สิทธิในความรัก “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” บทสะท้อนชีวิตผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านภาพยนตร์วิมานหนาม

Amnesty International

“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ความเท่าเทียมที่แตะต้องได้จริงหรือไม่ บนเส้นทางใหม่ของความรักที่หลากหลายในประเทศไทย ในวันที่ 23 มกราคม 2568 ประเทศไทยได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญด้วยการประกาศใช้กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” อย่างเป็นทางการ ก้าวนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันถึงคุณค่าของความหลากหลายทางเพศ แต่ยังสะท้อนถึงการยกระดับสิทธิมนุษยชน ที่ก้าวข้ามกรอบคิดทางวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยกีดกันความรักในรูปแบบที่ต่างไปจากกรอบดั้งเดิม

ในโลกแห่งความเป็นจริงตอนนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความรัก แต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงความฝันของผู้คนเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่คู่สมรสทุกคู่ควรจะได้รับ เช่น สิทธิในทรัพย์สินที่สร้างร่วมกันมา การรับมรดกในฐานะทายาทตามกฎหมาย หรือแม้กระทั่งสิทธิในการจัดการชีวิตของอีกฝ่ายในยามเจ็บป่วยและฉุกเฉิน กฎหมายฉบับนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของหัวใจ แต่คือการสร้างโครงสร้างทางกฎหมายที่มั่นคงสำหรับความรัก

ความรักที่ไร้พรมแดน “วิมานหนาม” กับการต่อสู้ของสิทธิในทรัพย์สิน

เมื่อมองผ่านเลนส์ของ “วิมานหนาม” ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความขัดแย้งระหว่างความรักในอุดมคติและอุปสรรคในโลกความจริง หากมองในประเด็นการร่วมทุกข์ ร่วมสุขของตัวเอกในหนังที่เป็นคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจะเห็นว่าทรัพย์สินในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของที่จับต้องได้ แต่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความหวัง และสิทธิที่อาจจะถูกช่วงชิงจากผู้คนตามสิทธิทางกฎหมายหรือผู้คนที่ยังไม่โอบรับหรือเปิดใจเรื่องราวความรักที่นอกเหนือจากชายและหญิง

หากใครดูภาพยนตร์ “วิมานหนาม” เรื่องนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของคู่รักที่ต้องดิ้นรนปลดหนี้ ปลดสิน เพื่อสร้างพื้นที่ของตัวเองในโลกหรือสังคมที่ยังไม่ยอมรับพวกเขา บางฉากบางตอนในภาพยนตร์เป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตที่ไม่ต่างจากชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติจากความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายในสังคม ขณะที่บางกรณีอาจถูกกฎหมายนอกบัลลังก์หรือถูกศาลเตี้ยตัดสิน โบยตีชีวิตเพียงเพราะไม่เปิดรับความรักที่มีมากกว่าเพศชายและหญิง เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการไม่มีสิทธิในทรัพย์สินร่วมกัน เช่น บ้านที่ปลูกสร้างด้วยความรัก หรือการถูกปฏิเสธสิทธิในการรับมรดกเมื่อคู่ชีวิตจากไป จึงกลายเป็นเหมือนหนามที่ทิ่มแทงความสัมพันธ์ และความรักที่ก่อร่างสร้างตัวกันมาเหมือนถูกลดทอนลงเหลือเพียงอารมณ์ชั่วคราวที่ไร้ความมั่นคง เมื่อคนใดคนหนึ่งต้องจากโลกนี้ไปโดยไม่ทันตั้งตัว

เมื่อนำเรื่องนี้มาเชื่อมในบริบทที่ปรากฏในกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศไทย กฎหมายหมายนี้เป็นเหมือนด่านแรกที่จะถอนหนามออกจากวิมานที่ตั้งอยู่บนขนมและความเชื่อ เพราะกฎหมายนี้จะทำให้คู่รักทุกคู่สามารถสร้าง “บ้าน” ของตัวเองได้ในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านในความหมายเชิงรูปธรรมอย่างทรัพย์สินที่ครอบครองร่วมกัน หรือบ้านในความหมายเชิงนามธรรมที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับหัวใจของทั้งสองคน

สิทธิในทรัพย์สิน เสาหลักของความรักที่เท่าเทียมในกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ในโลกของความสัมพันธ์ สิทธิในทรัพย์สินคือเครื่องมือที่ช่วยยกระดับความมั่นคงของคู่รัก โดยเฉพาะในบริบทของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เปิดโอกาสให้คู่สมรสสามารถจดทะเบียนร่วมกัน และมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ถือครองร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่เพียงเรื่องตัวเงิน แต่ยังเป็นแก่นหรือรากของการสร้างอนาคตร่วมกัน ในภาพยนตร์วิมานหนามฉายภาพให้เห็นความไร้สิทธิในทรัพย์สินของตัวละครทำให้เห็นว่าความรักของพวกเขากลายเป็นสิ่งที่เปราะบาง บ้านที่ปลูกขึ้น ผืนดินที่หาเงินมาไถ่ถอนคืนอย่างลำบาก เมื่อถึงวันที่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิตและไม่มีใบทะเบียนสมรส คนที่ยังอยู่ต้องอยู่ในสถานะไม่มีตัวตนในสายตาของกฎหมาย เพียงเพราะการเป็นคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการมีกรอบกฎหมายที่รับรองสถานะคู่รักในทุกมิติ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่ทำให้การสมรสเป็นไปอย่างชอบธรรม แต่ยังช่วยเติมเต็มความหมายของคำว่า “ชีวิตคู่” ด้วยการมอบสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพย์สินและการจัดการชีวิตร่วมกัน

“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” วิมานที่สร้างขึ้นใหม่ เสรีภาพแห่งความรักในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศไทยในฐานะประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้สร้างบทสนทนาที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิและความรักในระดับภูมิภาค เพราะกฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมเสรีภาพทางความรัก แต่ยังเป็นต้นแบบของการสร้างสังคมที่เท่ากันในเชิงเศรษฐกิจและกฎหมาย ภาพยนตร์วิมานหนามยังคงตั้งคำถามสำคัญถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรักกับความมั่นคงทางทรัพย์สิน ขณะที่โลกแห่งความจริงได้เริ่มต้นตอบคำถามนี้ด้วยกฎหมายสมรสเท่าเทียม ความรักจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของหัวใจอีกต่อไป แต่คือสิทธิในการมีอนาคตที่มั่นคงร่วมกัน โดยมีกฎหมายรับรองอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงให้กับคู่รักทุกคู่

การเดินทางที่ยังไม่สิ้นสุดของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

สิทธิในความรัก ก้าวสำคัญของความรักในประเทศไทย

แม้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย แต่การสร้างความเข้าใจและการยอมรับในระดับสังคมยังคงต้องดำเนินต่อไป ภาพยนตร์วิมานหนามได้ฝากบทเรียนไว้ในใจเราว่า ความรักไม่ได้เป็นเพียงสิทธิ แต่เป็นเสรีภาพที่ต้องการการปกป้องและการยอมรับ กฎหมายสมรสเท่าเทียมคือเครื่องมือที่จะช่วยทำให้วิมานแห่งความรักของทุกคู่ไม่ถูกทำลายด้วยหนามแห่งอคติและการถูกเลือกปฏิบัติอีกต่อไป

เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายหลายฉบับต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อสะท้อนค่านิยมและความเชื่อใหม่ตามบริบทของสังคม ปีนี้ประเทศไทยได้เดินหน้าสู่การเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศใช้กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” แล้ว ทุกคนจะจดทะเบียนสมรสกันได้ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดหรือเพศวิถีแบบไหน นี่เป็นเครื่องหมายสำคัญของการยอมรับในความหลากหลายทางเพศ และเป็นก้าวยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

“สมรสเท่าเทียม” คำนี้มีความหมายที่ยิ่งใหญ่เพราะกว่าจะได้มาผู้คนจำนวนมากได้ต่อสู้กับความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และกฎหมายมานานกว่า 10 ปี ในการปรับเปลี่ยนให้คน 2 คน ไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศแบบใด สามารถสมรสและจดทะเบียนกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากที่เมื่อก่อนกฎหมายกำหนดไว้สำหรับชาย-หญิงเท่านั้นที่จดทะเบียนสมรสและมีสิทธิในทรัพย์ร่วมกันได้ การเกิดขึ้นและมีอยู่ของกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นการยกระดับเรื่องสิทธิและสถานะในฐานะ “คู่สมรส” ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนแบบทั่วถึง เพราะไม่ว่าจะมีความรักแบบไหน ทุกความสัมพันธ์ล้วนมีคุณค่าและควรได้รับการคุ้มครอง

กฎหมายสมรสเท่าเทียมนอกจากจะเปิดโอกาสให้คนทุกเพศแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว กฎหมายนี้ยังลงลึกไปถึงเรื่องละเอียดอ่อนต่างๆ ที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับสิทธิเท่ากับทุกคนในสังคมไทย นั่นคือการปรับถ้อยคำและนิยามในเอกสารทางกฎหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนคำว่า “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส” หรือการปรับจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อไม่จำกัดเพศและอัตลักษณ์ของทุกคนที่ต้องการจดทะเบียนสมรส

สิทธิผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

คำว่า “แต่งงาน” หรือ “สมรส” ไม่ใช่แค่การแสดงออกทางความรักเพียงอย่างเดียวสำหรับหลายๆ คู่ แต่คำนี้เป็นเสมือนการสร้างรากฐานของสิทธิต่างๆ ระหว่างคน 2 คน และพาสังคมไทยก้าวไปสู่ความเท่าเทียมทางความรัก เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มอบสิทธิที่หลากหลายให้กับคู่สมรสทุกคน เช่น  สิทธิจดทะเบียนสมรส ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิด้านทรัพย์สิน ที่ให้คู่สมรสสามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม และสามารถจัดการทรัพย์สินของอีกฝ่ายในกรณีจำเป็น สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน โดยคู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมทั้งให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลของคู่สมรส และสามารถดูแลเด็กในฐานะพ่อแม่ที่เท่าเทียมกันซึ่งจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรที่รับมาเลีี้ยง 15 ปีขึ้นไป สิทธิด้านสุขภาพและการจัดการในยามฉุกเฉิน คู่สมรสสามารถลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลแทนกันได้ รวมถึงมีสิทธิในการจัดการศพของอีกฝ่าย และสิทธิสวัสดิการ ที่จะให้คู่สมรสสามารถรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาลในฐานะคู่สมรสตามที่กฎหมายกำหนด

ก้าวที่ยิ่งใหญ่ประเทศไทยที่แรกของอาซียน ไฟเขียว-บังคับใช้ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”

ที่ผ่านมาพบว่าหลายประเทศในเอเชียและทั่วโลกดูเหมือนยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากกว่าเมื่อก่อน แต่ประเด็นเรื่องสิทธิยังพบว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลิกปฏิบัติในหลายประเด็น เช่น การเข้าทำงาน การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งการมีความรัก แม้เรื่องนี้จะเป็นข้อท้าทายอย่างมากหลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้แล้ว แต่นี่ถือเป็นความก้าวหน้าทางสังคมและเป็นเรื่องที่น่ายินดีอยากมาก เพราะประเทศไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุมัติและเตรียมบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 23 มกราคม 2568 อีกทั้งการเดินทางของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังเป็นอีกก้าวสำคัญที่นำไปสู่สังคมที่เท่ากัน เพราะนอกจากไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน ยังเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศที่ 38 ของโลก ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิในความรักของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสียงและยืนเคียงข้างผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย โดยสามารถใส่เสื้อคอลเลคชั่น “Love is a Human Right” เสื้อยืดในแคมเปญเพื่อสิทธิของความหลากหลายทางเพศกับเราได้ https://shop.amnesty.or.th/…/re-design-love-is-human… เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้