ภาพ: เครือข่ายโลกเพื่อยุติโทษประหารชีวิต

10 ปัจจัยทำไมคนจนโดนประหารชีวิตมากกว่าคนรวย

10 ตุลาคม 2560

เรื่อง: เครือข่ายโลกเพื่อการยุติโทษประหารชีวิต
แปลและเรียบเรียง: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เมื่อมองอย่างผิวเผิน หลายคนอาจมองว่าโทษประหารคือบทลงโทษที่เหมาะสมสำหรับคนที่ทำผิดร้ายแรง แต่จริงๆ แล้ว หลายครั้งโทษประหารกลับถูกใช้กับคนจนเป็นหลักเท่านั้น เพราะคนรวยที่กระทำความผิดเดียวกันมีเงิน อำนาจ และทรัพยากรในการสู้คดีจนไม่ต้องรับโทษร้ายแรง ขณะที่คนจนถูกทิ้งให้ก้มหน้ารับชะตากรรมของตัวเอง แม้ว่าพวกเขาจะทำผิดจริงหรือไม่ก็ตาม

 

ต่อไปนี้เป็น 10 ข้อเท็จจริงว่าทำไมคนจนทั่วโลกถึงถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตมากกว่าคนรวย

 

1. การศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เท่าเทียม

ระบบยุติธรรมไม่ว่าประเทศไหนทั่วโลกต่างก็มีความซับซ้อน คนที่ต้องโทษประหารชีวิตจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญ แต่คนที่มีฐานะยากจนมักไม่ได้รับการศึกษาหรือการสนับสนุนด้านความรู้ด้านกฎหมายและการเงินได้เท่ากับคนรวย พวกเขาจึงไม่เข้าใจและไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่

 

หลายครั้งพวกเขาไม่ได้แม้แต่ใช้สิทธิและประโยชน์ที่พวกเขาพึงได้รับตามกฎหมาย เพราะความไม่รู้ ในอินเดีย นักโทษประหารชีวิตกว่า 20% ไม่เคยเข้าโรงเรียน และส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย

 

2. ไม่พร้อมสู้คดีเพราะไม่มีเงินประกันตัวช่วงก่อนพิจารณาคดี

การประกันตัวช่วงก่อนพิจารณาคดีต้องใช้เงิน แต่คนที่มีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจไม่ดีจะไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวเองได้ ทำให้ต้องถูกกักขังช่วงก่อนการพิจารณาคดีไปด้วย ส่งผลให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะได้รับความช่วยเหลือและเตรียมตัวเพื่อต่อสู้คดีน้อยลงไปอีก ขณะที่คนที่มีฐานะดีสามารถจ่ายเงินแลกอิสรภาพและเอาเวลาไปเตรียมตัวเพื่อให้หลุดคดีหรือได้รับโทษน้อยที่สุดได้

 

3. ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม

ไม่มีระบบยุติธรรมใดในโลกที่ปราศจากค่าใช้จ่ายโดยสิ้นเชิง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมถือเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับคนจน โดยอุปสรรคด้านการเงินนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในคดีที่ต้องโทษประหารชีวิต เพราะการต่อสู้ทางกฎหมายแต่ละขั้นตอนจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้างทนายความที่มีเชี่ยวชาญในคดีโทษประหาร เป็นต้น ขณะที่คนรวยที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกลับสามารถจ้างทนายดีๆ มาสู้คดีจนไม่โดนโทษประหารชีวิตได้

 

ในอินเดีย กฎหมายให้สิทธิ์ในการขอคำปรึกษาด้านกฎหมายก่อนการพิจารณาคดีครั้งแรก แม้จะมีบทบัญญัตินี้ แต่ 89% ของนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตยืนยันว่าพวกเขาไม่มีตัวแทนทางกฎหมายก่อนการพิจารณาคดีครั้งแรก มีเพียงแค่ 1.6% เท่านั้นที่มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย

 

4. ประสิทธิภาพของทนายความราคาถูก

ทนายความของจำเลยที่เป็นผู้ด้อยโอกาสมักจะมีประสิทธิภาพในการสู้คดีน้อยกว่าทนายความของคนฐานะดี เนื่องจากทนายความกลุ่มดังกล่าวถูกการแต่งตั้งมาและได้รับค่าจ้างที่ต่ำ พวกเขามักขาดเทคนิคการสืบสวนและขาดประสบการณ์ในคดีโทษประหารชีวิต

 

ทนายความราคาถูกที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จำเลยที่ยากจนเสียเปรียบอย่างมากและมีโอกาสที่จะถูกตัดสินประหารชีวิตสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังไม่รู้วิธีการประเมินหรือเปรียบเทียบด้วยว่าพวกเขาได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

 

"โทษประหารชีวิตไม่ได้มีไว้เพื่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด แต่มีไว้สำหรับบุคคลที่มีทนายความที่แย่ที่สุด" — ไคลฟ์ สแตฟฟอร์ด สมิธ ผู้ก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อบรรเทาโทษผู้ต้องขัง

 

5. ขาดทรัพยากรเพื่อสร้างคำให้การที่เข้มแข็ง

การสร้างคำให้การที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือในคดีโทษประหารชีวิตจะต้องใช้ทรัพยากรและเงินจำนวนมากเพื่อสืบเสาะและรวบรวมหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย คนที่มีฐานะย่ำแย่ไม่สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเชิงลึกได้ ส่วนคนที่มีฐานะดีสามารถใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้อย่างเต็มที่มากกว่า

 

"พวกเรามีปัญหาร้ายแรงในสหรัฐฯ ระบบความยุติธรรมทางอาญาของพวกเราเป็นไปตามฐานะด้านการเงิน หากคุณเป็นคนรวยและมีความผิด ระบบของพวกเราจะปรนนิบัตรคุณดีกว่าคนจนและบริสุทธิ" — ไบรอัน สตีเวนสัน หน่วยงานริเริ่มความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน

 

6. ทุกอย่างยากขึ้นเมื่อจำเลยเป็นแรงงานข้ามชาติ

หลายประเทศมีชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาขายแรงงานหรือทำงานระดับล่าง เช่น ทำงานโรงงาน เป็นแม่บ้าน คนสวน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยโอกาสในประเทศบ้านเกิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากพวกเขาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมในประเทศปลายทาง พวกเขาจึงมีโอกาสที่จะถูกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะนอกจากอุปสรรคด้านการเงินแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญอุปสรรคด้านภาษาในการพิจารณาคดี ตลอดจนขาดแรงสนับสนุนจากสังคมภายนอกด้วย

 

ตามกฎหมายชารีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ของซาอุดีอาระเบีย ครอบครัวของเหยื่ออาจเลือกที่จะให้อภัยจำเลยเพื่อแลกกับเงินชดเชยได้ แต่จำเลยที่เป็นแรงงานอพยพมักไม่มีเงินมาจ่าย พวกเขาจึงต้องถูกประหารชีวิตไปโดยปริยาย

 

จะเห็นว่าแม้จะมีทางรอด แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็ถูกประหารชีวิตอยู่ดี เพียงเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจทางการเงิน สังคม หรือการเมืองมากพอ

 

7. ความลำเอียงและอคติต่อคนจน

ในระบบยุติธรรมในหลายประเทศ ผู้พิพากษาหรือคณะลูกขุนอาจมีความลำเอียงอย่างชัดเจนหรือแสดงให้เห็นเป็นนัย เพราะพวกเขามีอคติต่อจำเลยที่มาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจอันย่ำแย่ จึงทำให้จำเลยมีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกตัดสินประหารชีวิตสูงกว่าคนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป

 

8. คอร์รัปชัน

การทุจริตเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายในหลายหน่วยงานของหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงตำรวจ ระบบตุลาการ และแม้แต่กลุ่มผู้พิพากษาเอง คนที่มีความสามารถทางการเงินหรือมีอิทธิพลในพื้นที่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ล็อกผลการพิจารณคดีให้น่าพึงพอใจได้ด้วยซ้ำในบางกรณี ส่วนคนด้อยโอกาสกลับต้องทนเห็นคำร้องขอของพวกเขาถูกดำเนินการอย่างล่าช้า ถูกปฏิเสธ หรือถูกยกเลิกอย่างไม่เป็นธรรม

 

คอร์รัปชันทุจริตยังเป็นของคู่กับเรือนจำที่มีสภาพย่ำแย่ เพราะการให้สินบนอาจเป็นหนทางเดียวที่ทำให้นักโทษสามารถอยู่รอดได้ นอกจากนี้ การทุจริตยังแทรกซึมไปถึงระบบการอภัยโทษและการลดโทษในบางประเทศอีกด้วย

 

ในไนจีเรีย ตำรวจมักเรียกเงินจากจำเลยเพื่อแลกกับการปล่อยตัว การติดสินบนกลายเป็นเรื่องปกติในกระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่การสอบปากคำของตำรวจไปจนถึงการจำคุก

 

“ผมไปสถานีตำรวจเพื่อเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งที่ถูกตำรวจ ผมบอกพวกเขาว่าเพื่อนของผมไม่ควรถูกจับ แต่จากนั้นพวกเขากลับจับผมด้วย ตำรวจบอกให้ครอบครัวของผมจ่ายเงินแต่ครอบครัวของผมไม่มีเงินพอ ผมถูกนำตัวไปขึ้นศาล ไม่มีใครอยู่ที่นั่น ไม่มีแม้แต่โจทก์ในคดีปล้นที่ผมโดนยัด ผมเลยถูกยัดข้อหาฆาตกรรมแทน โจทก์ทั้งหมดของผมคือพวกตำรวจนั่นเอง สุดท้าย ผมถูกไต่สวนถึงหกวัน และในวันที่เจ็ด ผมถูกตัดสินประหารชีวิต” — อาร์เทอร์ จูดาห์ แองเจิล อดีตนักโทษประหารชีวิตชาวไนจีเรีย

 

9. ความเป็นอยู่อันโหดร้ายในแดนประหาร

สภาพของการคุมขังอาจขึ้นอยู่กับแหล่งเงินของผู้ต้องหา คนจนอาจมีปัญหาในการเข้าถึงบริการต่างๆ ภายในคุก เช่น อาหาร การรักษาพยาบาล และความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกในครอบครัว ความยากจนยังจำกัดโอกาสของนักโทษประหารในการติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงอีกด้วย ทั้งหมดอาจส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของนักโทษแดนประหารที่เป็นคนจนกับคนรวยแตกต่างกัน

 

10. ครอบครัวถูกซ้ำเติม

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโทษประหารเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับคนยากจน นอกจากพวกเขาจะขาดเสรีภาพ รายได้ และสิทธิทางสังคมแล้ว ครอบครัวของพวกเขายังได้รับผลกระทบโดยตรงจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดเป็นเสาหลักของครอบครัว ภาระทางการเงินตลอดกระบวนการยุติธรรมอาจทำให้ครอบครัวของนักโทษยากจนกว่าเดิม เกิดการผลิตซ้ำคนด้อยโอกาสเข้าสู่สังคมจนกลายเป็นวัฎจักรที่ไม่จบสิ้น