายเลย ตอนเด็กก็มีความฝันหลายอย่าง อยากเป็นครูบ้าง อยากเป็นนักการทูต เพราะอยากเดินทาง เป็นคนชอบคุยกับชาวต่างชาติ คุยกับเพื่อนต่างชาติ ชอบวัฒนธรรมหลากหลาย อีกเหตุผลที่ไม่อยากเป็นเพราะพ่ออยากให้เป็นทนายตอนเด็ก เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบให้ใครบังคับ จนครั้งหนึ่งเราเคยมีประสบการณ์ว่ามีกลุ่มชาวบ้านที่เขาขาดโอกาส เราอยากจะช่วยเขา ก็คิดว่าถ้าเราอยากจะช่วยเขาทำไงให้เรามีศักยภาพที่จะทำได้ ก็มีคนบอกว่าเรียนกฎหมายมันเป็นประโยชน์ได้ เราคิดว่าเราจะเอามันมาเป็นประโยชน์กับคนที่เขาขาดโอกาส ก็เลยเรียนกฎหมาย พอเรียนกฎหมาย ทนายความก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความเป็นไปได้ที่เป็นแล้วมันจะช่วยสังคมในระดับกว้างได้ ก็เลยมาเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชน

 

ที่บ้านว่ายังไงบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด?

 

จริงๆ เชื่อว่าพ่อแม่ก็ไม่อยากให้มาทำตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

 

แต่พ่ออยากให้เป็นทนาย?

 

พ่ออยากให้เป็นทนายที่ทำงานด้านธุรกิจ หรือว่าไม่ต้องมาทำงานที่มันเสี่ยง เรียนนิติศาสตร์มาก็คงคาดหวังสูงสุดตามสังคมก็คืออยากให้เป็นอัยการ ผู้พิพากษามากกว่า อีกอย่างหนึ่งคือไม่ค่อยเมคมันนี่อะ ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คนก็อาจจะมองว่ามันลำบาก แต่ทำมาตั้งแต่เรียนจบจนทุกวันนี้ 8-9 ปีแล้ว พ่อแม่ทำความเข้าใจแล้วก็รับได้แล้วแหละ เป็นเหมือนพ่อแม่ของคนอื่นๆ แหละที่สุดท้ายจะเคารพการตัดสินใจของเรา แล้วก็หันมาสนับสนุนงานเรา เดี๋ยวนี้เขาก็กลายเป็นหนึ่งในแฟนคลับเราแล้ว โดยเฉพาะหลังโดนคดีมา เขาจะเป็นแฟนคลับเรามากกว่า อยากขอข่าวขอรูปไปแลกเปลี่ยนคุยกับเพื่อนๆ หลังๆ เราก็เห็นว่าเขาภูมิใจ

 

ถ้าเราทำงานที่มันยากมากๆ แล้วคนหลังบ้าน คนใกล้ตัวเราให้กำลังใจ สนับสนุนเรา สิ่งที่มันยาก มันก็ง่ายขึ้นเยอะ ดังนั้นเราคิดว่าการทำงานตรงนี้มันก็ต้องมั่นคง ต้องพิสูจน์ให้คนใกล้ตัวเราเห็นด้วยว่าสิ่งที่เราทำ มันเพื่อเขาด้วย

 

เวลาเครียดรับมือยังไง?

 

วันไหนว่างก็นอน ถ้าเครียดมากๆ จะชอบระบายสี ไม่ได้ระบายเอาความสวยงาม ระบายแบบทำสมาธิอยู่กับตัวเอง ร้องคาราโอเกะบ้าง ส่วนใหญ่ก็กิน คุยกับเพื่อนร่วมงานเสร็จก็ต้องหาทางคุยกับคนอื่น

 

สำคัญไหมที่จะต้องสร้างความสมดุลในชีวิต?

 

สำคัญ ถ้าเรามองว่าเรามาทำตรงนี้ไม่ใช่แค่เพื่ออุดมคติสูงสุดแก่คนอื่น แต่เพื่อตัวเราเองด้วย เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตัวเราเองก็ต้องมีชีวิตที่ดีด้วย ก็พยายามบาลานซ์ชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว

 

คนอื่นมองว่าเรากล้าหาญ ทนายจูนมองตัวเองยังไง เคยรู้สึกกลัวไหม?

 

ความกล้าหาญ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คนข้างนอกมองเรา เป็นสิ่งที่คนอาจจะชื่นชมเรา แต่เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เราก็มีความกังวลว่าพอเรามาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการคุกคามได้ง่ายๆ มันทำให้เรากังวลว่าเราจะทำหน้าที่ดูแลคนที่เรารัก หรือส่วนอื่นๆ ของชีวิตได้น้อยลงหรือเปล่า หรือว่ามันจะกระทบเขาด้วยไหม ในหน้าที่การงานเรื่องสิทธิมนุษยชนเราก็ทำเต็มที่อยู่แล้ว ถ้าจะมีความกังวลก็จะกังวลเรื่องภาระส่วนตัว ชีวิตส่วนตัว

 

june-05.jpg

เคยคิดอยากหนีไปจากประเทศนี้ไหม?

 

ไม่เคย เวลามีคนถามเราก็ตอบได้แบบไม่ชะงัก ตอบได้เลยว่าจะทำงานอยู่ประเทศไทย ตั้งแต่ตอนที่เราไปเรียนอยู่ต่างประเทศ ทุกคนก็บอกว่าอย่าเพิ่งกลับมา เพราะคุณมีโอกาสแล้ว ทำงานต่างประเทศไปเลย แต่ก่อนเรียนจบเราวางแผนแล้วว่าเราจะกลับมาทำงานที่ไทย จนกระทั่งถูกคดี เราก็ยืนยันว่าจะทำที่นี่ เพราะตราบใดที่ยังมีคนสู้ เราจะหนีไปไหน ตราบใดที่สังคมมันยังเป็นอย่างนี้ จนกว่าวันหนึ่งที่สังคมไม่ต้องการคนที่เรียกว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว น่าจะเป็นเวลาที่แบบ...สู่สุขคติ ปลายทางอุดมคติ อีกร้อยปีเราอาจจะถึงจุดนั้น เราต้องมีความหวัง (ยิ้ม)

 

จริงๆ ทุกสังคมมันมีประเด็นความท้าทายของมันเอง เพราะมันไม่มีสังคมอุดมคติที่หยุดตรงนี้แล้วคุณมีความสุข 100% เพราะฉะนั้นหน้าที่ของคนที่มองเห็นความไม่เป็นธรรมมันจะมีอยู่ในทุกที่ ประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เขาอาจจะไปไกลกว่าเราตรงที่เขาไม่ต้องกลับมาถกเถียงกันในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่มันยุติแล้วในสังคม ว่าคนหนึ่งคนมีสิทธิในการออกเสียง มีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าเทียมกัน เสรีภาพการชุมนุมโดยสันติทำได้เป็นปกติหากไม่มีการรบกวนหรือทำให้เกิดอันตรายกับคนอื่น เขาไปไกลจนถึงสิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย สิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิเรื่องสาธารณสุข สังคมมนุษย์มันก่อร่างขึ้นมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มันมีเส้นของมันแล้วว่าอะไรที่เป็นมาตรฐาน เขาก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ของเราถูกฉุดลงไป ความท้าทายมันก็หนักขึ้น นักปกป้องสิทธิก็ถูกคุกคามได้ง่ายขึ้น

 

จริงไหมที่ทุกคนจะสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้?

 

สำหรับตัวเราเอง โดยอาชีพทนายความและหลักการที่ทำงานมา ในสถานการณ์ที่เกิดรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง บุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องออกมาแถวหน้าเลย ออกมาปกป้องเพื่อไม่ให้คณะรัฐประหารหรือคนที่มีอำนาจมาละเมิด แต่จริงๆ มันไม่ได้ติดอยู่ที่อาชีพ ไม่ได้ติดว่าคุณต้องเป็นทนายความ หรือคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรที่มีชื่อว่าสิทธิมนุษยชน คุณสามารถเป็นใครก็ได้ อาชีพใดก็ได้ ไม่ใช่ว่างานนั้นทำให้คุณต้องทำมัน แต่ในสถานการณ์หนึ่งที่มันเกิดการละเมิดสิทธิ ในสถานการณ์หนึ่งที่มันเกิดความไม่เป็นธรรมแล้วคุณตั้งคำถาม คุณอยากจะออกมาเรียกร้อง คุณอยากจะออกมาช่วยส่งเสริมประเด็นนั้นๆ  คุณก็ทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว

 

เล่าเรื่องลูกความให้ฟังหน่อยว่าทนายจูนประทับใจอะไรในตัวลูกความบ้าง?

 

จริงๆ ลูกความที่ส่วนตัวได้คลุกคลีมาก็เป็นน้องๆ นักศึกษา นักกิจกรรม ก็เป็นเด็กปกติ ใช้ชีวิตปกติมากๆ เลย แต่สิ่งที่เราประทับใจคือ เมื่อถึงจุดที่เขาต้องยืนยันในสภาพสังคมที่มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างรุนแรง เออ เขากล้าอะ ในวัยนี้ถ้าเราย้อนกลับไปเรายังไม่กล้าทำขนาดนี้เลย เขากล้า แล้วความกล้าของเขามันส่งต่อมาให้เรา เราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเรากล้าหาญเพียงคนเดียว เพียงลำพัง ความกล้าหาญมันเหมือนกระจกที่เราส่อง เราอยู่กับคนที่เขากล้าหาญ เราก็กล้าหาญที่จะทำงานต่อ เราจึงประทับใจว่า คนๆ หนึ่ง ธรรมด๊า ธรรมดา เหมือนวัยรุ่นปกติ แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่ต้องออกมาพูด ออกมาส่งเสียงว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร เขากล้าที่จะออกมา

 

ช่วงหลังๆ ก็จะมีกลุ่ม active citizen สูงอายุหน่อย เป็นคุณลุงคุณป้า ก็ประทับใจว่า จริงๆ เขาก็ดูเป็นกลุ่มคนที่น่าจะอยู่บ้านมีชีวิตสุขสบายหลังเกษียณอะไรก็ได้ แต่ก็ออกมา แล้วบอกเราว่า จะอยู่แบบเงียบๆ เหงาๆ ไร้ค่าจนตายไม่ได้แล้ว เขาอยากจะมารวมกลุ่มกับคนที่ทนไม่ไหวกับสภาพที่มันปิดปากประชาชนขนาดนี้ ความน่ารักคือเขาจะหิ้วขนมนมเนยอะไรมาให้เรา เพราะเขาเองก็มองว่า การทำหน้าที่ของเราก็ทำให้เขากล้าที่จะออกมาชุมนุมอย่างสันติ ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เราเลยได้เห็นว่ากลุ่ม active citizen ไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ แต่มีกลุ่มคนสูงวัยที่เขาก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน