แอมเนสตี้เรียกร้องประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มความพยายามในการช่วยชีวิตผู้เสี่ยงภัยกลางทะเลอย่างเร่งด่วน

14 พฤษภาคม 2558

Amnesty International

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเพิ่มความพยายามในการค้นหาและช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ผู้ลี้ภัยทางเรือหลายพันคนอยู่ในสภาพที่ยากลำบากและเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต ในขณะที่มีเรืออีกลำหนึ่งขนผู้โดยสารซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้อพยพและผู้แสวงหาที่พักพิงหลายร้อยคนที่อยู่ในสภาพสิ้นหวัง และกำลังรอความช่วยเหลือจากบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับข้อมูลยืนยันว่า ในเรือดังกล่าวแออัดไปด้วยผู้โดยสารประมาณ 350 คน ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย ขณะนี้กำลังลอยลำอยู่นอกน่านน้ำของประเทศไทยและมาเลเซีย เชื่อว่าบุคคลหลายร้อยคนเหล่านี้มาจากประเทศพม่าหรือบังกลาเทศ และอยู่บนเรือเป็นเวลา “หลายวัน” หรืออาจมากกว่าสองเดือนแล้ว ลูกเรือได้ทิ้งพวกเขาไปเมื่อหลายวันก่อน บรรดาผู้โดยสารต่างขาดน้ำและอาหาร และจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ในขณะที่เรือของกองทัพเรือไทยกำลังค้นหาเรือลำดังกล่าวอยู่

เคท ชูทส์ นักวิจัยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องดำเนินการทันที เพื่อยุติการขยายตัวของวิกฤตด้านมนุษยธรรม ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องประสานงานในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือบุคคลที่เสี่ยงภัยทางทะเลเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วย่อมถือว่าเป็นการลงโทษประหารชีวิตผู้คนหลายพันคน 

“เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเมื่อคำนึงถึงว่ามีผู้คนหลายร้อยคนกำลังอยู่บนเรือที่ลอยอยู่กลางทะเล และเสี่ยงที่จะเสียชีวิต พวกเขาไม่มีทั้งน้ำหรืออาหาร และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่ที่ไหน”

ในช่วงเช้าของวันนี้ พบว่ามีเรือลำหนึ่งขนผู้โดยสารประมาณ 500 คนลอยลำนอกชายฝั่งเกาะปีนังทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ทางการมาเลเซียประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะใช้มาตรการลงโทษ ทั้งการผลักดันเรือออกไปและส่งกลับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อเป็นการ “ส่งสัญญาณที่ถูกต้อง” ไปยังผู้ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

“ทางการมาเลเซียมีหน้าที่คุ้มครองและต้องไม่ลงโทษผู้คนหลายร้อยคนที่เข้าสู่ชายฝั่งของประเทศในวันนี้ พวกเขาต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ตามที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะผลักดันพวกเขากลับไปสู่ท้องทะเล หรือส่งตัวไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิและชีวิตของพวกเขา” เคท ชูทส์ กล่าว

“ความเห็นของทางการที่จะผลักดันเรือที่เข้าสู่ชายฝั่งออกสู่ทะเล ถือเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าทางการทำตามที่ขู่จริง ย่อมถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของมาเลเซียเอง”

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมาจากพม่าและบังกลาเทศจำนวนเพิ่มขึ้นที่เข้าสู่ชายฝั่งของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีเรือลำหนึ่งที่บรรทุกผู้โดยสารประมาณ 400 คน ซึ่งคาดว่าเป็นชาวโรฮิงญา โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากมีการให้เสบียงอาหารและเชื้อเพลิงแล้ว กองทัพเรืออินโดนีเซียบังคับให้เรือลำนั้นทอดสมออยู่นอกชายฝั่งเกาะอาเจะห์   

การปราบปรามผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของไทย ดูเหมือนจะเป็นเหตุบังคับให้ผู้ค้ามนุษย์และผู้ลักลอบนำเข้าผู้อพยพ ต้องค้นหาเส้นทางการทำงานใหม่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) เชื่อว่ายังคงมีผู้คนอีกประมาณ 8,000 คนอยู่บนเรือที่ลอยลำนอกชายฝั่งใกล้กับประเทศไทย

ผู้คนหลายพันคนหลบหนีออกจากประเทศบังกลาเทศและพม่า รวมทั้งผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกลุ่มเสี่ยง เช่น ชาวโรฮิงญาเชื้อสายมุสลิมที่หลบหนีจากการถูกเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในประเทศพม่าและบางส่วนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พวกเขาหลายคนยอมเสี่ยงชีวิตในการเดินทางทางเรือที่อันตรายเพื่อหลบหนีจากสภาพที่ยากจะทนในบ้านเกิดของตนเอง

“ควรกำหนดให้ความเสี่ยงภัยของหลายพันชีวิตเหล่านี้เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ในขณะที่ต้นตอของวิกฤตครั้งนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน เหตุที่ชาวโรฮิงญาหลายพันคนเลือกที่จะเสี่ยงภัยเดินทางมาทางเรือทั้ง ๆ ที่อาจไม่รอดชีวิต แทนที่จะอยู่ในพม่าต่อไป สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงสภาพปัญหาที่พวกเขาเผชิญในประเทศพม่า” เคท ชูทส์กล่าว