นักปกป้องสิทธิในเมียนมา ยังคงถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความเห็นภายใต้รัฐบาลของอองซานซูจี

14 เมษายน 2563

Amnesty International

Photo : Mary Tran @Amnesty International

แอมเนสตี้เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ เราจะไม่ยอมแพ้ การเอาผิดทางอาญากับนักปกป้องและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมา และเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

“น่าตกใจมากที่ทางการยังใช้กฎหมายเผด็จการ เพื่อจับกุมและควบคุมตัวนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าว ท่ามกลางการระบาดของโรคระดับโลก" 

แคลร์ อัลแกร์

 

อองซานซูจีและรัฐบาลของเธอ ปกครองประเทศและมีการเกิดการคุกคาม ข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง ดำเนินคดี และคุมขังนักปกป้องและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่อำนาจในเมียนมาเมื่อสี่ปีที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในการเปิดตัวรายงานฉบับใหม่ในวันนี้ 

 

แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ต้องคดีที่มีโทษจำคุกเพียงเพราะจัดกิจกรรมอย่างสงบ และให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายเผด็จการ ที่ถูกใช้มายาวนานเพื่อคุมขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้วิจารณ์รัฐอย่างเร่งด่วน 

 

“สี่ปีหลังจากอองซานซูจีเข้าสู่อำนาจ เมียนมายังคงเป็นประเทศที่การวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐแม้เพียงเล็กน้อย อาจเป็นเหตุให้ต้องติดคุก นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กวี และนักศึกษา ต่างถูกจับกุมและดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความเห็นของตน” 

“หลังจากที่มีการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนมาหลายทศวรรษ และเสียสละอย่างมากเพื่อการดำเนินกิจกรรมของตน น่าตกใจมากที่อองซานซูจีและพันธมิตรของเธอ แทบไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายยุคทหาร ซึ่งยังคงมีใช้อยู่เพื่อปราบปรามและลงโทษผู้วิจารณ์”  

แคลร์ อัลแกร์ ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกวิจัย รณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว  

 

ในรายงานย่อที่ชื่อ “เราจะไม่ยอมแพ้ การเอาผิดทางอาญากับนักปกป้องและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในเมียนมา” (“I will not surrender” The criminalization of human rights defenders and activists in Myanmar) ได้นำเสนอ 16 กรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ทำงานภาคประชาสังคม ซึ่งถูกจับกุม ดำเนินคดี และคุมขังในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วยนักศึกษา ผู้สื่อข่าว นักแสดงล้อเลียน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน และสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมทั้งพระภิกษุ มีการดำเนินคดีเกิดขึ้นในรัฐและภาคต่าง ๆ ทั่วเมียนมา 

 

อาธ่าน กลุ่มภาคประชาสังคมในท้องถิ่นคาดการณ์ว่า ที่ผ่านมาเฉพาะในปี 2562 มีการฟ้องคดีต่อ 331 คน เนื่องจากการใช้เสรีภาพด้านการแสดงออก 

 

ผู้วิจารณ์ตกเป็นเป้าหมายของกฎหมายเผด็จการ 

3-nan-lin-1.jpg

ผู้แจ้งความดำเนินคดีในหลายคดีเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งใช้อำนาจตามกฎหมายเผด็จการของเมียนมา เพื่อแจ้งข้อหาต่อบุคคลที่วิจารณ์เจ้าหน้าที่ในกองทัพ

กองทัพเมียนมา หรือทัดมะดอว์ ถูกตรวจสอบจากนานาชาติมากขึ้น ภายหลังกระทำการอย่างทารุณโหดร้ายต่อประชากรชาวโรฮิงญาที่เป็นมุสลิม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 เป็นต้นมา 

กองทัพเมียนมายังคงใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง รวมทั้งในรัฐสภา อย่างไรก็ดี พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา มีกลไกที่จะตรวจสอบและยกเลิกกฎหมายเผด็จการเหล่านี้ ในช่วงที่เข้าสู่อำนาจใหม่ ๆ มีการดำเนินงานเพื่อยกเลิกกฎหมายที่เป็นปัญหาบางฉบับ แต่ยังคงปล่อยให้มีการใช้กฎหมายบางฉบับต่อไป เพื่อฟ้องคดีต่อผู้วิจารณ์ในข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

“กองทัพเมียนมายังคงมีอำนาจและอิทธิพลในเมียนมาต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย” 

“แต่รัฐบาลพลเรือนต้องถูกตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า มีความประสงค์ที่จะปฏิรูป แสดงความเคารพ และคุ้มครองบุคคลจากการถูกกดขี่ คุกคาม และจับกุมตัวโดยพลการหรือไม่”  

แคลร์ อัลแกร์กล่าว

 

ในช่วงที่รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ ๆ มีการดำเนินงานในเชิงบวกอยู่บ้าง โดยมีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดจำนวนมาก และยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิบางฉบับ แต่การจับกุมบุคคลด้วยข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่การดำเนินงานเพื่อปฏิรูปสิทธิมนุษยชนตามที่สัญญาเริ่มอ่อนแรงลง เป็นที่น่าตกใจว่า การจับกุมเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นในขณะที่ทางการกำลังจัดการแก้ปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัส

 

“เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างมากที่ทางการยังคงใช้กฎหมายเผด็จการ เพื่อจับกุมและควบคุมตัวนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าว ท่ามกลางการระบาดของโรคระดับโลก การกระทำเช่นนี้ต้องยุติลง เราเรียกร้องทางการให้ทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการใช้กฎหมายเหล่านี้ทันที ไม่ควรมีการจับกุมหรือคุมขังบุคคลโดยใช้อำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

แคลร์ อัลแกร์กล่าว

 

