แอมเนสตี้ผนึกกำลังองค์กรสิทธิฯ สะท้อน 2 ปี “พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย” ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง?

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ที่ Slowcombo กรุงเทพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ), กลุ่มด้วยใจ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันจัดงาน “Echoes of Hope: ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติดตามความคืบหน้าของการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย”  และสะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ 

นับเป็นเวลาสองปีเต็มหลังจากประเทศไทยเริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พบเสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคม ผู้เสียหาย และครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายยังคงดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้กฎหมายจะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นหลังจากการเรียกร้องมาอย่างยาวนาน แต่คำถามอยู่ว่า กฎหมายฉบับนี้ มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสามารถเยียวยาอย่างรอบด้านให้กับผู้เสียหาย ครอบครัวหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้จริงหรือไม่ อีกทั้งกฎหมายนี้ได้ทำหน้าที่คืนความยุติธรรมให้กับผู้ถูกทรมาน ผู้ถูกบังคับให้สูญหายและครอบครัวแล้วหรือยัง 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้การทรมานและอุ้มหายเป็นอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ 2 ปีผ่านมาพบว่ายังไม่มีกรณีใดที่นำเจ้าหน้าที่รัฐมารับโทษในกระบวนการยุติธรรมได้ แม้จะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยในรายงานของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดีในประเทศไทยยังเต็มไปด้วยอุปสรรค การสอบสวนยังไม่มีความเป็นอิสระ ระบบคุ้มครองพยานยังไม่เข้มแข็งจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบได้ และยังพบวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงหยั่งรากลึกอยู่ 

“ที่ผ่านมาเราเห็นชัดว่าการทรมานและอุ้มหายยังเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ ขณะที่ครอบครัวของผู้เสียหายยังต้องอยู่กับความเจ็บปวดและคำถามที่ไม่มีคำตอบ ทางการไทยต้องพิสูจน์ว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่แค่เครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศดูดีเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องทำให้เห็นว่ากฎหมายสามารถเป็นกลไกที่นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคืนความจริงให้กับผู้ที่ยังรอคอยได้”  

โดยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UNCAT) ได้เผยแพร่ ข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับแนวทางที่ประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture – CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีร่วมด้วย การจัดงานนี้ขึ้นมากับเครือข่ายก็เพื่อส่งเสียงถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้  

“พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย คือเครื่องมือสำคัญที่แอมเนสตี้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมผลักดันกันมาอย่างยาวนาน แต่กฎหมายนี้จะไม่มีความหมาย หากคนที่ถูกทรมานและคนที่ถูกบังคับให้สูญหายยังไม่ได้รับความยุติธรรม หากความจริงยังไม่เปิดเผย และหากครอบครัวของพวกเขายังคงต้องรอคำตอบอย่างไร้จุดหมาย”  

ด้านชลธิชา แจ้งเร็ว คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า หลังจากที่ผู้เสียหายและครอบครัวที่ถูกทรมานและอุ้มหายลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องอย่างยาวนาน ในที่สุดประเทศไทยจึงได้มีกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ที่มุ่งหมายให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เพื่อไม่ให้มีใครแสวงประโยชน์จากอำนาจรัฐมากระทำการทรมานหรืออุ้มหายผู้อื่นโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ได้ แต่สองปีที่ผ่านมาหลังกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ กลับพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายฉบับนี้ ขาดการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐและการจัดเตรียมกล้องเพื่อใช้บันทึกภาพและเสียงระหว่างการควบคุมตัว  นอกจากนั้น ความคืบหน้าของการจัดทำกฎหมายลูกอย่างระเบียบการเยียวยาก็ยังไม่ชัดเจน  

“งานเสวนารำลึกครบรอบสองปีของพ.ร.บ.อุ้มหายครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่พวกเราจะมาถอดบทเรียนปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ และร่วมกันผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการขจัดการทรมานและอุ้มหายในประเทศไทย”   

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข รองผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่า จากสถิติการเข้าร้องทุกข์และยื่นเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 29  พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ครอบครัวผู้เสียหายและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ยื่นไปนับแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้รวมเป็นเวลากว่าสองปี พบว่ามีการร้องทุกข์และยื่นเรื่องร้องเรียนไปทั้งหมด 24 เรื่อง สั่งฟ้องเป็นคดีเพียง 1 เรื่อง และถูกสั่งให้ยุติคดีไม่รับทำการสอบสวน 3 เรื่อง ในขณะที่อีก 17 เรื่องยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ 

“พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายถือเป็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ของประเทศไทยจริง และเชื่อว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญกับกฎหมายนี้ไม่น้อยถึงมีงานครบรอบทุกปีขึ้นมา จึงหวังว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะตั้งใจในการบังคับใช้กฎหมายนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงใจและจริงจัง” 

 ทั้งนี้ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) แสดงความกังวลว่า เป็นที่น่าเสียดายที่สองปีผ่านไปแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติยังเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งด้านการนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ และการเยียวยาแก่ผู้เสียหายและครอบครัว  

“สองปีผ่านไปมีอย่างน้อย 125 เรื่องที่ถูกรายงานไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนับตั้งแต่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ และมากกว่า 70 กรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ถูกบันทึกโดยคณะทำงานสหประชาชาติ แต่นับรวมแล้วมีเพียงแค่สองคดีความผิดภายใต้พ.ร.บ. นี้ที่ขึ้นถึงชั้นศาล โดยยังไม่มีคำพิพากษาในคดีไหนเลย  นอกจากนี้ อีกปัญหาสำคัญคือการที่สองปีผ่านไปแล้วแต่กลับไม่มีผู้เสียหายแม้แต่รายเดียวที่ได้รับค่าชดเชยหรือการเยียวยาภายใต้กรอบกฎหมายนี้เนื่องจากความล่าช้าในการออกร่างข้อระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากกระทรวงการคลังมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว” 

สำหรับเวที “Echoes of Hope: ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง” ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 2 ปี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ได้สร้างพื้นฐานที่สำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเพื่อเป็นปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศไทย รัฐจึงต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจริงใจ พื่อให้บรรลุผลในด้านการป้องกัน ปราบปราม และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว และสามารถสร้างความยุติธรรมในสังคมได้อย่างแท้จริง