ชัยชนะด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2567

แม้ว่าเราจะผ่านมาเพียงครึ่งปีของปี 2567 เท่านั้น แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีส่วนร่วมในชัยชนะด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วหลายครั้ง มีผู้คนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และผู้คนต่างได้รับความยุติธรรม!

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกได้ปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าพลังของคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนได้ เราแทบรอไม่ไหวที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่าจะมีอะไรบ้างในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2567

มกราคม

นอร์เวย์: ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอร์เวย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเรื่องการปฏิบัติต่อนักโทษในเรือนจำที่มีปัญหาสุขภาพจิต มีการแยกขังอย่างกว้างขวาง และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เมื่อปีที่แล้ว แอมเนสตี้ ประเทศนอร์เวย์ได้รณรงค์เพื่อสิทธิของนักโทษ ซึ่งทำให้รัฐบาลเพิ่มทรัพยากรจำนวนมากในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งได้ลดการแยกขังหลังจากงบประมาณมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม

ไทย/รัสเซีย: สมาชิกของวงร็อครัสเซีย Bi-2 ซึ่งถูกควบคุมตัวในไทยและอาจถูกส่งกลับไปรัสเซีย ได้รับอนุญาตให้ออกจากไทยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีเสียงเรียกร้องจากสาธารณชนจำนวนมาก ร่วมกับการเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นักดนตรีเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารในรัสเซียเนื่องจากท่าทีต่อต้านสงครามอย่างเปิดเผยและสมาชิกคนหนึ่งเคยถูกระบุว่าเป็น “ตัวแทนต่างชาติ”

เบลเยียม: ร่างกฎหมายที่เสนอโดยวินเซนต์ ฟาน ควิคเคนบอร์น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะบ่อนทำลายสิทธิในการชุมนุมประท้วงในเบลเยียมได้ถูกถอนออก ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลด้วย

กุมภาพันธ์

เบลเยียม: เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลวอลลูนประกาศว่าได้ระงับใบอนุญาตส่งออกอาวุธไปยังอิสราเอล การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องจากกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีบทบาทสำคัญ แม้ว่าอุปกรณ์ทางทหารดังกล่าวอาจไม่ได้ถูกนำไปใช้โดยกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลก็ตาม แต่ทางการวัลลูนได้ตัดสินใจที่จะระงับการส่งออก

อิรัก: เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ทางการเขตเคอร์ดิสถานของอิรัก (KR-I) ได้ปล่อยตัวนักข่าวกุดาร์ เซบารี หลังจากถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมมานานกว่า 3 ปี ซึ่งในระหว่างนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ให้ปล่อยตัวเขา ในข้อความที่ส่งถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทนายความของกุดาร์ เซบารี ได้ขอบคุณการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น และบอกว่าการรณรงค์ครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคดีของพวกเขา

อันดอร์รา: ในที่สุดวาเนสซา เมนโดซา คอร์เตส นักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็พ้นผิดหลังถูกดำเนินคดีจากการพูดต่อต้านการห้ามทำแท้งทุกกรณีของอันดอร์รา ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับสิทธิผู้หญิง ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้หลายพันคนได้ร่วมปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อแสดงการสนับสนุนวาเนสซา

© Associacio Stop Violencies

วาเนสซา เมนโดซา คอร์เตส เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเป็นประธานของสมาคม Association Stop Violence ในอันดอร์รา

“ฉันอยากจะขอบคุณเป็นการส่วนตัวต่อผู้คนมากกว่า 70,000 คนที่ได้ร่วมปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนฉันและกดดันทางการอันดอร์รา” วาเนสซากล่าว “พวกคุณเป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะอย่างสันติร่วมกันนี้ แม้ว่าจะเป็นช่วงหลายปีที่ยากลำบาก แต่ฉันก็รู้สึกโชคดีที่ได้เดินเคียงข้างพวกคุณ พลังของเราคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการยืนหยัดเพื่อสิทธิของกันและกัน”

โลก: ในพิธีการที่กรุงเฮก 34 รัฐได้ลงนามในอนุสัญญากรุงลูบลิยานา-กรุงเฮก ซึ่งเป็นสนธิสัญญาใหม่ที่สำคัญ โดยมีการเจรจากันเมื่อปีก่อน เพื่อช่วยมอบความยุติธรรมให้กับเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม สนธิสัญญาดังกล่าวเสริมสร้างกรอบความยุติธรรมระหว่างประเทศโดยการมอบเครื่องมือใหม่และเอื้ออำนวยให้รัฐต่างๆ ร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยประกันว่าจะมี ‘พื้นที่หลบภัย’ น้อยลงสำหรับผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญา และเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการต่อต้านการลอยนวลพ้นผิด

เซเนกัล: ทางการเซเนกัลปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวฐานเข้าร่วมหรือเรียกร้องให้มีการชุมนุมประท้วง หรือถูกมองว่าสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านหลักมากกว่า 600 คน แอมเนสตี้ได้รณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

มอริเตเนียยูบา ซิบี พลเมืองเซเนกัลที่มีเชื้อสายมอริเตเนีย ถูกจับกุมในเซเนกัลเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 หลังจากวิพากษ์วิจารณ์ลูกชายของนักการเมืองระดับสูงชาวมอริเตเนียบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่อมาปรากฏว่าเขาถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังมอริเตเนียและถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่สามารถติดต่อทนายความได้ ซึ่งเขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปี

เมื่อทราบข่าวการจับกุมยูบา ทีมงานระดับภูมิภาคของแอมเนสตี้ได้ให้ข้อมูลติดต่อทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่เชื่อถือได้ซึ่งดูแลคดีของเขาโดยเสียค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ยูบาได้รับอิสรภาพในเดือนกุมภาพันธ์และเดินทางกลับไปยังเซเนกัล เนื่องจากเขาสูญเสียรายได้และบ้าน แอมเนสตี้จึงสนับสนุนให้เขาก่อตั้งธุรกิจขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ และช่วยเหลือค่าครองชีพบางส่วนสำหรับการกลับมาสู่อิสรภาพ ยูบาแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อแอมเนสตี้และผู้สนับสนุนสำหรับความช่วยเหลือของเรา

กรีซ: รัฐสภาของกรีซผ่านร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการประกันความเสมอภาคในการสมรสสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศกรีซ สนับสนุนกฎหมายนี้อย่างจริงจังโดยส่งจดหมายถึงรัฐบาลกรีซเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรีซจะตระหนักถึงความสำคัญของร่างกฎหมายนี้ แต่ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลกรีซมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรับประกันความเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวด้วย

© AFP/Getty Images

ชายสองคนเข้าร่วมในขบวนพาเหรด Gay Pride ประจำปีในเอเธนส์ ซึ่งการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันได้รับการรับรองในที่สุด

เบลเยียม: หลังจากปฏิบัติการสาธารณะเป็นเวลา 2 ปีโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรอื่นๆ งานวิ่ง Brussels 20km ได้ยุติความร่วมมือกับ TotalEnergies ยักษ์ใหญ่ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนงานนี้ TotalEnergies เคยเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของงาน Brussels 20km ตั้งแต่ปี 2547 และเป็นบริษัทข้ามชาติจากฝรั่งเศสที่ได้รับประโยชน์จากภาพลักษณ์เชิงบวกของงานที่ได้รับความนิยมนี้

ยุโรปดันจา มิจาตอวิค กรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนของสภายุโรปเรียกร้องให้มีแนวปฏิบัติที่อิงสิทธิมนุษยชนสำหรับการค้าประเวณี หลังจากการปรึกษาหารือกับพนักงานบริการ (sex workers) ทั่วยุโรป องค์กรตัวแทน และองค์กรภาคประชาสังคม ในรายงานของเธอได้อ้างถึงงานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเกี่ยวกับความรุนแรงที่พนักงานบริการต้องเผชิญ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังผลักดันให้การค้าประเวณีไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการต่อไป