นักศึกษาและนักแสดงถูกคุมขัง 

2-nyein-chan-2.jpg

เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมห้าคนถูกศาลสั่งจำคุก จากการประท้วงต่อต้านมาตรการสั่งห้ามให้บริการอินเตอร์เน็ตในรัฐยะไข่และรัฐชีนทางภาคตะวันตกของเมียนมา อีกสองคนหลบหนีไป เพราะกลัวจะถูกจับและคุมขังด้วยข้อหาเดียวกัน การสั่งห้ามให้บริการอินเตอร์เน็ตยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แม้ทางการยืนยันว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การสั่งปิดบริการเช่นนี้ย่อมกระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโรคระบาดของประชาชน

ทางการอ้างว่าจำเป็นต้องสั่งห้ามให้บริการอินเตอร์เน็ต เพราะมีการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ 

รายงานย่อฉบับนี้ยังนำเสนอเรื่องราวของคนหนุ่มสาวสมาชิกกลุ่มนักกวีและนักแสดง “กลุ่มนกยูง” ซึ่งเปิดการแสดงแบบพื้นบ้านในลักษณะล้อเลียน ที่เรียกว่าตังยัต ตังยัตถือเป็นรูปแบบการแสดงพื้นบ้านที่นิยมกันอย่างมากในเมียนมา โดยผสมผสานระหว่างกวีนิพนธ์ เรื่องขบขัน การล้อเลียน และดนตรี และมักจัดแสดงในช่วงเทศกาลปีใหม่ในเดือนเมษายน และในโอกาสอันเป็นมงคลอื่น ๆ 

ระหว่างการแสดงในปี 2562 นักแสดงสวมเครื่องแบบทหารและวิจารณ์กองทัพเมียนมา ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารได้ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อกล่าวโทษกลุ่มนักแสดง ส่งผลให้นักแสดงเจ็ดคนถูกจับเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมในปีนั้น 

ทุกวันนี้ นักแสดงหกคนถูกคุมขัง ต้องโทษจำคุกระหว่างสองถึงสามปีในเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้ง 

 

“การพุ่งเป้าโจมตีอย่างหนักต่อนักแสดงของกลุ่มนกยูงเป็นสัญญาณชัดเจนว่า กองทัพเมียนมาต้องการเอาคืน แต่การที่ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายเผด็จการ รวมทั้งกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมตัวนักกิจกรรมหนุ่มสาวเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเอ็นแอลดียังคงให้เครื่องมือที่จำเป็นกับกองทัพ เพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง” 

แคลร์ อัลแกร์กล่าว

 

นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและผู้สื่อข่าวตกเป็นเป้าหมาย จนต้องหลบซ่อนตัว 

6-saw-tha-phoe.jpg

ตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนคดีต่อ ซอทาโพ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เขาช่วยชุมชนท้องถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอันเนื่องมาจากโรงงานปูนซีเมนต์ในพื้นที่

เป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีในข้อหา “ยุยง” และปัจจุบันต้องหลบซ่อนตัวเพราะกลัวจะถูกจับกุม โดยอาจได้รับโทษจำคุกสองปีหากศาลตัดสินว่ามีความผิด 

ในเวลาเดียวกัน อ่องมามอู บรรณาธิการกลุ่มสื่อเพื่อการพัฒนา (Development Media Group - DMG) สำนักข่าวที่รายงานข่าวสงครามระหว่างความขัดแย้งของกองทัพเมียนมากับกองทัพอาระกัน ถูกจำคุกห้าปีเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระราชบัญญัติการสมาคมโดยมิชอบด้วยกฎหมายของเมียนมา ซึ่งเป็นกฎหมายเผด็จการที่มักถูกใช้เพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ของประเทศ

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 อ่องมามอู ต้องหลบซ่อนตัว หลังจากทราบจากรายงานข่าวของสื่ออีกสำนักหนึ่งว่าจะมีการแจ้งข้อหาต่อเขา ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจรวมทั้งสันติบาล ได้มาตามหาเขาที่สำนักงานและบ้าน เพื่อสอบปากคำญาติและเจ้าหน้าที่ของเขา  

อ่องมามอู ยังคงหลบซ่อนตัวหลังผ่านไปกว่า 10 เดือน ช่วงปลายเดือนมีนาคม กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของเมียนมาสั่งการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในเมียนมา ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของสำนักข่าวดีเอ็มจี รวมทั้งเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ “ข่าวปลอม”  

 

การปฏิรูปตามสัญญาต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ก่อนการเลือกตั้งใหม่ 

d0d1834e3d72ffcf98c86203a1348112ddb4d0c6.jpg

ในขณะที่เมียนมาเตรียมเลือกตั้งตามกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นทางการ ทั้งรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีและกองทัพ ให้ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้วิจารณ์ โดยควรประกันให้มีการปฏิรูปที่จำเป็น เพื่อให้ทุกคนในเมียนมาสามารถใช้สิทธิมนุษยชนของตนได้อย่างเสรี รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ  

 

 “หลังการปกครองของทหารได้กึ่งศตวรรษ คนจำนวนมากคาดว่าการเลือกตั้งในปี 2558 ของเมียนมา จะเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปฏิรูปกฎหมายเผด็จการที่ดำรงอยู่มายาวนาน แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างที่ได้กล่าวไว้” 

“หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงใจและจริงจัง จะมีคนอีกจำนวนมากที่อาจถูกคุกคาม ข่มขู่ และคุมขัง เพียงเพราะแสดงความเห็นของตน โดยเฉพาะหากเขากล่าวถึงความอยุติธรรม กฎหมายที่ละเมิดสิทธิ หรืออาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอื่นที่เกิดจากกองทัพเมียนมา”  

แคลร์ อัลแกร์กล่าว

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม