แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและผู้สนับสนุนต่างมุ่งมั่นคว้าความสำเร็จในการช่วยชีวิต การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และการปกป้องสิทธิมนุษยชนในปีนี้…
ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
สหรัฐอเมริกา: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกาทำงานอย่างหนักเพื่อยุติความรุนแรงจากอาวุธปืนทั่วประเทศ ในรัฐอิลลินอยส์และมิชิแกน แอมเนสตี้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุนเพื่อช่วยผ่านกฎหมายความปลอดภัยของอาวุธปืนหลายฉบับ ด้วยการผลักดันเชิงนโยบายและงานรณรงค์ของแอมเนสตี้ ทำให้ปัจจุบันรัฐอิลลินอยส์เป็นรัฐที่ 9 ที่สั่งห้ามอาวุธจู่โจม และรัฐมิชิแกนได้กำหนดให้มีการตรวจสอบประวัติสำหรับการซื้ออาวุธปืนทั้งหมด
ออสเตรเลีย: หลังจากการรณรงค์ของนักกิจกรรมและองค์กรต่างๆ รวมถึงแอมเนสตี้ ออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรีเสนอกฎหมายที่ให้เพิ่มอายุความรับผิดชอบทางอาญาจากอายุ 10 ปีเป็น 12 ปี และเพิ่มอายุเป็น 14 ปีในเดือนกรกฎาคม 2568 อย่างไรก็ตาม เด็กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำ ‘อาชญากรรมต่อเนื่อง’ จะยังคงถูกสอบสวนโดยตำรวจต่อไป รวมถึงการตรวจค้นแบบถอดเสื้อผ้า การควบคุมตัวไปขึ้นศาลต่างๆ และการคุมขังในเรือนจำ
สหภาพยุโรป: เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ประเทศต่างๆ ได้รับรองสนธิสัญญาสำคัญ อนุสัญญากรุงลูบลิยานา-กรุงเฮก (The Ljubljana-The Hague Convention) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนและฟ้องร้องคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมระหว่างประเทศอื่นๆ โดยมีที่ปรึกษากฎหมาย 2 คนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าร่วมการประชุมทางการทูตเพื่อแจ้งข้อกังวลและข้อเสนอแนะ
นี่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ ซึ่งสนับสนุนสนธิสัญญานี้ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สนธิสัญญาดังกล่าวรวมถึงข้อเรียกร้องหลายประการจากแอมเนสตี้ เช่น การขยายเขตอำนาจศาลของรัฐเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม การรวมการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมที่สนธิสัญญาคุ้มครอง การไม่บังคับใช้อายุความ หมวดสิทธิของเหยื่อ รวมถึงการจำกัดความเหยื่อที่ก้าวหน้า การปฏิเสธการช่วยเหลือทางกฎหมายระหว่างกันหรือการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อมีเหตุผลสำคัญที่ทำให้เชื่อได้ว่าคำร้องขอจัดทำขึ้นเพื่อการฟ้องร้องคดีหรือการลงโทษบุคคลเนื่องมาจากเพศสภาพ และบทบัญญัติใหม่ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม
ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

© Biel Calderon
นักเรียนทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ จริงจังกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ออสเตรเลีย: หลังจากการผลักดันเชิงนโยบายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยโดยนักศึกษาจากภูมิภาคแปซิฟิกซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรมของแอมเนสตี้หลายพันคน ออสเตรเลียได้กลายเป็นหนึ่งใน 132 ประเทศที่ร่วมสนับสนุนความริเริ่มของวานูอาตูในการยื่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ส่วนอื่นๆ ของแอมเนสตี้และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ยังทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อรักษาความมุ่งมั่นของรัฐบาลในความริเริ่มที่สำคัญนี้ นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศเนื่องจากหมายความว่าศาลจะให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พัฒนาการเชิงบวกด้านโทษประหารชีวิต
มาเลเซีย: ในแง่บวก การยกเลิกกฎหมายโทษประหารชีวิตสถานเดียว 2566 และการแก้ไขกฎหมายโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต (เขตอำนาจชั่วคราวของศาลรัฐบาลกลาง) 2566 ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในหนังสือข่าวสารรัฐบาลกลางของมาเลเซียเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน โดยอย่างแรกจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายประกาศวันที่มีผลบังคับใช้ของกฎหมายปรับการลงโทษ ผู้ต้องโทษประหารชีวิตสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาโทษประหารชีวิตสถานเดียวได้ นอกจากการยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวและการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษสำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ยังยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมดสำหรับ 7 ฐานความผิด แอมเนสตี้เรียกร้องให้ยุติโทษประหารชีวิตทั่วโลกมานานกว่า 45 ปี และร่างกฎหมายใหม่เหล่านี้เป็นก้าวสำคัญสู่การยกเลิกโทษประหารโดยสมบูรณ์สำหรับมาเลเซีย
ความสำเร็จด้านสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
อิหร่าน: นักกิจกรรมชาวอิหร่าน ซาห์ร่า เซดดิคี-ฮาเมดานี ถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2565 ฐานสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้ทางการอิหร่านปล่อยตัวเธอ และเธอได้รับการปล่อยตัวในที่สุดหลังจากอยู่ในคุกนานกว่า 1 ปี

© Private
ซาห์ร่า เซดดิคี ฮาเมดานี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ไต้หวัน: ในระหว่างก้าวที่สำคัญสู่สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไต้หวันได้ประกาศความเคลื่อนไหวที่จะอนุญาตการสมรสของเพศเดียวกันระหว่างชาวไต้หวันกับชาวต่างชาติที่ประเทศต้นทางยังไม่ได้ออกกฎหมายอนุญาตการสมรสของเพศเดียวกัน ความเคลื่อนไหวสำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลไต้หวันได้อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานแล้วรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไต้หวันทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มท้องถิ่นเพื่อรณรงค์และปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้กว้างขึ้น

© Amnesty International Taiwan
ไต้หวันออกกฎหมายอนุญาตการสมรสของคนเพศเดียวกัน
ออสเตรเลีย: รัฐควีนส์แลนด์ผ่านกฎหมายใหม่ในเดือนมิถุนายนเพื่อขจัดอุปสรรคในการแก้ไขสูติบัตร กฎหมายที่เพิ่งผ่านออกมาใหม่หมายความว่าคนข้ามเพศ นอน-ไบนารี่ (Non-binary) และคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้ารับ “การผ่าตัดแปลงเพศ” ก่อนจึงจะสามารถแก้ไขเอกสารระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้อีกต่อไป นี่เป็นข่าวที่น่าทึ่งสำหรับเครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศของรัฐควีนส์แลนด์ของแอมเนสตี้ ออสเตรเลีย ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรท้องถิ่นอื่นๆ ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
เกาหลีใต้: ซอซองอุคและคู่ชีวิต คิมยองมิน จัดพิธีแต่งงานในปี 2561 และอยู่ด้วยกันในฐานะคู่สมรส อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับภายใต้กฎหมายของเกาหลีใต้ และพวกเขาไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ รวมถึงการเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพ

© Amnesty International Korea
ซองอุคซอ (ซ้าย) และยองมินคิม (ขวา) ฉีกป้ายกระดาษที่แสดงถึง ‘การเลือกปฏิบัติ’ ระหว่างการแถลงข่าวด้านหน้าศาลสูงในกรุงโซล เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
หลังจากเปิดตัวแคมเปญโดยได้รับการสนับสนุนจากแอมเนสตี้ ซอและคู่ชีวิต คิม กลายเป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่แรกที่สามารถจดทะเบียน “ผู้อยู่ในอุปการะ” ภายใต้สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ( National Health Insurance Service: NHIS) แต่ถูกยกเลิกในอีกแปดเดือนต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลสูงของเกาหลีใต้มีคำสั่งให้ NHIS กลับมาให้การเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพสำหรับคู่รักที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการยอมรับสิทธิของคู่รักที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน
ความสำเร็จด้านเทคโนโลยี

© Amnesty International
กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ NSO Group ยุติการแฮ็กโทรศัพท์ของนักกิจกรรม
ระดับโลก: ในเดือนมีนาคม ห้องปฏิบัติการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยแคมเปญการแฮ็กที่ซับซ้อนโดยบริษัทสปายแวร์รับจ้างที่มีเป้าหมายเป็นระบบปฏิบัติการ Android ของ Google เช่นเดียวกับ iPhone การค้นพบนี้ถูกส่งให้กับ Threat Analysis Group ของ Google ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การตอบโต้การโจมตีทางไซเบอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และ Apple Google และผู้จำหน่ายรายอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึง Samsung สามารถออกการอัปเดตด้านความปลอดภัยที่ปกป้องผู้ใช้ Android Chrome และ Linux หลายพันล้านคนจากเทคนิคการเจาะระบบที่ใช้ในการโจมตีครั้งนี้ ในขณะที่ Apple ก็ออกแพทช์ด้านความปลอดภัยมาด้วยเช่นกัน
เกาหลีใต้: หลังจากการดำเนินคดีในศาลเป็นเวลา 9 ปี ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ตัดสินให้ Google ต้องเปิดเผยว่าได้ส่งข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่อีเมลของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวเกาหลี รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เกาหลี ให้แก่หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ หรือไม่ คำตัดสินนี้กำหนดให้บริษัทข้ามชาติอย่าง Google ต้องรับผิดชอบต่อสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
สหรัฐอเมริกา: วิกฤตสปายแวร์ก่อให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่ออนาคตของสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้มีการห้ามสปายแวร์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวทั่วโลกโดยทันที ในเดือนมีนาคม การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ เนื่องจากประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีให้จำกัดการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์เชิงพาณิชย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยใน 3 วันต่อมา รัฐบาล 11 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ที่ให้พันธสัญญาว่าจะดำเนินการร่วมกันเพื่อต่อต้านการแพร่หลายและการใช้สปายแวร์เชิงพาณิชย์ในทางที่ผิด
ความสำเร็จด้านการแสวงหาอิสรภาพ

© Private
ชื่อจากซ้ายไปขวา: ซาเลห์ มิราชิม, มาจิด คาเซมิ, ซาอีด ยากูบี © Private
สหรัฐอเมริกา: มาจิด ข่าน, อาเหม็ด ราฮิม รับบานี, อับดุล ราฮิม รับบานี, กัซซัน อัล-ชาร์บี และซาอิด บาคุช ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอ่าวกวนตานาโมระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน หลังจากถูกคุมขังโดยพลการมานานหลายปี
มันซูร์ อเดย์ฟี อดีตผู้ถูกควบคุมตัวคุมขัง ซึ่งได้รับการปล่อยตัวไปยังเซอร์เบียในปี 2559 สามารถเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 21 ปีเพื่อไปพูดในเวทีที่นอร์เวย์ในเดือนมิถุนายน หลังจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลช่วยให้เขาได้รับหนังสือเดินทางจากรัฐบาลเยเมน
“ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับการทำงานทั้งหมดที่พวกเขาทำในนามของอดีตผู้ถูกควบคุมตัวในกวนตานาโมและในนามของมนุษยชาติ เพราะแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นหนึ่งในแนวหน้าที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับการทรมาน การต่อสู้กับการกดขี่ และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก”
“ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคือที่คุกกวนตานาโม ทนายความนำรายงานและจดหมายมาให้เรา เมื่อคุณรู้ว่ามีคนอยู่เคียงข้างคุณ ต่อสู้เพื่อคุณ เรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณ สิ่งนี้ช่วยทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้ผมยังมีความหวัง” มันซูร์กล่าว
อิหร่าน: หลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง ผู้ชุมนุมประท้วง อาร์เชีย ทักดาสถาน, เมห์ดี โมฮัมมาดิฟาร์ด และจาวาด รูฮี ถูกตัดสินประหารชีวิต เพราะพวกเขากล้าพูดถึงมาห์ซา อามินี วัย 22 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในเดือนพฤษภาคม 2566 ศาลสูงสุดเพิกถอนคำตัดสินและยกเลิกโทษประหารชีวิต ต่อมาในเดือนนั้น ทนายความของอาร์เชียโพสต์ต่อสาธารณะบนทวิตเตอร์ว่าเขาได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำ
ออสเตรีย: คัมรัน กาเดรี และมัสซุด มอสซาเฮบ พลเมืองชาวออสเตรีย-อิหร่าน 2 คนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในเรือนจำเอวิน ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และในที่สุดก็สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวของพวกเขาในเวียนนาได้ ทั้งคู่ถูกตัดสินว่ามีความผิดหลังจากการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมโดยการบังคับให้รับ “สารภาพ” ด้วยการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ
“คุณไม่ได้เพียงแค่ช่วยเปิดเผยความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับฉันเท่านั้น คุณยังให้ความกล้าหาญแก่ฉันโดยทำให้รู้ว่ามีคนดีและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในโลกนี้มากมายเพียงใด”
“โปรดยืนหยัดเพื่อผู้อื่นต่อไป!” มัสซุดกล่าว
แองโกลา: ทาไนซ์ นิวโทร นักกิจกรรมชาวแองโกลาที่ใช้เพลงของเขาในการประท้วง ถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2565 หลังจากที่เขาถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเวลา 1 ปี แอมเนสตี้ได้ระดมการสนับสนุน สร้างการรับรู้ และเริ่มรณรงค์ในนามของเขา ความพยายามของผู้สนับสนุนของเราประสบความสำเร็จเมื่อทางการแองโกลาปล่อยตัวเขาในเดือนมิถุนายน

Amnesty International
ทาไนซ์ นิวโทร นักกิจกรรมชาวแองโกลาที่ใช้เพลงของเขาในการประท้วง ถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2565 และด้วยการสนับสนุนของแอมเนสตี้ เขาได้รับการปล่อยตัวในปี 2566
“สิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจที่สุดคือการได้รู้ว่าในการสนับสนุนและการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คุณไม่จำเป็นต้องรู้จักคนๆ นั้น แค่เล่าเรื่องราวของพวกเขาก็พอ”
“ถึงแม้พวกคุณไม่รู้จักสามีของฉันเป็นการส่วนตัว แต่คุณก็ยังสนับสนุนเขา” เทเรซา ภรรยาของทาไนซ์กล่าว
ด้านทาไนซ์ กล่าวว่า “ผมยังไม่อยากเชื่อเลยว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะตัดสินใจรับเรื่องของผม ผมรู้สึกขอบคุณสำหรับการสนับสนุนทั้งหมดที่แอมเนสตี้มอบให้ผมและครอบครัว”
เวเนซุเอลา: คาร์ลอส เดเบียส ช่างภาพชาวเวเนซุเอลาซึ่งถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในที่สุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 หลังจากการรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และผู้สนับสนุน เจ้าหน้าที่เรือนจำของเวเนซุเอลาปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหมายปล่อยตัวที่ออกในเดือนเมษายน 2565 โดยขยายเวลาการควบคุมตัวโดยพลการออกไปอีก 14 เดือน แม้จะได้รับการปล่อยตัวแล้วเขายังต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 60 วัน
“ขอบคุณในนามของตัวผมเองและครอบครัวสำหรับงานที่น่าทึ่งที่พวกคุณทำให้คดีของผมเป็นที่รู้จัก และการช่วยเหลือผมในสถานการณ์ที่ซับซ้อน โชคดีที่ตอนนี้ผมเป็นอิสระแล้ว ขอขอบคุณครอบครัวแอมเนสตี้ทุกคน” คาร์ลอส กล่าว
บังกลาเทศ: นักข่าวชาวบังกลาเทศ ชัมซุสซามาน ชัมส์ ถูกจับกุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 มีนาคม หลังจากเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตค่าครองชีพ ไม่มีใครทราบที่อยู่ของเขาเป็นเวลามากกว่า 10 ชั่วโมง หลังจากนั้นตำรวจยืนยันว่าเขาถูกควบคุมตัวและถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายความมั่นคงทางดิจิทัลที่เข้มงวด
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ระดมการสนับสนุน โดยออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา เมื่อวันที่ 3 เมษายน ชัมส์ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวจากเรือนจำ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เนื่องจากนักโทษส่วนใหญ่ต้องถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ต่อต้านกฎหมายความมั่นคงทางดิจิทัล โดยเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับวิธีที่ทางการใช้เพื่อเป็นอาวุธ องค์กรจะรณรงค์ต่อไปเพื่อให้ยกเลิกข้อกล่าวหาของชัมส์
ปากีสถาน: หลังจากถูกบุกค้นบ้านอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาฮาล บาลอชจากปากีสถานถูกควบคุมตัวพร้อมกับลูกเล็กๆ ของเธอและสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากครอบครัวของเธอได้รับการปล่อยตัว มาฮาลยังคงถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาจนกระทั่งเธอได้รับการประกันตัวในเดือนพฤษภาคม มาฮาลที่ถูกตำรวจกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ ซึ่งเคยก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายมาก่อน และเธอได้ให้การรับสารภาพ ระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัว มาฮาลตกเป็นเป้าหมายของการรณรงค์เพื่อใส่ร้ายและทางการบังคับให้ปรากฏตัวในการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์

© Private
มาฮาล บาลอชจากปากีสถาน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยออกปฏิบัติการด่วนสำหรับมาฮาล จนเธอได้รับการประกันตัวในสามเดือนหลังจากถูกจับกุม
โกตดิวัวร์: ประชาชน 26 คนที่แสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองของอดีตประธานาธิบดีอย่างสงบ ถูกตัดสินจำคุกสองปีในเดือนมีนาคมฐาน “รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงปฏิกิริยาต่อสาธารณะต่อการควบคุมตัวและเรียกร้องให้ทางการประกันการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างยุติธรรมสำหรับผู้ประท้วง การรณรงค์ดังกล่าวทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วสื่อของโกตดิวัวร์ทั้งแบบดั้งเดิมและออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นักกิจกรรมดังกล่าวได้รับตัดสินให้รอการลงโทษไว้ 4 เดือนและปล่อยตัว
สหภาพยุโรป: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนให้สหภาพยุโรป (EU) สนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ภายนอกกลุ่ม ในปีนี้สหภาพยุโรปจะมอบเงินเพิ่มเติมอีก 30 ล้านยูโรให้กับกลไกคุ้มครองนักป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยงและสมาชิกในครอบครัว ในขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้ประกันว่าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปและสถานทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั่วโลกจะให้การสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและครอบครัวผ่านการสังเกตการณ์การพิจารณาคดี การเยี่ยมชมเรือนจำ แถลงการณ์ต่อสาธารณะ และความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศนอกสหภาพยุโรป

© Amnesty International / Jarek Godlewski
นักกิจกรรมยืนแสดงพลังสนับสนุนทาเนอร์ คิลิช ประธานกิตติมศักดิ์ของแอมเนสตี้ ตุรกี ในขณะที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาออกจากเรือนจำ
การสังเกตการณ์การพิจารณาคดีมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลกระทบสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก รวมถึงคดีของทาเนอร์ คิลิช ประธานกิตติมศักดิ์แอมเนสตี้ ตุรกีและไอดิล อีเซอร์ อดีตผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ตุรกี ซึ่งคำตัดสินความผิดที่ไม่มีมูลความจริงและมีแรงจูงใจทางการเมืองถูกยกเลิกในที่สุดในเดือนมิถุนายน หลังจากการรณรงค์ทั่วโลกของแอมเนสตี้
ตุรกี: ในเดือนพฤษภาคม ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปตัดสินว่าตุรกีละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและเสรีภาพการสมาคมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตุรกี และทาเนอร์ คิลิช ประธานในขณะนั้น โดยการลงโทษปรับทางปกครองกับองค์กรในปี 2551
ความสำเร็จด้านการตรวจสอบความรับผิดรับชอบของผู้มีอำนาจ
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์: เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ฟีฟ่ายืนยันว่าการท่องเที่ยว Visit Saudi ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนของฟุตบอลโลกหญิงปี 2566 ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับนักกิจกรรมทุกคน รวมถึงผู้เล่นปัจจุบันและอดีตผู้ที่ออกมาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน
ก่อนการประกาศ ผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาของนิวซีแลนด์ แกรนต์ โรเบิร์ตสัน พูดถึงรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของซาอุดีอาระเบีย เรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริง และกดดันให้ฟีฟ่าดำเนินการเช่นเดียวกัน การตัดสินใจครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในวงการกีฬา
ชิลี: เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศาลในชิลีเปิดการไต่สวนอีกครั้งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อมอยเซส ออร์เดเนส ซึ่งถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจคาราบีนีโรส (Carabineros) ทำร้ายขณะชุมนุมโดยสงบในเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พนักงานอัยการได้ปิดการสอบสวนเจ้าหน้าที่เจ็ดคนจากทั้งหมด 13 คน ที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการทำร้าย แต่ครอบครัวและทนายความของมอยเซสรู้สึกว่าการสอบสวนยังห่างไกลจากความครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องขอบคุณการเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทั้งเจ็ดคนจะต้องถูกสอบสวนอีกครั้ง
ระดับโลก: ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล การแสวงหาความยุติธรรมระหว่างประเทศสำหรับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งถือเป็นสิ่งสำคัญขององค์กร ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สมาชิกของโครงการรับมือภาวะฉุกเฉิน ร่วมกับเพื่อนร่วมงานในสำนักงานภูมิภาคและทีมความยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ให้หลักฐานและความช่วยเหลือแก่กลไกสืบสวนระหว่างประเทศในการจัดทำเอกสารและสร้างแฟ้มคดีสำหรับอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามรายงานของเราในหลายประเทศ เช่น เมียนมา ซีเรีย และยูเครน
ยูเครน: หลักฐานของเรามีส่วนร่วมในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนระหว่างประเทศที่เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในยูเครนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ข้อมูลในรายงานดังกล่าวสะท้อนรายงานของเราที่ชื่อว่า ‘Like A Prison Convoy’: Russia’s unlawful Transfer and Abuse of Civilians in Ukraine During ‘Filtration’
สโลวาเกีย:

© Tanya Springer
เด็กๆ ในห้องโถงของโรงเรียนกระแสหลักท้องถิ่นในหมู่บ้าน Šarišské Michaľany ทางตะวันออกของสโลวาเกีย
ในเดือนเมษายน คณะกรรมาธิการยุโรปได้ส่งต่อเรื่องของสโลวาเกียไปยังศาลยุติธรรมของสหภาพยุโรป (ECJ) เนื่องจากยังไม่สามารถจัดการกับการศึกษาที่ถูกแบ่งแยกของนักเรียนชาวโรมา ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดด้านเชื้อชาติ (Race Directive) นี่เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการส่งต่อเรื่องของประเทศที่ละเมิดคำสั่งซึ่งประกันความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ในสินค้าและบริการทางสังคม-เศรษฐกิจที่หลากหลาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมกับ European Roma Rights Centre ได้ทำการวิจัยและรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาการศึกษาที่ถูกแบ่งแยกในประเทศเป็นเวลาหลายปี และนี่คือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับองค์กร
อาร์เจนตินา: ในปี 2563 บลาส กอร์เรอา วัยรุ่นจากกอร์โดบา ประเทศอาร์เจนตินา ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตหลังจากเลี้ยวผิดทาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้การสนับสนุนครอบครัวของบลาสตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อประกันว่าจะได้รับความยุติธรรม หลังการพิจารณาคดีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนที่เหลือจะได้รับโทษจำคุก 4 ปี ในขณะที่ตำรวจอีก 2 นายพ้นผิด ศาลตัดสินว่าเป็นคดีความรุนแรงในสถาบัน และเน้นย้ำการเรียกร้องของแอมเนสตี้ให้กองกำลังความมั่นคงดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่

© Amnesty International Argentina | Nicolás Bertea
แม่ของบลาส กอร์เรอา และฮวน เซกุนโด้ พี่ชาย สวมกอดกันก่อนมีการประกาศคำตัดสินคดี.
ความสำเร็จด้านสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ
เปรู/เวเนซุเอลา: ในชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่เพื่อสิทธิของผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาในเปรู รัฐสภาเปรูได้ผ่านกฎหมายที่ยกเลิกค่าปรับที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวเวเนซุเอลาที่อยู่เกินวีซ่าในประเทศ ซึ่งหมายความว่าชาวเวเนซุเอลาที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศซึ่งต้องการอยู่ในเปรูต่อไปสามารถเข้าถึงแผนการจัดระเบียบการย้ายถิ่นฐานและได้รับการปกป้องสิทธิที่ดีขึ้น เปรูเป็นบ้านของประชากรชาวเวเนซุเอลาที่อยู่ในต่างประเทศจำนวนมากเป็นอันดับสอง และมีจำนวนผู้ขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการจากเวเนซุเอลามากที่สุด

© Amnesty International/Sergio Ortiz
ผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาข้ามสะพานระหว่างประเทศ “ซิมอน โบลิบาร์” ในกูกูตา โคลอมเบีย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในนามของพวกเขา โดยเผยแพร่รายงาน 2 ฉบับที่ชี้ให้เห็นถึงการไม่ได้รับความคุ้มครองสำหรับชาวเวเนซุเอลาในเปรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และออกปฏิบัติการด่วนเพื่อคุ้มครองเด็กชาวเวเนซุเอลา
ออสเตรเลีย: หลังจากการรณรงค์หลายปี ในที่สุดรัฐบาลออสเตรเลียจะอนุญาตให้ประชาชน 19,000 คนที่อยู่ในสภาพที่ไม่แน่นอนนานถึง 10 ปี กลายเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรและได้อยู่กับครอบครัวของพวกเขาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถพบกับครอบครัว เรียนหนังสือ ท่องเที่ยว และมีส่วนร่วมในชีวิตชาวออสเตรเลียได้อย่างเต็มที่

© AIA/Pablo Barnes
ซากิ ไฮดาริ พบกับครอบครัวของเขาอีกครั้งหลังจากแยกกันนานถึง 10 ปี
ซากิ ไฮดาริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เพื่อสิทธิผู้ลี้ภัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย เผยว่า การปฏิรูปนี้ล่าช้ามานาน และจะเปลี่ยนชีวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในความคุ้มครองชั่วคราวมาหลายปี
“คนจำนวนมากที่เหมือนกับตัวฉันเองซึ่งลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลียได้อาศัยอยู่ที่นี่นานถึง 10 ปี และได้รับความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็นจากนโยบายคุ้มครองชั่วคราวที่โหดร้ายของรัฐบาลออสเตรเลียชุดต่อๆ มา ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้รู้สึกโล่งใจที่ได้เห็นความสุขที่เกิดขึ้น”
แคนาดา: จากแรงกดดันจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รัฐควิเบก นิวบรันสวิก ออนแทรีโอ และซัสแคตเชวัน ได้เข้าร่วมบริติชโคลัมเบีย โนวาสโกเชีย แอลเบอร์ตา และแมนิโทบาในรายชื่อรัฐของแคนาดาที่สิ้นสุดสัญญากับรัฐบาลกลางในการควบคุมตัวผู้อพยพในเรือนจำประจำรัฐ
การตัดสินใจของทั้ง 4 รัฐนี้สนับสนุนขั้นตอนไปสู่การยุติระบบที่เป็นอันตราย โดยแทนที่จะควบคุมตัวผู้อพยพด้วยเหตุผลด้านการปกครอง แอมเนสตี้เรียกร้องให้หน่วยงานบริการชายแดนแคนาดาใช้ทางเลือกในท้องถิ่น เคารพสิทธิ และอิงกับชุมชนแทนการควบคุมตัว
ความสำเร็จด้านสิทธิสตรี
สวิตเซอร์แลนด์: ในชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของสิทธิมนุษยชน สภาแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ได้แก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เพื่อยอมรับว่า “การมีเพศสัมพันธ์โดยขัดต่อความต้องการของอีกบุคคลหนึ่ง” ถือเป็นการข่มขืน

© Philippe Lionnet
คำร้องลงลายเซ็น 37,00 ลายเซ็นถูกส่งถึงสำนักนายกรัฐมนตรี (Swiss Federal Chancellery) เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะการรวมคำนิยามของการข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก ตึกรัฐสภา (Federal Palace) เบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ 28 พฤศจิกายน 2562
การแก้ไขนี้นับเป็นการสิ้นสุดคำจำกัดความของการข่มขืนที่ล้าสมัยซึ่งต้องมีการใช้กำลังทางร่างกาย การข่มขู่หรือบีบบังคับ และถือว่าผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นเหยื่อ ปัจจุบันกฎหมายยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมถือเป็นการข่มขืน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนักกิจกรรมและนักรณรงค์เพื่อสิทธิทางเพศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศทุกคนในสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสวิตเซอร์แลนด์ และปรับปรุงการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้รอดชีวิต
อิหร่าน: งานวิจัย การรณรงค์ และการผลักดันเชิงนโยบายของแอมเนสตี้ยังคงส่งผลเชิงบวกกับชีวิตของกิจกรรมด้านสิทธิสตรีที่ถูกคุมขังในอิหร่าน ในเดือนกุมภาพันธ์ ยาสมัน อารยานีและโมนิเรฮ์ อาหรับชาชี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังจากรับโทษ 4 ปีจากคำตัดสินโทษจำคุก 16 ปี พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยพลการในปี 2562 จากพูดต่อต้านกฎหมายบังคับให้สวมผ้าคลุมศีรษะที่เลือกปฏิบัติของอิหร่าน

© christophemeireis.com
นักกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวยาสมัน อารยานี นักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้หญิงชาวอิหร่าน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวปฏิบัติการด่วนเพื่อให้ปล่อยตัวยาสมันและโมนิเรฮ์ในทันที และเรื่องราวของเธอยังเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Write for Rights ในปี 2562 ของแอมเนสตี้อีกด้วย
เบนิน: ผู้หญิง 4 คนถูกควบคุมตัวในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลในเบนินหลังจากคลอดบุตร เนื่องจากพวกเธอไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเขียนจดหมายถึงทางการ เรียกร้องให้ปล่อยตัวในทันที และชี้ให้เห็นถึงหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพและเสรีภาพของผู้หญิงเหล่านี้ ในอีก 3 วันต่อมา ผู้หญิงทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาล
ยุโรป: เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน หลังจากการเจรจาและการผลักดันเชิงนโยบายโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พันธมิตรและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมอื่นๆ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้อนุมัติการภาคยานุวัติของสหภาพยุโรปสำหรับอนุสัญญาสภายุโรปว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว (อนุสัญญาอิสตันบูล) นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในการจัดการกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทั่วทั้งสหภาพยุโรป
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้