เหตุใดจึงเกิดการสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน? 

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2532 กองกำลังความมั่นคงของจีนได้ใช้กำลัง “สลายการชุมนุมโดยสงบ” ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ผู้ชุมนุมเป็นนักศึกษาและคนงานที่เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงการยุติการทุจริต การเซ็นเซอร์ และการจำกัดสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น 

ร่วมรำลึกครบรอบเหตุการณ์การปราบปราม และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้านล่างนี้ 

ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องอะไรบ้าง? 

ในเดือนเมษายน 2532 นักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งร่างข้อเรียกร้องที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้ยุติการคอร์รัปชัน การเซ็นเซอร์ และการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ ทหารผ่านศึก และเกษตรกร จนการเดินขบวนขยายไปทั่วประเทศ 

ทางการจีนไม่สามารถโน้มน้าวผู้ชุมนุมให้กลับบ้านได้ เมื่อความตึงเครียดในกรุงปักกิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2532 และในคืนวันที่ 3 มิถุนายน 2532 กองกำลังทหารติดอาวุธครบมือพร้อมยานหุ้มเกราะหลายร้อยคันเคลื่อนพลเข้าสู่ใจกลางเมืองเพื่อสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน 

ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนเท่าใด? 

รายงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2532 ระบุว่ามีพลเรือนบาดเจ็บกว่า 3,000 คน และเสียชีวิตกว่า 200 คน (รวมถึงนักศึกษา 36 คน) พร้อมรายงานว่ามีทหารเสียชีวิตหลายสิบนาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มมารดาเทียนอันเหมิน (“Tiananmen Mothers”) และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอิสระต่างประเมินว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า 

รัฐบาลจีนตอบสนองอย่างไร?

ทันทีหลังการสลายการชุมนุม รัฐบาลจีนประกาศกฎอัยการศึกและเริ่มปราบปรามผู้เกี่ยวข้องหลายหมื่นคน หลายรายถูกควบคุมตัว ทรมาน หรือจำคุกภายหลังการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม หลายคนถูกตั้งข้อหากบฏหรือข้อหาบ่อนทำลายอำนาจรัฐ (“counter-revolutionary crimes”) 

แม้เวลาผ่านไปกว่า 36 ปี รัฐบาลจีนยังคงเซ็นเซอร์ห้ามพูดถึงเหตุการณ์นี้อย่างเข้มงวด ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ การรำลึกถึงหรือกล่าวถึงการสลายการชุมนุมถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย 

ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจีนแผ่นดินใหญ่ที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิต เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลในช่วงการสลายการชุมนุม มักถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาว่า “ยุยงให้เกิดการโค่นล้มอำนาจรัฐ” หรือ “ก่อกวนและทะเลาะวิวาท” 

รัฐบาลจีนไม่เคยยอมรับความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและหลังการสลายการชุมนุมทางทหาร และไม่เคยนำผู้กระทำผิดมารับโทษ นับวันความยุติธรรมยิ่งเลือนรางมากขึ้นไปอีก

เกิดอะไรขึ้นในวันครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมิน? 

ระหว่างปี 2533 – 2562 ประชาชนหลายแสนคนในฮ่องกงเข้าร่วมพิธีจุดเทียนรำลึกที่สวนวิกตอเรีย เพื่อเรียกร้องให้ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนและยอมรับความรับผิดชอบ พิธีถูกสั่งห้ามตั้งแต่ปี 2563 

 อ้างสถานการณ์โควิด-19 และถูกจำกัดอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ 

ทุกปี พิธีจุดเทียนในฮ่องกงจะมีการเปิดเทปบันทึกเสียงจากกลุ่มมารดาเทียนอันเหมิน ซึ่งยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิตทั้งหมด การชดเชยตามกฎหมาย และการสอบสวนความรับผิดทางอาญา

เกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่รำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินในฮ่องกง? 

การจัดงานจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินในฮ่องกงดำเนินมาเป็นเวลา 30 ปีโดยกลุ่มพันธมิตรฮ่องกงเพื่อสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยรักชาติในจีน (Hong Kong Alliance) 

นางสาวโจว ฮังตุง รองประธานกลุ่มพันธมิตรฯ และนักกิจกรรมอีก 25 คน ถูกดำเนินคดีในปี 2563 เพียงเพราะพวกเขายืนยันที่จะจุดเทียนในสวนวิคตอเรีย แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งห้ามการจัดงานในปีนั้นโดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม ในปี 2564 หลังจากที่ตำรวจสั่งห้ามการจัดงานอีกครั้ง นางสาวโจวถูกจับกุมในวันที่ 4 มิถุนายน หลังจากที่เธอสนับสนุนให้ผู้คนบนโซเชียลมีเดียรำลึกถึงการปราบปรามด้วยการจุดเทียน 

ในที่สุด นางสาวโจวถูกจำคุกเป็นเวลา 22 เดือนฐานเข้าร่วมและปลุกระดมให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาต เธอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์จากกลุ่มพันธมิตร ฯ คือนายลี ช็อกยัน และนายอัลเบิร์ต โฮ ก็ถูกตั้งข้อหา “ยุยงให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ” ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และทั้งสามคนต้องเผชิญโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังทำอะไรบ้าง? 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ที่ถูกสังหารหรือถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมในการปราบปรามที่เทียนอันเหมินเมื่อ 36 ปีที่แล้ว และสำหรับผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

แม้ทางการจะปราบปรามกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ แต่ผู้คนในฮ่องกง ในจีนแผ่นดินใหญ่ และทั่วโลกยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้อีกครั้ง แอมเนสตี้จะยืนหยัดเคียงข้างพวกเขาเพื่อรำลึกครบรอบเหตุการณ์ 

คุณสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไร? 

ยืนหยัดเคียงข้างผู้ชุมนุมเทียนอันเหมินทั้งอดีตและปัจจุบัน 

ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลจีนและฮ่องกงดำเนินการเยียวยาและเปิดเผยความจริง คุณเองก็สามารถร่วมรำลึกครบรอบได้โดย: 

  • ใช้ฟิลเตอร์อินสตาแกรม “Remembering Tiananmen Square” 

ด้วยพลังของพวกเรา เราจะแสดงให้เห็นว่าโลกยังคงเฝ้ามอง และความโหดร้ายของเทียนอันเหมินจะไม่มีวันถูกลืม การประท้วงอย่างสงบอาจถูกปราบปรามอย่างโหดร้าย แต่จะไม่ถูกทำให้เงียบสนิทตลอดไป 

รำลึกเทียนอันเหมิน: ไม่ยอมให้ความทรงจำเลือนหาย