แอมเนสตี้เรียกร้องทางการไทยตรวจสอบข้อกล่าวหา “การทรมาน” จำเลยคดีเกาะเต่า

24 ธันวาคม 2558

 

​แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทยตรวจสอบข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานจำเลยสองคนจากการที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม และต้องประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างอิสระ โปร่งใส และรอบด้านต่อข้อกล่าวหานี้

 

​วันนี้ ศาลจังหวัดเกาะสมุยพิพากษาว่านายซอ ลินและนายวินซอตุน (สัญชาติพม่าทั้งคู่) มีความผิดฐานฆาตกรรมนางสาวฮานน่าห์ วิทเธอริดจ์และนายเดวิด มิลเลอร์นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเมื่อเดือนกันยายน 2557 และตัดสินประหารชีวิตทั้งสองคน โดยทนายจำเลยมีแผนยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้

 

​ที่ผ่านมาทั้งสองคนอ้างว่าระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขาถูกทรมาน ไปตั้งแต่โดนเปลื้องผ้า ทุบตี เตะ และข่มขู่ด้วยการช็อตไฟฟ้าเพื่อบังคับให้ “รับสารภาพ” ซึ่งผู้พิพากษาได้ยกข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยอ้างว่า ไม่มีหลักฐานว่าเกิดการทรมานขึ้น และไม่มีการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

​แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ทางการไทยต้องให้การประกันว่าในการพิจารณาคดีใหม่ที่จะเกิดขึ้น ศาลจะไม่รับฟังหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นคำรับสารภาพหรือคำให้การ ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นผลมาจากการทรมาน เว้นแต่ใช้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ทำการทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำให้การดังกล่าว โดยต้องเป็นการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ การสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานเหล่านี้ ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจสอบสวนเอง

 

​ “หน่วยงานตำรวจของไทยมีประวัติความเป็นมายาวนานและมีสถิติเลวร้ายในแง่การใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายรูปแบบอื่นเพื่อบังคับให้ “รับสารภาพ” คดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่เพิ่งเกิดขึ้น ทางการไทยต้องเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขจัดการทรมาน ไม่ใช่เพียงแค่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าได้ดำเนินการแล้ว

 

​ “เราหวังว่าทางการไทยจะประกันให้มีการพิจารณาคดีใหม่อย่างถูกต้อง โดยเคารพต่อกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบครัวของน.ส.ฮานน่าห์ วิทเธอริดจ์และนายเดวิด มิลเลอร์ได้รับความยุติธรรมและไม่มีความกังวลใจเกิดขึ้น"

 

​จากการสอบสวนในคดีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบว่าข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานบุคคลผู้ถือสัญชาติพม่าทั้งสองคนมีความน่าเชื่อถือ

 

​แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งต่อการที่ศาลสั่งประหารชีวิตจำเลยทั้งสองคน

 

​สำหรับประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตบุคคลในประเทศมาตั้งแต่ปี 2552 ในขณะที่ทางการไทยแสดงพันธกิจมุ่งหน้ายกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ในช่วงปี 2558 จำนวนความผิดที่มีโทษประหารชีวิตกลับเพิ่มขึ้น

 

​“โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด โดยไม่มีผลที่พิสูจน์ได้ว่าช่วยในการป้องปรามหรือลดการเกิดอาชญากรรมเมื่อเปรียบเทียบกับการลงโทษในรูปแบบอื่น ทางการไทยต้องลดหย่อนโทษในคดีนี้ทันที และดำเนินการโดยทันทีเพื่อยกเลิกโทษประหารจากกฎหมาย” แชมพา พาเทล กล่าว