สวิตเซอร์แลนด์: หลังจากการรณรงค์เพื่อความยุติธรรมเป็นเวลาหลายปี โมฮาเหม็ด วา ไบล์ นักกิจกรรมก็ชนะคดีของเขากับสวิตเซอร์แลนด์ในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเกี่ยวกับการตรวจสอบอัตลักษณ์ที่เลือกปฏิบัติและความล้มเหลวร้ายแรงของของสวิตเซอร์แลนด์ในการป้องกันการถูกเพ็งเล่งด้วยเหตุทางชาติพันธุ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยื่นการแทรกแซงโดยบุคคลที่สามในคดีนี้ การตัดสินนี้แสดงถึงชัยชนะสำหรับวา ไบล์ และชุมชนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติในสวิตเซอร์แลนด์และยุโรป

สหภาพยุโรป: รัฐสภายุโรปมีมติเกี่ยวกับอิหร่าน ซึ่งสะท้อนข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับรัฐในสหภาพยุโรปให้เริ่มการสอบสวนทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่อิหร่านที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงผ่านเขตอำนาจศาลสากล รัฐสภายุโรปสะท้อนข้อเรียกร้องของเราสำหรับการยกเลิกโทษประหารชีวิตและการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในอิหร่าน การประณามสภาพการควบคุมตัวที่น่าตกใจในอิหร่าน และการใช้การทรมานอย่างกว้างขวาง รวมถึงความรุนแรงทางเพศ สะท้อนถึงการค้นพบของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเกี่ยวกับการใช้การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่นๆ ที่ถูกใช้เป็นอาวุธของกองกำลังความมั่นคงเพื่อบดขยี้การชุมนุม “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” และการไม่ต้องรับโทษสำหรับอาชญากรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

มีนาคม

ญี่ปุ่น: ศาลแขวงโตเกียวและศาลสูงซัปโปโรต่างทำการตัดสินครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคดีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน 2 คดี หลังจากการล็อบบี้จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คำตัดสินว่าการห้ามการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่มีพื้นที่สำหรับการเลือกปฏิบัติดังกล่าวในสังคมญี่ปุ่นอีกต่อไป

สหภาพยุโรป: เมื่อต้นปี รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจระงับการให้ทุนแก่องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติ (United Nations Relief and Works Agency หรือ UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา การตอบสนองต่อการตัดสินใจที่น่าตกใจเหล่านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกกลับมาให้ทุนอีกครั้งโดยไม่ชักช้า ในเดือนมีนาคม หลังจากการเรียกร้องซ้ำๆ ของเรา คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศว่าจะกลับมาให้ทุนช่วยชีวิตของสหภาพยุโรปกับ UNRWA ต่อไป และตอนนี้ได้จ่ายเงิน 2 งวดแรกแล้ว ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดที่ระงับการให้ทุนได้กลับมาให้ทุนต่อแล้วเช่นกัน

บูร์กินาฟาโซ: เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ดาอูดา ดิอัลโล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจับกุมและถูกพาตัวไปโดยไม่ทราบสถานที่ และถูกบังคับให้สูญหาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์อย่างเร่งด่วนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา จนเมื่อเดือนมีนาคม ดาอูดาก็ได้รับอิสรภาพ

© Private

ดร. ดาอูดา ดิอัลโล เป็นเภสัชกรและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความมุ่งมั่น

หลังจากได้รับการปล่อยตัว เขากล่าวว่า “ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและทุกคนที่ระดมกำลังและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผม การเรียกร้องเหล่านี้เป็นแสงสว่างในความทุกข์ทรมานเพียงลำพังของผมและเป็นเครื่องเตือนใจว่าผมไม่ได้โดดเดี่ยว ขอให้เรายังคงรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในความมุ่งมั่นของเราที่จะปกป้องหลักการแห่งความยุติธรรม ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีสำหรับทุกคน”

ฝรั่งเศส: รัฐสภาฝรั่งเศสลงมติให้บรรจุการทำแท้งเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส แอมเนสตี้ ประเทศฝรั่งเศสได้รณรงค์สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ร่วมกับองค์กรระดับชาติอื่นๆ

เบลเยียมสตานิส บูจาเกรา นักข่าวชั้นนำชาวคองโกได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม หลังจากถูกจำคุก 6 เดือน สตานิสถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 และถูกตั้งข้อหา “เผยแพร่ข่าวลือ” และ “เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ” หลังจากสำนักข่าว Jeune Afrique เผยแพร่บทความที่มีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของหน่วยข่าวกรองคองโกในการฆาตกรรมเชรูบิน โอเคนเด นักการเมืองฝ่ายค้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศเบลเยียมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวสตานิส บูจาเกรา

เมษายน

เมียนมา: คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีมติเกี่ยวกับเมียนมาโดยเรียกร้องเป็นครั้งแรกต่อประเทศสมาชิกของสหประชาชาติให้งดการส่งออก ขาย หรือส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับเมียนมา การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากการเรียกร้องทั่วโลกเป็นเวลาหลายปี ซึ่งนำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรภาคประชาสังคมของเมียนมา รวมถึงผ่านรายงาน ‘Deadly Cargo’ ของแอมเนสตี้เมื่อปี 2565

อาร์เจนตินา: อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังชาวอาร์เจนตินาถูกตัดสินให้ทำงานบริการชุมชนหลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการคุกคามด้วยเหตุแห่งเพศทางออนไลน์อย่างเป็นระบบต่อนักข่าว มารินา อาบิอุสโซ แอมเนสตี้ ประเทศอาร์เจนตินาได้สนับสนุนมารีน่าตลอดการพิจารณาคดี

“ฉันเป็นนักข่าว สิทธิในเเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อเป็นค่านิยมพื้นฐานสำหรับฉัน การประณามการล่วงละเมิดและการคุกคามไม่ได้ต่อต้านเสรีภาพ แต่เพื่อปกป้องสิ่งเหล่านั้น” มารินาได้เขียนไว้

อินเดีย: หลังจากการรณรงค์อย่างยาวนานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม 16 คนในคดีภีมา โคเรกอน ศาลสูงสุดได้ให้ประกันตัวศาสตราจารย์และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน โชมา เซน หลังจาก 6 ปีที่เธอถูกจับกุม ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 นักข่าว เกาแตม นาวลากา ได้รับการประกันตัวเกือบ 4 ปีหลังจากที่เขาถูกจับกุม

© Amnesty International

โชมา เซน เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ BK16 ในอินเดียเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม 11 คนที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของอินเดียเนื่องจากการปกป้องสิทธิของชุมชนชายขอบ

พฤษภาคม

ตุรกีอีเรน เคสคิน ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง และประธานร่วมของสมาคมสิทธิมนุษยชน (Human Rights Association) พ้นผิดในข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นชาติตุรกี” หลังได้รับการเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

© Amnesty International

อีเรน เคสคิน นั่งอยู่ในห้องทำงานของเธอในอิสตันบูล และอ่านข้อความแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากสมาชิกแอมเนสตี้และผู้สนับสนุน

โลก: หลังจากหลายปีของการเรียกร้องร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากเพื่อให้สิทธิของผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้น ในที่สุดคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุได้ทำการตัดสินใจครั้งสำคัญในการประชุมครั้งที่ 14 โดยระบุช่องว่างในการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุและเสนอแนะอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ

การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่การร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิผู้สูงอายุ อนุสัญญาดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะรณรงค์ต่อไปเพื่อให้เรื่องนี้กลายเป็นความจริง

ยุโรป: คณะกรรมการสิทธิทางสังคมของสภายุโรปมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าอิตาลีละเมิดกฎบัตรสังคมยุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวโรมา โดยตอบสนองต่อการร้องเรียนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในปี 2562 โดยอาศัยการวิจัยมากว่าทศวรรษ ตอนนี้อิตาลีจะต้องดำเนินการเพื่อประกันว่ามีที่อยู่อาศัยเพียงพอ ไม่แบ่งแยก และไม่เลือกปฏิบัติสำหรับชาวโรมา และให้การเยียวยาสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติและการแบ่งแยก

โลก: Dreaming in the Shadows เป็นภาพยนตร์สารคดีความยาว 15 นาทีที่สร้างโดยผู้กำกับอิสระชาวยูเครน มารินา ชานโควา และสนับสนุนโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สารคดีเรื่องนี้นำเสนอผู้สูงอายุ 3 คนในยูเครนที่ต้องพลัดถิ่นหรือยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายในเทศกาลภาพยนตร์ UAFF ในตุรกี และได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ NewsFest ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลในประเภท Disability Issues and Woman Filmmaker ที่งาน Accolade Global Film Competition อีกด้วย

กรีซ: ผู้รอดชีวิต 9 รายจากเหตุเรืออัปปางที่ไพลอสในปี 2566 ซึ่งมีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเสียชีวิตกว่า 600 ราย ต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีที่ศาลอาญาคาลามาตาในข้อหาต่างๆ รวมถึงการทำให้เรืออับปางและการลักลอบนำคนเข้าเมือง การวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งดำเนินการร่วมกับ HRW พบข้อบ่งชี้ว่าเรืออับปางมีสาเหตุมาจากหน่วยยามฝั่งของกรีซที่พยายามลากเรือผู้อพยพ ศาลพบว่าผู้รอดชีวิต 9 รายไม่มีความผิดฐานลักลอบนำคนเข้าเมือง และยกฟ้องคดี โดยสรุปว่าศาลไม่มีอำนาจในข้อหา “ทำให้เรืออับปาง” เนื่องจากเหตุเรืออัปปางที่ไพลอสเกิดขึ้นในน่านน้ำสากล

© Photo by Dimitris Lampropoulos/Anadolu Agency via Getty Images

ผู้คนถือป้ายและประท้วงเหตุการณ์เรืออพยพอัปปางที่ไพลอสในเอเธนส์ กรีซ

ซีเรีย: ในเดือนเมษายน ทางการจอร์แดนจับกุมผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อติยา โมฮัมหมัด อาบู ซาเล็ม และ วาเอล อัล อาชี ในการปราบปรามการชุมนุมสนับสนุนฉนวนกาซา กระทรวงกิจการภายในออกคำสั่งเนรเทศพวกเขาโดยไม่ตั้งข้อหาอาชญากรรมใดๆ ในเดือนพฤษภาคม อติยาและวสเอล ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกควบคุมตัวโดยพลการมานานกว่า 1 เดือน หลังจากการเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

มิถุนายน

คีร์กีซสถาน: ในที่สุดจำเลย 22 รายใน “คดีเคมเปียร์-อาบัด” ในคีร์กีซสถานก็พ้นผิด ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ข้อกล่าวหาว่านักกิจรรมเกี่ยวข้องกับการวางแผนก่อจลาจลนั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง และคดีนี้ยังมีความไม่สอดคล้องกันและการละเมิดกระบวนการ จำเลยถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเป็นเวลาหลายเดือน รวมถึงไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ คำตัดสินนี้ได้รับการยกย่องจากภาคประชาสังคมของคีร์กีซสถานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรี โดยมองว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ให้ความหวังในการต่อต้านการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในประเทศ

© Amnesty International Taiwan

ในแคมเปญ “เขียน เปลี่ยน โลก” ( Write for Rights) นักกิจกรรมของแอมเนสตี้ในไต้หวันได้เขียนจดหมายสนับสนุน ริตา คาราซาร์โตวา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งตอนนี้เธอได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ริตา คาราซาร์โตวา หนึ่งในจำเลยที่พ้นผิด เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในฮีโร่ของแคมเปญ “เขียน เปลี่ยน โลก” ( Write for Rights) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อปี 2566 กล่าวว่า “เราไม่ได้คาดหวังไว้เลย เราร้องไห้ด้วยความประหลาดใจ”

รัสเซีย/ยูเครน: หลังจากการเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คำตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 5 มีนาคม และ 25 มิถุนายน ให้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของรัสเซีย พลโท เซอร์เกย์ โคบิลาช พลเรือเอก วิกเตอร์ โซโคลอฟ เซียร์เกย์ ชอยกู อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการป้องกันประเทศ และ วาเลรี เกราซีมอฟ ประธานคณะเสนาธิการทหาร ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามระดับนานาชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกสงสัยว่าสั่งการโจมตีวัตถุของพลเรือนและก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่ได้ตั้งใจต่อพลเรือนมากเกินไป

อาร์เจนตินา: ในการพิจารณาคดีครั้งสำคัญ ฮวน ดาร์เธส นักแสดงชาวบราซิลถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานข่มขืน เธลมา ฟาร์ดิน นักแสดงชาวอาร์เจนตินา แอมเนสตี้ได้ให้การสนับสนุนด้านกฎหมายและการดูแลทางสังคมจิตใจแก่เธลมา

© Tomas Ramirez Labrousse / Amnesty International Argentina

ในการพิจารณาคดีครั้งสำคัญ ฮวน ดาร์เธส นักแสดงชาวบราซิลถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานข่มขืน เธลมา ฟาร์ดิน นักแสดงชาวอาร์เจนตินา แอมเนสตี้ได้ให้การสนับสนุนด้านกฎหมายและการดูแลทางสังคมจิตใจแก่เธลมา

“ฉันไม่เคยหาทางแก้แค้น ฉันทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อเปิดทางสู่อนาคตที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับเด็กหญิงและวัยรุ่น” เธลมากล่าว

โลก: ศาลอุทธรณ์ปารีสยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายของหมายจับบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบในการใช้อาวุธเคมีในเกาตาตะวันออกของซีเรียเมื่อปี 2556 ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเป็นกรณีพิเศษว่าประมุขแห่งรัฐจะไม่ได้รับความคุ้มกันในศาลต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับศาลระดับชาติ

ศรีลังกานาธาชา เอดิริซูริยา นักแสดงตลกชาวศรีลังกาถูกปล่อยตัวจากคดีสนับสนุนการสร้างความเกลียดชังผ่านการแสดงความคิดเห็นระหว่างการแสดงสแตนด์อัพคอมเมดี้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพศาสนาพุทธ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์เกี่ยวกับคดีของเธอ

© Amnesty International

นาธาชา เอดิริซูริยา นักแสดงตลกชาวศรีลังกาถูกปล่อยตัวจากคดีสนับสนุนความเกลียดชังผ่านการแสดงความคิดเห็นระหว่างการแสดงสแตนด์อัพคอมเมดี้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพศาสนาพุทธ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์เกี่ยวกับคดีของเธอ

เซียร์ราลีโอน: ในปี 2561 แอมเนสตี้เดินทางเยือนเขตโคโนในเซียร์ราลีโอน ซึ่งบริษัทเหมืองแร่ Meya กำลังทำเหมืองเพชร ในระหว่างภารกิจการวิจัย แอมเนสตี้ค้นพบว่าหลุมเจาะที่บริษัทสร้างขึ้นก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ โดยมีไนเตรตในระดับสูงในกลุ่มตัวอย่างที่เก็บมา (110 มก./ล. สำหรับตัวอย่างที่ 1 และ 120 มก./ล. สำหรับตัวอย่างที่ 2) ซึ่งสูงกว่าระดับที่ปลอดภัย (50 มิลลิกรัมต่อลิตร) ที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (หลังจากการรายงานของแอมเนสตี้ ทางการเซียร์ราลีโอนได้ส่งจดหมายถึงบริษัทเพื่อขอให้ตอบสนองต่อข้อกังวลของเรา ตามรายงานล่าสุดจากที่ปรึกษาอิสระในเดือนมิถุนายน 2567 ระดับไนเตรตในน้ำขณะนี้ตรงตามแนวทางของ WHO สำหรับน้ำดื่มแล้ว

ไทย: รัฐสภาของไทยได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ในการเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการแต่งงานสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศตามกฎหมายหลังจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่างกฎหมายดังกล่าวจะให้สิทธิแก่คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศเกี่ยวกับการแต่งงาน การรับรองบุตรบุญธรรม ความยินยอมในการรักษาพยาบาล และมรดก โดยจะมีการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

