“สงครามปราบปรามยาเสพติด” ในกัมพูชาทำให้เกิดการทรมานและการทุจริตอย่างแพร่หลาย ต้องมีการยกเครื่องครั้งใหญ่ 

13 พฤษภาคม 2563

Amnesty International

ตามข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยในรายงานล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า “สงครามปราบปรามยาเสพติด” เป็นเวลาสามปีของรัฐบาลกัมพูชา ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้ศูนย์บำบัดยาเสพติดแออัดยัดเยียดเสี่ยงอันตราย และทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่สามารถปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้ว่าจะควบคุมยาเสพติดได้

รายงานเรื่อง “การใช้สารเสพติด: ผลกระทบต่อประชาชนจากการปราบปรามยาเสพติดในกัมพูชา” (Substance abuses: The human cost of Cambodia’s anti-drug campaign)) ให้ข้อมูลว่า ทางการมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนจนและคนชายขอบ มีจับกุมพวกเขาโดยพลการ มักทรมาน และปฏิบัติอย่างโหดร้ายกับผู้ต้องสงสัย และส่งตัวคนที่ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่าประกันตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำที่แออัดยัดเยียดอย่างมาก และเข้าไปอยู่ใน “ศูนย์บําบัดยาเสพติด” แบบกำมะลอ ทำให้ผู้ต้องกักไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ทั้งยังตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบอย่างรุนแรง

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ ของกัมพูชาเป็นหายนะที่ไม่รับการบรรเทา เป็นรูปแบบการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีรายได้น้อย สามารถทุจริตได้อย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อการสาธารณะสุขและความปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาได้เริ่มรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการมาเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ โดยผู้นำทั้งสองต่างประกาศความร่วมมือต่อต้านยาเสพติด จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ การรณรงค์ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการเสพและอันตรายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในกัมพูชา ทั้งนี้โดยการจับกุมผู้เสพยาเสพติดจำนวนมาก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซาร์เข่ง รัฐมนตรีมหาดไทยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับ “ผู้เสพยาและผู้ค้ายารายย่อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสพและการจำหน่าย” ทุกคน

แต่เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของฟิลิปปินส์ การปราบปรามยาเสพติดของกัมพูชาเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยมีเป้าหมายเป็นคนจนและคนชายขอบ และไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาเป็นผู้เสพยาหรือไม่

“การใช้แนวทางมิชอบเพื่อลงโทษผู้เสพยาไม่เพียงเป็นสิ่งที่ผิด หากยังไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ถึงเวลาแล้วที่ทางการกัมพูชาต้องรับฟังหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอย่างแพร่หลาย ซึ่งต่างชี้ให้เห็นว่าการรณรงค์โดยใช้กฎหมายในเชิงลงโทษ กลับยิ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมเพิ่มขึ้น” นิโคลัส เบเคลังกล่าว

 

สองระบบที่คู่ขนาน หนึ่งการรณรงค์ที่สร้างหายนะ และไม่มีกระบวนการอันควรตามกฎหมาย

ในระหว่างการสอบสวน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พูดคุยกับเหยื่อการปราบปรามยาเสพติดอย่างไร้มนุษยธรรมของกัมพูชาหลายสิบคน พวกเขาบอกว่า ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบการลงโทษที่คู่ขนานกัน บางส่วนถูกควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ ในศูนย์บำบัดยาเสพติด ส่วนคนอื่นถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามระบบยุติธรรมทางอาญา และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและชัดเจน ระหว่างการละเมิดกระบวนการอันควรตามกฎหมาย อันเป็นเหตุให้บุคคลถูกคุมขัง กับแนวทางที่ปราศจากเอกภาพในการพิจารณาว่า บุคคลใดควรถูกดำเนินคดีอาญา หรือถูกส่งตัวเข้าศูนย์บำบัดยาเสพติด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งในบางครั้งมีการรับเงินสินบน สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจเองว่า ใครจะต้องถูกปฏิบัติอย่างไร 

ดังเช่นกรณีของสบเพียบ อายุ 38 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะการปฏิบัติโดยพลการของการปราบปรามยาเสพติดครั้งนี้ เธอเริ่มจากการเสพยาบ้าเป็นครั้งคราวช่วงต้นปี 2560 หกเดือนต่อมาในเดือนตุลาคม 2560 เธอถูกจับกุมระหว่างการกวาดล้างยาเสพติดพร้อมกับเพื่อนบ้านอีกสองคนอายุ 16 และ 17 ปี

 “ตอนที่ตำรวจบุกเข้ามา เราไม่มียาเสพติดเหลืออยู่แล้ว มีอยู่แต่ขวดเปล่า ไฟแช็ก และอุปกรณ์การเสพที่วางเกลื่อนกลาด” เธออธิบาย “พวกเขาบอกว่าจะส่งเราเข้าศูนย์บำบัด....แต่ในเป็นความจริง พวกเขาจับตัวเราไปที่ศาล จากนั้นก็ส่งเราเข้าเรือนจำ”

หลายคนบอกว่า พวกเขาถูกควบคุมตัว หลังจากตำรวจบุกเข้ามาตรวจย่านชุมชนคนยากจน หรือเป็นส่วนหนึ่งของ “การปรับภูมิทัศน์” ของเมือง ส่งผลให้คนจนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องต่อสู้กับภาวะพึ่งพายาเสพติด ซึ่งทำให้เสี่ยงจะถูกจับกุม 

สะเรเนียง ผู้หญิงวัย 30 ปีจากพนมเปญให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เธอถูกทรมานหลังถูกจับกุมโดยพลการระหว่างการบุกตรวจค้นกรณียาเสพติดในพนมเปญ “พวกเขาถามดิฉันว่าขายยาไปกี่ครั้งแล้ว....ตำรวจขู่ว่าถ้าไม่ยอมสารภาพ จะเอาไฟช็อตตัวดิฉันอีก”

คนที่ถูกฟ้องในคดีอาญาให้ความเห็นตรงกันว่า กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไม่สอดคล้องกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเลย ศาลตัดสินว่ามีความผิดตามพยานหลักฐานที่อ่อนแอและบกพร่อง และยังเป็นการไต่สวนแบบรวบรัด โดยจำเลยไม่มีทนาย จำเลยหลายคนแทบไม่ทราบเกี่ยวกับสิทธิของตนเองเลย ส่งผลให้เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

วุทที ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งมีอายุเพียง 14 ปีขณะถูกจับกุม หลังถูกจับระหว่างการตรวจค้นยาเสพติด เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายซ้อม ถูกดำเนินคดีข้อหาจำหน่ายยาเสพติด เขาอธิบายถึงการสอบสวนและการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นว่า “ผมไม่เข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าการไปศาลแต่ละครั้งแตกต่างกันอย่างไร ผมเพิ่งเริ่มเข้าใจเป็นครั้งแรกตอนที่พวกเขาบอกว่าผมต้องติดคุก ไม่เคยมีใครถามเลยว่าผมมีทนายความหรือไม่ ไม่เคยมีใครจัดทนายให้ผม”

 

 

สภาพการควบคุมตัวที่ไร้มนุษยธรรม

การปราบปรามยาเสพติดยังคงเกิดขึ้นจนทุกวันนี้ เดิมกำหนดจะให้เป็นปฏิบัติการเพียงหกเดือน เริ่มจากเดือนมกราคม 2560 และส่งผลให้เกิดวิกฤติรุนแรงในปัจจุบัน คือความแออัดยัดเยียดในเรือนจำและศูนย์บำบัดยาเสพติดอื่น ๆ ของกัมพูชา

วิกฤติจากความแออัดยัดเยียดครั้งนี้ เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อสิทธิด้านสุขภาพของผู้ถูกควบคุมตัว โดยมักมีลักษณะเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

จนถึงเดือนมีนาคม 2563 จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้นถึง 78% โดยมีจำนวนมากกว่า 38,990 คน นับแต่เริ่มรณรงค์ปราบปรามยาเสพติด ที่เรือนจำ CC1 ของกรุงพนมเปญซึ่งนับเป็นเรือนจำใหญ่สุดของกัมพูชา มีนักโทษเกินกว่า 9,500 คน เกือบห้าเท่าของปริมาณที่รองรับได้ซึ่งอยู่ที่ 2,050 คน

สถานการณ์เช่นนี้ ควรเป็นเหตุให้ทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อคลายความแออัดยัดเยียดของศูนย์บำบัดยาเสพติดโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายที่เพียงพอ อย่างเช่น คนที่ถูกควบคุมตัวในศูนย์บำบัดยาเสพติด และอาจพิจารณาให้มีการลดโทษ การปล่อยตัวก่อนกำหนดหรือการปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไข และมาตรการทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การควบคุมตัว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เสี่ยงภัยอย่างมากต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

มาลีบอกถึงสภาพที่เธอและลูกสาววัยหนึ่งขวบถูกควบคุมตัวในเรือนจำ CC2 ในพนมเปญ “การเลี้ยงลูกในคุกลำบากมากเลย เพราะลูกอยากจะเดินไปโน่นมานี่ ลูกต้องการมีพื้นที่ ลูกต้องการเห็นโลกข้างนอก ลูกต้องการเสรีภาพ....แต่ในทางตรงข้าม เธอกลับต้องป่วยเพราะมีไข้และเป็นหวัด เพราะในนั้นไม่มีพื้นที่เพียงพอ ลูกจึงต้องนอนอยู่บนตัวฉัน”

แม้จะไม่มีการเผยแพร่ตัวเลขประชากรทั้งหมดในศูนย์บำบัดยาเสพติดของกัมพูชา แต่จากข้อมูลของผู้ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นถึงสภาพที่แออัดยัดเยียดภายในศูนย์บำบัดเหล่านั้น ซึ่งมีสภาพเลวร้ายไม่ต่างกับในเรือนจำ

ศูนย์บำบัดทุกแห่งมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการแพร่ระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 และผู้ต้องกักหลายคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น บางคนมีเชื้อเอชไอวีและป่วยเป็นวัณโรค การนำพวกเขามาอยู่รวมกันยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น หลง อดีตนักโทษเรือนจำ CC1 บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “ถ้ามีนักโทษคนหนึ่งป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ในเวลาไม่กี่วัน ทุกคนในห้องขังก็จะติดกันหมด มันเป็นเหมือนแหล่งเพาะเชื้อโรคดี ๆ นี่เอง”

จากวิดีโอที่เป็นการถ่ายภาพในเรือนจำของกัมพูชา ที่ได้รับการเผยแพร่โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเพียงองค์กรเดียวเมื่อเดือนที่แล้ว แสดงให้เห็นสภาพที่แออัดยัดเยียดอย่างมาก และสภาพการควบคุมตัวที่ไร้มนุษยธรรม ส่งผลให้โฆษกกรมราชทัณฑ์ออกมายอมรับว่า “ทุกวันนี้ มันก็เหมือนกับระเบิดเวลา” สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในศูนย์บำบัดยาเสพติด

แต่จนถึงปัจจุบัน ทางการกัมพูชาไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อลดประชากรในเรือนจำ แม้ในช่วงเวลาเดียวกันประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ไทย เมียนมา และอินโดนีเซีย ต่างปล่อยนักโทษออกมาหลายพันคน เนื่องจากมีความเสี่ยงภัย รวมทั้งผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วย

 

การทรมานในศูนย์บำบัดยาเสพติด

แม้ว่าศูนย์บำบัดยาเสพติดอ้างว่าให้การรักษาพยาบาลกับผู้มีอาการพึ่งพายาเสพติด แต่ในทางปฏิบัติสถานที่เหล่านี้กลายเป็นสถานที่ของการปฏิบัติมิชอบ ทุกคนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายรายละเอียดของการปฏิบัติมิชอบทางกายที่เกิดขึ้น และรุนแรงถึงขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ศูนย์บำบัด หรือเพื่อนนักโทษที่เป็น “หัวหน้าห้อง” พวกเขาได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้กวดขันวินัยเพื่อนนักโทษด้วยกัน

ทิดา ซึ่งถูกควบคุมตัวที่โอกาสขนอม ศูนย์บำบัดยาเสพติดในพนมเปญระหว่างปี 2562 ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า [ความรุนแรง] แบบนี้เกิดขึ้นกับทุกคนที่นี่ เป็นเรื่องปรกติ ความรุนแรงแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเจอทุกวัน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้”

สารัฐ ผู้ให้ข้อมูลอีกคนบอกว่า วันแรกที่ถูกจับเข้าไปในศูนย์บำบัดยาเสพติดตอนอายุ 17 ปี “ทันทีที่เจ้าหน้าที่ออกไปจากห้อง หัวหน้าห้องก็เริ่มเข้ามาซ้อมผม ผมถูกซ้อมจนหมดสติ จำไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น”

ยังมีรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงทางเพศ และการตายระหว่างถูกควบคุมตัวในศูนย์บำบัดยาเสพติดจากการสอบสวนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราพบว่ามีข้อกล่าวหาใหม่หลายประการเกี่ยวกับการเสียชีวิตเช่นนี้ พนิท อดีตหัวหน้าห้องให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขาเห็นนักโทษคนหนึ่ง “ถูกล่ามโซ่ที่มือทั้งสองข้างและที่เท้า ทำให้ไปไหนมาไหนไม่ได้ จากนั้นคนที่เป็นหัวหน้าอาคารก็ซ้อมเขาในสภาพเช่นนั้นจนกระทั่งเสียชีวิต” 

ถึงเวลาต้องยุติแนวทางเชิงลงโทษกับผู้เสพยาเสพติด

แนวทางที่สุดโต่งของทางการกัมพูชาที่นำมาใช้กับผู้เสพยา ไม่ตอบสนองเป้าหมายหลักในการลดการเสพและอันตรายจากยาเสพติด ตรงกันข้าม กลับทำให้เกิดหายนะด้านสาธารณสุขและวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับกลุ่มประชากรที่ยากจนและมีความเสี่ยงมากสุดของประเทศ

อันที่จริงมีทางเลือกอื่นอย่างชัดเจนและมีหลักฐานสนับสนุน โดยนโยบายด้านยาเสพติดระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปฏิรูปในวงกว้าง และหันมาใช้แนวทางเลือกที่มีหลักฐานสนับสนุน และช่วยคุ้มครองการสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนได้ดีขึ้น ทั้งการลดการเอาผิดทางอาญากับการเสพและครอบครองยาเสพติดเพื่อการเสพส่วนตัว กระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชายังได้ดำเนินการในเบื้องต้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ในทิศทางที่ถูกต้อง โดยการเพิ่มแนวทางบำบัดในชุมชนที่มีหลักฐานสนับสนุน

อย่างไรก็ดี จำเป็นที่จะต้องมีการสั่งปิดศูนย์บำบัดยาเสพติดแบบบังคับโดยทันทีและถาวร โดยต้องปล่อยตัวผู้ถูกกักในสถานที่ดังกล่าวทันที และต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอด้านสุขภาพและบริการด้านสังคม

นอกจากนั้น ทางการกัมพูชาควรดำเนินการโดยทันทีตามมาตรการที่ประกาศไว้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2562 กล่าวคือ การกำหนดนโยบายด้านยาเสพติดใหม่ ที่เปลี่ยนจากแนวทางการห้ามเสพ มาเป็นการคุ้มครองอย่างเต็มที่ซึ่งสิทธิของผู้เสพยาและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอื่น ๆ

 “ในกัมพูชาและทั่วโลก สิ่งที่เรียกว่าสงครามปราบปรามยาเสพติดล้วนล้มเหลว แต่ยังมีแนวทางเลือกอื่นอย่างชัดเจนที่มีพื้นฐานจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดีขึ้น ทางการกัมพูชาต้องยุตินโยบายที่เป็นการปฏิบัติมิชอบ รวมทั้งการควบคุมตัวโดยพลการและการเอาผิดทางอาญา และให้หันมาใช้นโยบายยาเสพติดในยุคใหม่ที่มีความเมตตาและเป็นผลมากยิ่งขึ้น” นิโคลัส เบเคลังกล่าว