"นุ่น มนูญ วงษ์มะเซาะห์" ฝันใหญ่บนเส้นทางสิทธิ

5 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

“ตัวเราเองก็เป็นคนที่เคยถูกจำกัดสิทธิมาก่อน เราไม่มีโอกาสในการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ผ่านการแต่งกาย การทำผม หรือการแต่งหน้าได้ ตั้งแต่วันที่เรารู้ว่าเรามีรสนิยมอย่างไร แล้ววันหนึ่งเราเห็นคนกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องประเด็นเรื่องโครงสร้างทางสังคม เรื่องความหลากหลายทางเพศ ยิ่งทำให้เรารู้สึกชื่นชมและขอบคุณที่วันนี้พวกคุณอายุเท่ากับเราในวันนั้น แต่กลับกล้าออกมาใช้สิทธิใช้เสียงของตนเอง” นุ่น มนูญ วงษ์มะเซาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว

 

 

จุดเริ่มต้นเส้นทางนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

“รู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จากรุ่นพี่ที่สนิท เพราะรุ่นพี่เคยมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้รายละเอียดว่าจริงๆ แล้วแอมเนสตี้ เป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับอะไร เมื่อกลับไปมหาวิทยาลัย จึงได้รู้รายละเอียดมากขึ้น ผ่านการนั่งเรียนในรายวิชาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งวิชานั้นแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ทำสัญญาบันทึกข้อตกลง (MoU) ไว้กับทางมหาวิทยาลัย จึงได้เห็นบทบาทและรู้จักแอมเนสตี้มากขึ้นเรื่อยๆ”

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์นุ่น สาวมั่นจากแดนใต้ กับบทบาทนักศึกษาฝึกงานของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ในเดือนเมษายน 2564 ในฐานะนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก่อนตัดสินใจเดินทางไกลจากภาคใต้เข้ามาเรียนรู้งานด้านสิทธิมนุษยชนที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 กระทั่งปัจจุบันเธอได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ และร่วมเป็นอาสาสมัครลงพื้นที่สังเกตการเลือกตั้งในโครงการเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างฐานข้อมูลการชุมนุมประท้วงภาคประชาชน ไปจนถึงแคมเปญ #FreeRatsadon #ปล่อยเพื่อนเรา ที่เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ทางการหยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ และเขียนจดหมายให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

 

มอง “สิทธิมนุษยชน” ผ่านสายตาเจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์

นุ่นมองว่า ภาพรวมของประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยค่อนข้างมีช่องโหว่ที่เยอะมากพอสมควร ซึ่งเกิดจากโครงสร้างของรัฐที่เปิดให้มีพื้นที่ของการละเมิดสิทธิโดยผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งช่วงที่นุ่นเริ่มมาทำงานกับแอมเนสตี้ เป็นช่วงไม่กี่เดือนหลังจากเริ่มมีการชุมนุมประท้วงในวันที่ 29 กันยายน 2563

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมประท้วงนอกจากความรุนแรงและการสูญเสียแล้ว ยังมีเรื่องของการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังคงเกิดขึ้น และดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน”

นุ่นเน้นย้ำว่า ในปี 2563 มีเด็กและเยาวชน อาทิ นักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนมัธยมศึกษาที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทั่วประเทศไทยออกมาชุมนุมประท้วงโดยสงบในวงกว้าง โดยเริ่มจากพื้นที่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะขยายมาสู่ท้องถนน

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิเด็กอย่างสายเด็ก (Child Line) กลุ่มหิ่งห้อยน้อย บ้านฟื้น นักจิตบำบัดอิสระ อาสาสมัคร และคนทำงานที่สนใจด้านสิทธิเด็ก ดำเนินโครงการ Child in Mob หรือ ในม็อบมีเด็ก ด้วยการแจกสายรัดข้อมือให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 และ 18 ปี เพื่อระบุตัวตนในการช่วยเหลือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน นั่นทำให้ทุกฝ่ายในการชุมนุมประท้วงสามารถรับรู้ได้เช่นกันว่า มีเด็กเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเป็นจำนวนมากเท่าไร ไปจนถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งข้อมูลเรื่องพื้นที่ปลอดภัย และสิทธิต่างๆ ของเด็กที่พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครอง ควบคู่ไปกับการจัดทีมเข้าไปดูแลเด็กและเยาวชนที่อาจได้รับบาดเจ็บระหว่างการชุมนุมประท้วง”

แม้ว่าในท้ายที่สุด ผู้จัดและผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงจะต้องเผชิญกับการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ตาม ซึ่งทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีการจัดทำรายงาน “หน้าแสบร้อนเหมือนโดนไฟไหม้” (My face burned as if on fire) เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงและเกินขอบเขตอยู่เสมอของทางการไทยในการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ไม่ว่าจะเป็นการทุบตีผู้ชุมนุม การฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี และการยิงกระสุนยางในระยะประชิด พร้อมเผยให้เห็นภาพอย่างละเอียด ไปจนถึงการจับกุมและฟ้องดำเนินคดีอาญา  โดยเฉพาะหลังจากที่การชุมนุมประท้วงได้มุ่งข้อเรียกร้องไปที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“ในขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ได้มีการปล่อยแคมเปญ RUBBER DUCKS, NOT RUBBER BULLETS ในโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ เพื่อเชิญชวญสมาชิกและผู้สนับสนุนทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้รูปโปรไฟล์ที่มีข้อความ “RUBBER DUCKS, NOT RUBBER BULLETS” พร้อมติด #เป็ดยางไม่ใช่กระสุนยาง เพื่อแสดงออกถึงการยืนหยัดเคียงข้างเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนมโดยสงบในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 - มีนาคม 2565 เช่นกัน”

 

พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประวัติศาสตร์ไทย

เมื่อนึกย้อนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา นุ่นเล่าว่า “ครั้งหนึ่งเธอเคยคิดลาออกจากแอมเนสตี้ด้วยซ้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นแรงผลักดันให้เธอทำงานตรงนี้ได้ คือ แคมเปญ #FreeRatsadon เพราะเป็นจุดประกายที่ทำให้เรารู้สึกมีความหวังว่า วันหนึ่งพวกเขาทุกคนจะได้ใช้อิสรภาพของเขา เพื่อส่องสกาวในความเป็นมนุษย์อีกครั้งอย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี โดยไม่ถูกจำกัด คุมขัง หรือถูกตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรมอีกต่อไป”

 

ฉะนั้นในสายตาเจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ที่เริ่มปลุกปั้นงานนี้มาตั้งแต่วันแรก เธอจึงเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของแคมเปญดีกว่าใคร และคาดว่าในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า “แคมเปญนี้จะต้องเป็นเพียงตำนานและประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่วันนี้กฎหมายเหล่านั้นได้ถูกแก้ไขและนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมอย่างแพร่หลาย ภายใต้พันธกิจที่ประเทศไทยเคยให้การรับรองต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งการส่งเสริม คุ้มครอง และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหลากหลายประการ ตั้งแต่การปลอดจากการทรมานไปจนถึงเสรีภาพในการแสดงออก”

 

พลังของกลุ่มคนธรรมดา 13 ล้านคนทั่วโลก

หากให้กล่าวแนะนำองค์กรโดยสังเขปแก่คนที่อาจจะยังไม่รู้จัก นุ่นกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า “แอมเนสตี้ คือ กลุ่มคนธรรมดาๆ ทั่วโลกกว่า 13 ล้านคนที่รวมตัวกันเพื่อรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ ร่วมมือกับรัฐเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครอง ไปจนถึงสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนและคนในสังคม” ซึ่งการทำงานโดยยึดมั่นในความเป็นกลาง อิสระ และโปร่งใส ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เดินหน้าผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายประเด็น ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

 

ในท้ายที่สุด นุ่นอยากฝากถึงผู้อ่าน รวมไปถึงสมาชิกและผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนในด้านนี้ว่า “คนธรรมดาๆ อย่างพวกคุณก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของเราได้ เพราะสิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้”