สรุปเวทีคุยและข้อเสนอแนะจากองค์กรสิทธิ นักกิจกรรม ญาติผู้ต้องขังต่อกรมราชทัณฑ์

29 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 – 10.30 น. องค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตัวแทนนักกิจกรรม คุณปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ และ คุณสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของคุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้เข้าพบผู้แทนกรมราชทัณฑ์ คุณธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คุณอัสนีย์ สังขเนตร ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา และผู้แทนท่านอื่นๆ เพื่อปรึกษาหารือการทำงานร่าวมกันในหลายประเด็น 

 

 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความเห็นถึง “นโยบายของกรมราชทัณฑ์” อาทิ การคืนคนดีกลับเข้าสู่สังคม ซึ่งต้องคำนึงการพัฒนาทักษะและให้ผู้ต้องขังเรียนรู้การใช้ชีวิตหลังพ้นโทษ เพื่อให้สามารถเป็นพลเมืองในสังคมได้ อีกทั้งยังร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น สิทธิการเลือกตั้งของผู้ต้องขัง สิทธิขั้นพทื้นฐานด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมและไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงประเด็นเรื่องทรงผมของผู้ต้องขัง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นข้อท้าทายและปัญหาอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องขังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมในด้านสุขอนามัยและความแออัดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหานักโทษล้นคุกที่สามารถนำมาตรการ เช่น การรื้อฟื้นคดี การไม่ฝากขังผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตามสิทธิในการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่อาจเป็นหนึ่งแนวทางในการช่วยลดประชากรในเรือนจำลง

 

 

ปิยนุช โครตสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องด้วยปี 2564 ประเทศไทยต้องเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ 3 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อีกทั้งทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมสนทนากลุ่มในประเด็นเรื่องผลกระทบของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ ซึ่งผู้ที่ได้ผลกระทบโดยตรงที่ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยว่า ภายในเรือนจำ มาตรฐานและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีช่องว่างหลายส่วนด้วยกัน ทั้งเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเข้าเยี่ยมของทีมทนายความและญาติของผู้ต้องขัง สิทธิการเข้าถึงทนายความี่ตนไว้ใจ รวมถึงการปรับปรุงสถานภาพในเรือนจำที่ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานระหว่างประเทศ อีกทั้งคุณปิยนุช ยังมีความกังวลเรื่องผู้ต้องขังที่ไม่ใช่คนไทยที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการรับวัคซีนของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ 

ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้พูดถึงประเด็นเรื่อง การเข้าเยี่ยมของญาติ ที่เป็นไปอย่างจำกัดทั้งเรื่องเวลา การจองคิวและช่องทางการเข้าเยี่ยม อาทิ ญาติบางรายที่มีอายุมากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ การกักตัวผู้ต้องขังนานถึง 14-21 วันทำให้ผู้ต้องขังไม่สามารถเข้าพบหรือติดต่อสื่อสารกับญาติหรือทนายความเพื่อปรึกษาเรื่องคดีความ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงกระบวการยุติธรรมของผู้ต้องขัง อีกทั้งยังมีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าถึงผู้ต้องขัง โดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทนายความต้องมีใบแต่งทนาย ทั้งที่ข้อบังคับของกรมราชทัณฑ์ระบุว่าทนายความที่ได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนได้ อีกทั้งทนายความยังประสบกับปัญหาในประเด็นเรื่องความเป็รส่วนตัวในการเข้าเยี่ยม เนื่องจากหลายกรณีมีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่ที่ทนายความและผู้ต้องขังสนทนา บางกรณีมีการแทรกแซงเนื้อหาในการสนทนาระหว่างทนายความและผู้ต้องขัง

 

 

ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ การ์ดอาสา We Volunteer และนักกิจกรรมประชาธิปไตยที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำธนบุรี เรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ให้ความเห็นในประเด็นมาตรการป้องกันโควิด-19 ในเรือนจำ การผ่อนคลายมาตรการที่สามารถให้เข้าเยี่ยมแบบเห็นหน้าได้ เนื่องจากสังคมภายนอก ก็มีการผ่อนคลายมาตรการบางส่วนแล้ว  รวมทั้งมีการพูดถึงเรื่องการคัดค้านการฝากกขังที่เป็นดำเนินไปอย่างไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส การลักลอบจำหน่ายยารักษาโรคในเรือนจำ เนื่องจากผู้ต้องขังถูกจำกัดการเข้าถึงยารักษาโรค ทำให้มีการซื้อขายยารักษาโรคที่ผิดกฎหมายอีกทั้งยารักษาโรคที่มีราคาสูงมาด้วยเช่นกัน

 

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของคุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ในฐานะญาติของผู้ต้อง ได้พูดคุยประเด็นเรื่องความยากลำบากในการเข้าเยี่ยมที่ต้องมีทนายความทุกครั้ง ส่งผลให้กรณีที่ผู้ต้องขังไม่มีทนายความ ญาติจะไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ระบบการสั่งอาหารที่แต่ละเรือนจำมีความแตกต่างกัน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันอาจเกิดความสับสนและบางกรณีไม่สามารถสั่งอาหารในวันหยุดได้ การรักษาพยาบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ต้องขังที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่สำคัญ ผู้ต้องขังทางการเมืองไม่สามารถเข้าถึงหนังสือที่หลากหลาย ถูกจำกัดการอ่าน ซึ่งการอ่านหนังสือเป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเครียดของผู้ต้องขังในเรือนจำได้ 

 

ทั้งนี้ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธมนุษยชนได้ยื่นหนังสือเรียนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจ้งถึงสภาพปัญหาจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองในห้วงระยะเวลาเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าในโอกาสต่อไป 

 

ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ส่งมองรายงานเรื่อง “ผู้ถูกลืมเบื้อหลังกรงขัง: โควิด-19 และเรือนจำ” ซึ่งเป็นรายงานที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รวบรวมสถานการณ์และมาตรการที่รัฐบาลใน 69 ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ในเรือนจำช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อเสนอแนะจากการเก็บข้อมูลในกิจกรรมสนทนากลุ่มที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาร่วมกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและอดีตผู้ต้องขัง ในการเข้าพบครั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคมได้แจ้งความประสงค์ในการสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกันกับกรมราชทัณฑ์ในภายภาคหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาและรับมือกับข้อท้าทายที่เกิดขึ้นในเรื่อนจำต่อไป