ฟิลิปปินส์ควรยกเลิกคำตัดสินให้นักข่าวจากแรพเลอร์มีความผิด จากการทำหน้าที่นำเสนอข่าว

16 มิถุนายน 2563

Amnesty International

(Photo by Mike Coppola/Getty Images)

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า ศาลกรุงมะนิลาตัดสินให้มาเรีย เรสซา บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวแรพเลอร์ และเรย์นัลโด ซานโตส จูเนียร์ อดีตผู้สื่อข่าว มีความผิดในข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางไซเบอร์” จากบทความที่เขียนเมื่อปี 2555 นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้

 

“คำพิพากษานี้เป็นเรื่องหลอกลวง และควรถูกยกเลิก เรสซา ซานโตส และทีมงานของแรพเลอร์ต้องตกเป็นเป้าหมาย เนื่องจากการรายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลดูเตอร์เต รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในฟิลิปปินส์ ข้อกล่าวหาต่อพวกเขาเป็นเรื่องการเมือง การฟ้องคดีมีแรงจูงใจทางการเมือง และการตัดสินลงโทษไม่ได้เกิดจากเหตุผลอื่นนอกจากการเมือง 

“การโจมตีสื่ออิสระครั้งล่าสุดนี้ ยิ่งทำให้สถิติด้านสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาที่องค์การสหประชาชาติจะต้องเริ่มการสอบสวนระดับนานาชาติ ต่อวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ สอดคล้องกับข้อสรุปเมื่อเร็ว ๆ นี้ของหน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 

“เรสซาและทีมงานเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพสื่อระดับโลก หลังประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้ออกมาโจมตีพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการข่มขู่และคุกคาม เส้นทางการต่อสู้ของพวกเขายังยาวนาน เนื่องจากยังถูกฟ้องอีกหลายคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และอยู่ระหว่างรอการพิจารณา

“คำพิพากษาให้มีความผิดครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์เอบีเอส-ซีบีเอ็น ซึ่งยังคงไม่สามารถออกอากาศได้จนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการโจมตีของประธานาธิบดีเช่นกัน ประชาคมระหว่างประเทศไม่อาจเพิกเฉยปล่อยให้มีการแก้แค้นต่อสื่อมวลชนอย่างชัดเจนเช่นนี้”

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ศาลกรุงมะนิลาตัดสินว่าเรสซาและซานโตสมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางไซเบอร์ โดยนับเป็นผู้สื่อข่าวรายแรกในฟิลิปปินส์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหานี้ ทั้งยังสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลาหกเดือนกับหนึ่งวัน จนถึงหกปี และสั่งให้เรสซาและซานโตสจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 400,000 เปโซ ให้กับโจทก์ในคดีนี้คือนายวิลเลียม เก็ง ซึ่งเป็นนักธุรกิจ โดยศาลอนุญาตให้ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวออกไป 

คดีต่อบุคคลทั้งสองเป็นผลมาจากรายงานข่าวสอบสวนที่เขียนโดยซานโตส และตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ในบทความมีการกล่าวหาว่าเรนาโต โคโรนา อดีตประธานศาลยุติธรรมแห่งฟิลิปปินส์ ใช้รถยนต์ซึ่งเป็นของนายเก็ง ซึ่งเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์  

อีกเจ็ดปีต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 หน่วยสอบสวนกลางของตำรวจได้จับกุมเรสซา และควบคุมตัวไว้เป็นเวลาหนึ่งคืน ก่อนจะให้ประกันตัวออกไป หลังจากกระทรวงยุติธรรมได้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า เรสซาและซานโตสมีความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางไซเบอร์” เนื่องจากบทความดังกล่าว โดยบทความนั้นตีพิมพ์สามเดือนก่อนที่พระราชบัญญัติหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางไซเบอร์จะได้รับการบัญญัติ จึงไม่ควรมีการใช้กฎหมายย้อนหลัง เนื่องจากความผิดตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนจะมีกฎหมาย 

เรสซา, ซานโตส และกรรมการบริษัทของแรพเลอร์ ต่างถูกฟ้องคดีและอยู่ระหว่างการสอบสวนในหลายข้อหาด้วยกัน ทั้งข้อหาละเมิดกฎหมายภาษี และละเมิดข้อห้ามเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลต่างชาติมีอำนาจควบคุมเหนือสื่อมวลชน ที่ผ่านมาแรพเลอร์ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องต่อประธานาธิบดีดูเตอร์เตและรัฐบาลของเขา มีการตีพิมพ์รายงานสอบสวนอย่างละเอียด กรณีที่ตำรวจและกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย ทำการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายหลายพันครั้งต่อคนยากจนและคนชายขอบ ในระหว่าง ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ 

ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC) มีคำสั่งให้บริษัทสื่อมวลชน เอบีเอส-ซีบีเอ็น หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ยุติการออกอากาศรายการโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ “เนื่องจากใบอนุญาตที่ได้รับการรับรองจากรัฐสภาหมดอายุ” ที่ผ่านมา เอบีเอส-ซีบีเอ็นทำรายงานสอบสวนหลายครั้ง เน้นให้เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากทางสถานีไม่ยอมออกอากาศโฆษณาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งของเขา โดยเขาจ่ายเงินซื้อโฆษณา ในระหว่างการเลือกตั้งปี 2559 ซึ่งเขาได้ชัยชนะ 

ในวันที่ 4 มิถุนายน รายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชี้ให้เห็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” ในประเทศ โดยรายงานได้เขียนส่วนหนึ่งว่า “มีการข่มขู่อย่างต่อเนื่องต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งโดยการตั้งข้อหาและฟ้องคดีต่อนักข่าวและนักการเมืองอาวุโสที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งมีคำสั่งให้ปิดสื่อ”