รายงานใหม่แอมเนสตี้เผย การสอดส่องบนโลกออนไลน์คือภัยคุกคามใหม่ด้านสิทธิมนุษยชน

21 พฤศจิกายน 2562

Amnesty International

การสอดส่องออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นของเฟซบุ๊กและกูเกิลกำลังเกิดขึ้นกับประชาชนหลายพันล้านคน และถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเตือนในรายงานใหม่ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบในแง่รูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้

 

รายงาน ยักษ์ใหญ่ด้านการสอดส่องออนไลน์  “Surveillance Giants เผยให้เห็นว่า ธุรกิจในรูปแบบการสอดส่องออนไลน์ ทั้งของเฟซบุ๊กและกูเกิล มีลักษณะพื้นฐานที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิความเป็นส่วนตัว และเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นระบบต่อสิทธิอื่น ๆ รวมทั้งเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก เสรีภาพด้านความคิด และสิทธิที่จะเข้าถึงความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ 

 

“กูเกิลและเฟซบุ๊กต่างครอบงำชีวิตในยุคสมัยใหม่ ทั้งสองบริษัทต่างกุมอำนาจมหาศาลในโลกดิจิทัล พวกเขาเก็บรวบรวมและค้ากำไรจากข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหลายพันล้านคน การควบคุมอย่างแยบยลเหนือชีวิตทางดิจิทัลของเรา ทำลายความเป็นส่วนตัว และเป็นปัญหาท้าทายสำคัญสุดอย่างหนึ่งต่อสิทธิมนุษยชนในยุคของเรา” 

“เพื่อที่จะคุ้มครองคุณค่าหลักของมนุษย์ในยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงศักดิ์ศรี การกำหนดชะตากรรมของตนเอง และความเป็นส่วนตัว เราจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างพื้นฐานของแนวทางการดำเนินงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้ และต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบอินเตอร์เน็ตที่ยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญ” 

คูมี นายดู เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 

 

กูเกิลและเฟซบุ๊กได้ครอบงำช่องทางการสื่อสารหลักของโลก ซึ่งเป็นช่องทางที่จำเป็นเพื่อให้สามารถใช้สิทธิออนไลน์ได้ หากไม่นับประเทศจีน แพลทฟอร์มต่าๆ ของบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Google Search, YouTube และ WhatsApp เป็นช่องทางที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูล เข้าร่วมในการถกเถียง และมีส่วนร่วมด้านสังคม ระบบแอนดรอยด์ของกูเกิลยังเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในโลก 

13e6b8a6e365aa3474d74440db952143cc2aaf15.jpg

ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอื่นๆ รวมทั้งแอปเปิล แอมะซอน และไมโครซอฟต์ ต่างมีอำนาจอย่างมากในกิจการของตน แต่แพลทฟอร์มของเฟซบุ๊กและกูเกิลกลายเป็นช่องทางพื้นฐาน ที่ประชาชนมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ถือเป็นพื้นที่กลางใหม่ของการพบปะในระดับโลก 

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีให้บริการกับประชาชนหลายพันล้านคนโดยไม่คิดมูลค่า โดยผู้ใช้งานต้องจ่ายค่าบริการในรูปของข้อมูลส่วนบุคคลของตน กล่าวคือต้องยอมให้ถูกสอดส่องติดตามออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสอดส่องในทางกายภาพ อย่างเช่น การสอดส่องผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่ต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ต 

 

“อินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประการต่างๆ แต่ประชาชนหลายพันล้านคนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยอมเข้าสู่พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยเฟซบุ๊กและกูเกิล” 

“ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ระบบอินเตอร์เน็ตที่เป็นอยู่แตกต่างจากระบบอินเตอร์เน็ตที่พวกเราลงชื่อเข้าร่วมใช้บริการ และตอนที่เริ่มมีแพลทฟอร์มเหล่านี้ กูเกิลและเฟซบุ๊กค่อยๆ ล้วงความเป็นส่วนตัวของเราไปทีละน้อย จนเราติดกับดักในปัจจุบัน กล่าวคือ เราต้องยอมตกเป็นเป้าหมายของเครื่องมือการสอดส่องออนไลน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งข้อมูลของเราได้ถูกเปลี่ยนเป็นอาวุธเพื่อครอบงำและชักจูงใจของเราได้อย่างง่ายดาย หากเราไม่ยอมให้ทำเช่นนั้นไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากโลกดิจิทัลเลย ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ชอบธรรม เราต้องทวงคืนพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นเหล่านี้ เพื่อให้เราสามารถเข้าร่วมในพื้นที่นี้ได้โดยไม่ถูกปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิ” 