© Amnesty International

ในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2566 นักกิจกรรมในไทยได้จัดขบวนพาเหรดไพรด์ครั้งแรกในกรุงเทพฯ

เซียร์ราลีโอน:การแต่งงานในเด็กในเซียร์ราลีโอนถูกสั่งห้ามในที่สุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ร่างกฎหมายห้ามการแต่งงานในเด็กปี 2567 ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการแต่งงานของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พยายามที่จะปกป้องเด็กหญิงจากอันตราย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์นี้ผ่านการรณรงค์และโครงการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับอันตรายของการแต่งงานในเด็กและการขริบอวัยวะเพศหญิง

สาธารณรัฐคองโก: หลังจากรายงานของแอมเนสตี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ระงับการดำเนินงานของบริษัทรีไซเคิล Metssa Congo เนื่องมาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชากรในท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ในขณะที่ร่างรายงาน แอมเนสตี้สนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยตรวจเลือดซึ่งแสดงว่ามีสารตะกั่วในระดับสูงในผู้คน (รวมถึงเด็ก) ที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน แอมเนสตี้ยังจ่ายค่าดำเนินการทางกฎหมายด้วย หลังจากการระงับดังกล่าว ซีริลล์ เอ็นเดมบี ประธานของ Vindoulou Residents’ Collective กล่าวว่า:

“เราได้ใช้เวลากลางคืนอย่างสงบและเงียบ โดยไม่มีเสียง กลิ่น ควัน หรือแรงสั่นสะเทือน และไม่มีความเครียดหรือวิตกกังวล เราได้ระดมกำลังเพื่อประกันว่าการตัดสินใจของรัฐมนตรีได้รับการเคารพ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่สุดของเราคือการเห็นโรงงานแห่งนี้ถูกปิดและย้ายออกไป ขอบคุณอีกครั้ง!”

เยเมน: เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน รัฐบาลโดยพฤตินัยของกลุ่มฮูตีได้ปล่อยตัวอับดุลลาห์ อัล-โอโลฟี นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวบาไฮ หลังจากถูกควบคุมตัวโดยพลการนานกว่า 1 ปี โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮูตีได้บุกโจมตีการรวมตัวโดยสงบของชาวบาฮาในบ้านพักส่วนตัวในเมืองซานา และควบคุมตัวผู้คน 17 คนโดยพลการ รวมถึงอับดุลลาห์ อัล-โอโลฟี แอมเนสตี้ได้รณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลโดยพฤตินัยของกลุ่มฮูตียังได้ปล่อยตัวอับดุล วาฮับ มูฮัมหมัด กัทราน ผู้พิพากษาชาวเยเมน หลังจากถูกควบคุมตัวโดยพลการนานกว่า 5 เดือนที่ศูนย์กักกันหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงของกลุ่มฮูตีในเมืองซานาของเยเมนด้วย

ในข้อความที่ส่งถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อับดุล วาฮับ มูฮัมหมัด กัทรานได้ขอบคุณองค์กรที่รณรงค์ให้ปล่อยตัวเขาและยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สหราชอาณาจักร/สหรัฐอเมริกา: ในที่สุดจูเลียน อาสซานจ์ได้รับการลดหย่อนโทษจากทางการสหรัฐฯ หลังจากใช้เวลา 5 ปีในเรือนจำที่มีความปลอดภัยสูงในสหราชอาณาจักร อัสซานจ์รับสารภาพในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเพื่อให้ได้มาและเปิดเผยข้อมูลการป้องกันประเทศ โดยมีโทษจำคุก 62 เดือน ซึ่งจูเลียน อาสซานจ์รับโทษครบแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ในนามของอัสซานจ์ตั้งแต่เขาถูกจำคุก

© Photo by Roni Bintang/Getty Images

จูเลียน อาสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks แสดงท่าทางขณะที่เขามาถึงสนามบินแคนเบอร์ราเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ในเมืองแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย ในฐานะเสรีชน

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้