“จนกว่าสันติภาพจะกลับคืน”

4 เมษายน 2561

แปลและเรียบเรียง: ชนิกานต์ ปาลวัฒน์ 

ภาพ: หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ทั้งบอบช้ำและเหนื่อยล้าในบังกลาเทศต้องอาศัยอยู่อย่างผู้ที่ไม่มีใครต้องการ โอมาร์ วาเรซ (Omar Waraich) ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียใต้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เข้าร่วมในภารกิจสังเกตการณ์ความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยในเขตคอกส์บาร์ซาร์ (Cox’s Bazar) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาต้องอาศัยอย่างทุกข์ทรมานมานานนับศตวรรษ


‘คอกส์บาร์ซาร์’ คือ ชายหาดที่ยาวที่สุดในโลก และอาจจะเป็นไปได้ที่ชื่อนี้มีที่มาจากวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย ในปี 2327 พระเจ้าปดุง (Bodaw U Waing) พระมหากษัตริย์ลำดับที่หกในราชวงศ์คองบองของพม่า ได้โจมตีอาณาจักรอาระกัน โดยการนำทัพของพระราชโอรสและพระมหาอุปราข ครั้งนั้นทัพพม่าได้สังหาร Thamada กษัตริย์อาระกันและได้เข้ายึดครองอาณาจักร จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวอาระกันต้องหลบหนีภัยสงครามไปอาศัยในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ หลังจากนั้นบริษัทอินเดียตะวันออกได้ส่งกัปตันไฮแรม คอกส์ (Hiram Cox) มายังพื้นที่ดังกล่าวเพื่อควบคุมดูแลการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย


ปัจจุบัน เขตคอกส์บาร์ซาร์คือพื้นที่ที่ประสบกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมมากที่สุดในช่วงเวลานี้ นับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในรวันดาที่ทำให้มีผู้คนอพยพย้ายถิ่นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 เป็นต้นมา ผู้อพยพชาวโรฮิงญา 620,000 คน ต้องเดินทางเป็นวัน หรือบางครั้งก็เป็นสัปดาห์ จากหมู่บ้านในรัฐยะไข่ โดยพวกเขาต้องแบกทั้งสัมภาระและความเจ็บปวดจากการเดินเทางด้วยเท้าไปยังแม่น้ำนาฟ แม่น้ำตื้นๆที่กั้นเขตแดนระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ โดยพวกเขาฝากความหวังไว้กับคนเรือที่อาจจะหยิบยื่นโอกาสเพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นจากความทุกข์ใจที่พวกเขาต้องเผชิญ


สิ่งที่พวกเขากลัวที่สุดคือการต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงอีกครั้ง
คนเรือบังคับให้ผู้ลี้ภัยจ่ายค่าเดินทางเป็นเงินหรือเครื่องประดับที่พวกเขานำติดตัวมาด้วย ซึ่งแน่นอนว่าชาวโรฮิงญาไม่มีทางเลือก เพราะพวกเขาไม่สามารถกลับไปยังหมู่บ้านที่กลายเป็นเถ้าถ่านได้อีกแล้ว ความโหดร้ายที่พวกเขาต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การข่มขืน และการทรมาน บีบบังคับให้พวกเขาต้องแสวงหาที่อยู่ใหม่ ตลอดระยะเวลาสามเดือนชาวโรฮิงญาต้องเดินทางผ่านทุ่งนาด้วยใบหน้าที่อิดโรย เท้าที่บอบช้ำ และแววตาที่สะท้อนถึงความเศร้าใจของพวกเขา


วิกฤตการณ์นี้สร้างความตึงเครียดให้กับประชาคมด้านมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งพวกเขาก็ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างดีที่สุด โดยมีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อยู่ตามชายแดนด้วยการแจกน้ำเพื่อดับกระหายและแจกอาหารที่ให้พลังงานสูงเพื่อทำให้ผู้ลี้ภัยมีกำลังแข็งแรงขึ้น อีกทั้งยังจัดทำที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ที่อ่อนแอและต้องการนอนพัก และยังได้มีการแยกผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ไปยังแคมป์ของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยมีผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและต้องได้รับการรักษา และผู้ลี้ภัยหลายคนก็ติดโรคในระหว่างการเดินทาง หน่วยงานด้านสาธารณสุขของบังกลาเทศระบุว่าในกลุ่มผู้ลี้ภัยนั้นมีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ถึง 30,000 คน และหลายคนต้องได้รับการตรวจโดยสูตินรีแพทย์ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะปลอดภัยในตอนนี้ แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดต่อไป


ในปี 2533 ได้มีการจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอ (Kutupalong) ขึ้นเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ต้องอพยพเนื่องจากปัญหาการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ โดยค่ายกูตูปาลอนั้นตอนนี้มีความแออัดและมีการขยายออกไปอย่างมาก พื้นที่สามพันเอเคอร์ที่เมื่อก่อนคือป่าไม้ถูกแทนที่ด้วยเต็นท์ที่ทำจากไม้ไผ่และผ้าใบบางๆ สภาพอากาศบริเวณค่ายผู้ลี้ภัยก็เลวร้ายอย่างมาก แดดที่ร้อนแรงจะบรรเทาได้ก็ด้วยลมฝนในฤดูมรสุมเท่านั้น แต่ลมที่แรงนั้นก็ทำให้ที่พักพิงชั่วคราวที่ไม่มั่นคงต้องโงนเงนจนแทบพัง ซึ่งทำให้เกิดความกลัวอย่างมากในช่วงที่พายุไซโคลนจะพัดเข้ามา


ผู้ลี้ภัยในค่ายคือเหยื่ออันโอชะของผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากพวกเขา กลุ่มมิจฉาชีพและกลุ่มผู้ค้ามนุษย์คือภัยอันตรายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นที่น่ากังวลว่าผู้หญิงในค่ายอาจตกเป็นเหยื่อจากการถูกคุกคามทางเพศ เด็กๆที่ไม่ได้ไปโรงเรียนอาจตกเป็นเหยื่อจากการถูกใช้แรงงาน และพวกผู้ชายที่อายุยังน้อยอาจเป็นเป้าหมายของกล่มติดอาวุธ


รัฐบาลบังกลาเทศได้รับการชื่นชมจากการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่ความอดทนกำลังจะหมดลง เมื่อสมาชิกทั้งในคณะรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างออกความเห็นว่าทรัพยากรของบังกลาเทศนั้นมีไม่เพียงพอต่อการรับภาระเรื่องผู้ลี้ภัย ประเทศบังกลาเทศรับผู้ลี้ภัยเกือบหนึ่งล้านคนนับตั้งแต่มีการโจมตีทางทหารในปี 2513 และต้นปี 2533 และตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา


ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ประเทศบังกลาเทศและประเทศเมียนมาได้ลงนามในข้อตกลงส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับสู่เมียนมา และข้อตกลงที่คลุมเครือนี้ก็ได้ทำให้เกิดความกังวลว่าในการกลับไปคราวนี้ชาวโรฮิงญาจะไม่ได้รับความปลอดภัยและการให้เกียรติซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับ


ผู้ลี้ภัยบอกกับเราว่าพวกเขาอยากจะกลับบ้านในสักวันหนึ่ง แต่พวกเขาจะไม่กลับไปจนกว่า ‘สันติภาพ’ จะกลับคืน สิ่งที่พวกเขากลัวที่สุดคือการต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงอีกครั้ง พวกเขาไม่อยากก้มหน้ายอมรับโชคชะตาที่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีใครต้องการเหมือนกับผู้ลี้ภัยที่มายังคอกส์ บาร์ซาร์ก่อนหน้าพวกเขา