คูมี นายดูกล่าว 

 

การตักตวงและนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ไม่สอดคล้องกับองค์ประกอบใดๆ ของสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมทั้งเสรีภาพที่จะปลอดจากการรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของเรา สิทธิในการควบคุมข้อมูลและตัวเราเอง และสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่ที่เราสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเสรี 

 

อัลกอริทึมที่มุ่งแสวงหาประโยชน์

 

แพลทฟอร์มของกูเกิลและเฟซบุ๊กต่างถูกออกแบบตามสูตรอัลกอริทึม ซึ่งถูกใช้เพื่อประมวลผลข้อมูลในปริมาณมหาศาล ทั้งนี้เพื่อจำแนกคุณลักษณะอย่างละเอียดของผู้ใช้งาน และเพื่อหาทางครอบงำการรับรู้ทางออนไลน์ของพวกเขา ส่งผลให้บริษัทโฆษณายอมจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กและกูเกิล เพื่อให้ทำโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลเหล่านี้ หรือการสร้างข้อความที่ตรงใจคนเหล่านี้ 

 

เหตุการณ์อื้อฉาวกรณีเคมบริดจ์แอนะลิติกา เผยให้เห็นการปฏิบัติมิชอบต่อข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อครอบงำและโน้มน้าวใจบุคคลเหล่านั้น 

 

 “เราได้เห็นแล้วว่า โครงสร้างพื้นฐานในการโฆษณาของทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊ก เป็นอาวุธสำคัญที่ตกอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งอาจถูกใช้ประโยชน์อย่างมิชอบเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และอาจสร้างหายนะรุนแรงต่อสังคม โดยปล่อยให้มีการใช้ยุทธวิธีการโฆษณาที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ อย่างเช่น การสร้างโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนผู้อ่อนแอ ผู้ป่วยทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ หรือผู้ที่มีอาการเสพติด เนื่องจากเป็นการออกแบบโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เป็นการเฉพาะ ทำให้ขาดการตรวจสอบจากสาธารณะ”

คูมี นายดูกล่าว 

 

e1643fe9f2881ef15e3c572f0292188200d383e8.jpg

ระบบอินเตอร์เน็ตแบบใหม่ 

 

รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรื้อโครงสร้างธุรกิจที่มีการสอดส่องออนไลน์ และคุ้มครองบุคคลให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนของบรรษัท ทั้งนี้โดยการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เข้มแข็ง และการใช้มาตรการที่เป็นผลเพื่อควบคุมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ดำเนินการอย่างสอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

ในขั้นแรก รัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่าง ๆ อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก สามารถกำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงบริการ โดยบังคับให้บุคคลต้อง “ยินยอม” ให้มีการเก็บ ประมวลผล หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลของตน เพื่อการตลาดและการโฆษณา บริษัทต่างๆ รวมทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กยังต้องแสดงความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าเป็นการดำเนินงานในขั้นตอนหรือในรูปแบบใด 

 

“เราต้องไม่ยอมให้เฟซบุ๊กและกูเกิลครอบงำชีวิตออนไลน์ของเรา บริษัทเหล่านี้เลือกใช้แนวทางธุรกิจแบบการสอดส่องออนไลน์ ซึ่งกระทบต่อความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เทคโนโลยีที่เป็นพลังขับเคลื่อนอินเตอร์เน็ตไม่ขัดแย้งกับสิทธิของเรา แต่แนวทางธุรกิจที่เฟซบุ๊กและกูเกิลเลือกใช้ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน” คูมี นายดูกล่าว

“ถึงเวลาที่เราต้องทวงคืนพื้นที่สาธารณะออนไลน์เพื่อทุกคน แทนที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ทรงอิทธิพลแต่ขาดการตรวจสอบได้จากซิลิคอน วัลเลย์เพียงไม่กี่แห่ง” 

คูมี นายดูกล่าว

 

เฟซบุ๊กและกูเกิลต่างโต้แย้งข้อค้นพบในงานวิจัยนี้ เราได้นำความเห็นของบริษัททั้งสองมารวมไว้ในรายงานนี้ด้วย 

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม