ข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ถึงผู้นำประเทศต่างๆ ในที่ประชุม COP26

5 พฤศจิกายน 2564

Amnesty International Thailand

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเข้าร่วมการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่กรุงแกลสโกลว โดยจะกระตุ้นให้ผู้นำดำเนินการอย่างเข้มแข็ง สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของวิกฤตเบื้องหน้าเรา เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตเพิ่มเติมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ 

แอกเนส คาลามาร์ดกล่าวว่า “ภัยฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงถึงขั้นเป็นหายนะ และผู้นำของเราต้องตื่นขึ้น และเริ่มรับมือกับมันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีการแสดงความเห็น การให้คำสัญญาอย่างง่าย ๆ และการปฏิบัติในเชิงสัญลักษณ์ของผู้นำโลกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ แต่กลับไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นผล หลายประเทศไม่ปฏิบัติตาม แม้แต่พันธกิจที่จะปรับปรุงเป้าหมายของการลดการปล่อยคาร์บอน 

“เราไม่มีเวลาเหลืออย่างฟุ่มเฟือยสำหรับการปฏิบัติที่เลยเส้นตาย หรือการแสดงวาทะทางการเมือง เฉพาะในปีนี้ เราได้เห็นฝนตกปริมาณมหาศาลในอินโดนีเซียและเยอรมนี อุณหภูมิที่สูงอย่างมากในแคนาดาจนถึงปากีสถาน และภัยแล้งที่สร้างหายนะในมาดากัสการ์ หายนะแต่ละครั้งเป็นสัญญาณเตือนให้เราปฏิบัติการที่หนักแน่นมากยิ่งขึ้น ในขณะที่วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นในแต่ละวันที่ผ่านไป ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสิทธิมนุษยชนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เรากำลังสูญเสียชีวิตไป สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม สิทธิด้านอาหาร น้ำ สุขอนามัย และอื่น ๆ อีกมากมายของเรากำลังถูกคุกคาม  

“ผู้นำโลกต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนหรือภายในปี 2593 ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างน้อย 45% จากระดับในปี 2553 ให้ได้ภายในปี 2573 ประเทศที่ร่ำรวยซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนใหญ่สุดในโลก มีพันธกรณีต้องลดการปล่อยคาร์บอนที่รวดเร็วกว่า และต้องช่วยเหลือประเทศที่ยากจนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบขั้นสุดท้ายจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ โดยต้องเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือและเงินทุนสนับสนุนประเทศเหล่านี้เพิ่มเติม

“ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ เข้าสู่ช่วงการเจรจาที่สำคัญ พวกเขาแบกรับภาระอนาคตของมนุษยชาติเอาไว้ แต่พวกเขาก็มีเจตจำนงร่วมกันของชุมชนทั่วโลก ที่กระตุ้นให้พวกเขาปฏิบัติการอย่างเป็นธรรมและเร่งด่วนเพื่อกอบกู้และสนับสนุนให้โลกดำรงอยู่ต่อไป ขอให้มีความหวังว่าผู้นำของเราจะไม่ทำให้เราผิดหวัง”  

 

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทุกประเทศ 

- แสดงพันธกิจตามเป้าหมายที่ท้าทายและสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อช่วยให้อุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

- แสดงพันธกิจที่จะประกาศเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเร็ว แทนที่จะยังคงพึ่งพามาตรการชดเชยการปล่อยคาร์บอนคาร์บอน ซึ่งจะชะลอมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศ และจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน

- จัดให้มีกลไกระดับโลกเพื่อสนับสนุนประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบด้านสิทธิ โดยประเทศร่ำรวยต้องเป็นผู้จ่ายเงิน โดยให้เป็นการให้เงินสนับสนุนใหม่และเพิ่มเติม และไม่มีเงื่อนไขให้ต้องจ่ายคืน 

- ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อประกันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของคนทุกคน ในการตัดสินใจทุกระดับเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ 

ทั้งนี้ แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเข้าร่วมประชุม COP26 ที่กรุงแกลสโกลว ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน  และพร้อมให้สัมภาษณ์สื่อในช่วงดังกล่าว