
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ประกาศใช้นโยบายคุ้มครองเด็กอย่างเป็นทางการ โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีความหมายสำหรับเด็กทุกคนในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียนรู้และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยมีหลักการที่สำคัญคือ “ไม่ยอมผ่อนปรนต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ” (Zero Tolerance) และ “ไม่ทำอันตราย” (Do No Harm)
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า แอมเนสตี้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการคุ้มครองเด็กในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยการใช้มาตรการที่เข้มงวดและมีกลไกการรายงานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำรุนแรงต่อเด็กหรือเสี่ยงต่อพฤติกรรมที่อาจเกิดความรุนแรงในอนาคต ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดจะเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
จุดมุ่งหมายของนโยบายคุ้มครองเด็ก
นโยบายคุ้มครองเด็กของแอมเนสตี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อ
- คุ้มครองและทำให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมของแอมเนสตี้ได้อย่างปลอดภัยและมีความหมาย
- ให้บุคลากร อาสาสมัคร และนักกิจกรรม รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้ ได้รับคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก และสามารถใช้เครื่องมือและระเบียบปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- คุ้มครองและทำให้เด็กสามารถมีส่วนร่วมกับองค์กรพันธมิตรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแอมเนสตี้ได้อย่างปลอดภัย
- ให้ทุกคนที่ทำงานร่วมกับแอมเนสตี้เข้าใจและปฏิบัติตามหลักการคุ้มครองเด็กอย่างเคร่งครัด
หลักการคุ้มครองเด็ก 6 ประการ
แอมเนสตี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนและปกป้องเด็กผ่านสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งทางกายภาพและจิตใจ โดยยึดหลักการคุ้มครองเด็ก 6 ประการ ได้แก่
- การเสริมพลัง (Empowerment)
- การป้องกัน (Prevention)
- หลักการได้สัดส่วน (Proportionality)
- หลักการคุ้มครอง (Protection)
- หลักการทำงานร่วมกันแบบพันธมิตร (Partnership)
- หลักการรับผิดรับชอบ (Accountability)
ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบาย
นโยบายคุ้มครองเด็กนี้มีผลต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องกับแอมเนสตี้ ไม่ว่าจะเป็น
- คณะกรรมการ ผู้อำนวยการ บุคลากร นักศึกษาฝึกงาน อาสาสมัคร ที่ปรึกษา
- เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เข้าร่วมกิจกรรม
- นักกิจกรรม บุคลากรจากองค์กรพันธมิตร สื่อมวลชน และผู้ร่วมกิจกรรมอื่น ๆ
- ผู้ให้บริการและผู้บริจาครายใหญ่
“แอมเนสตี้มุ่งมั่นที่จะสร้างองค์กรที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเสริมสร้างขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนที่มีความเข้มแข็ง เท่าเทียม และครอบคลุมทั่วถึง โดยการคุ้มครองเด็กเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำงานที่แอมเนสตี้ยึดถือมาตลอด”
ผอ. แอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย