การสั่งระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวี ทำให้เห็นว่าประเทศไทยควรยกเลิกการควบคุมเสรีภาพสื่อที่ถูกจำกัดอย่างกว้างขวาง

15 กุมภาพันธ์ 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องในวันนี้ ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหารของไทย ฟื้นฟูเสรีภาพสื่อในประเทศ ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำมานานแล้ว คือการแก้ไขและยกเลิกคำสั่งที่ให้อำนาจควบคุมจำกัดอย่างกว้างขวางและมีถ้อยคำคลุมเครือ ซึ่งบ่อยครั้งถูกอ้างว่าใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ภายหลังการทำรัฐประหารในปี 2557 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า นับแต่ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 หน่วยงานของกองทัพไทยยังคงพุ่งเป้าควบคุมบุคคลและสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอ โดยบุคคลและสื่อเหล่านั้นแสดงความเห็นที่ถูกมองว่าต่อต้านทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มีมาตรการลงโทษและการดำเนินคดีอาญา มีการใช้หลักเกณฑ์ที่กว้างขวางเพื่อเหมารวมว่าเป็นการต่อต้านทางการเมือง และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อทางการ เป็นประเด็นที่คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่ผ่านมาไม่สามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความมั่นคงของชาติที่ชอบธรรมและต้องการปกป้องมีลักษณะอย่างไร รวมทั้งการแสดงออกแบบใดจึงถือเป็นการคุกคามอย่างเป็นรูปธรรม

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลต่อการสั่งระงับการออกอากาศเป็นเวลา 15 วันของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล โดยการอ้างพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ให้อำนาจในการระงับการเผยแพร่รายการที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการใช้คำสั่งห้ามที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562  ทำให้เกิดข้อกังวลว่า เป็นคำสั่งที่มีแรงจูงใจทางการเมือง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ออกคำสั่งระงับการออกอากาศของวอยซ์ทีวี เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 กสทช.ระบุว่าทางสถานีได้ออกอากาศรายการที่สร้างความสับสนให้กับสังคม ยุยงให้เกิดความขัดแย้งและคุกคามความมั่นคงของชาติ ในรายการที่ออกอากาศช่วงเดือนธันวาคม 2561 และมกราคม 2562 ซึ่งมีการเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งให้มาให้ความเห็น โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการ และเผยแพร่ความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการจัดการเลือกตั้งของคสช. และการบริหารเศรษฐกิจ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการ แก้ไขหรือยกเลิกประกาศคำสั่งควบคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และควบคุมการแสดงความเห็นใดที่ถูกมองว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร” รวมทั้งความเห็นต่อรัฐบาลทหาร “ซึ่งไม่เป็นการกระทำโดยสุจริตใจ หรือมีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับคสช.” ข้อความเหล่านี้ถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมเนื้อหาสื่อต่าง ๆ ที่ผ่านมาทางการได้สั่งพักใบอนุญาตของสื่อมวลชน รวมทั้งวอยซ์ทีวีและพีซทีวีเป็นเวลา 30 วัน และมีการสั่งงดออกอากาศบางรายการไปแล้ว รวมทั้งผู้จัดรายการที่กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับทางการ

 

ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 ซึ่งมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของไทยเป็นผู้บังคับใช้ สถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมเหล่านี้ อาจถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 50,000 - 500,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิดสถานี โดยกสทช.ไม่ต้องรับผิดใด ๆ จากการใช้อำนาจตามประกาศคำสั่งเหล่านี้ เนื้อหาของประกาศคำสั่งที่กว้างขวางและการตีความการใช้อำนาจเหล่านี้จนเกินขอบเขต ส่งผลในเชิงคุกคามและปิดกั้นการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

 

เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่เป็นทหาร มีอำนาจคล้ายกันตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ในการออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด “ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน”

 

ตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์และข้อมูลจากแหล่งใด ๆ เข้าร่วมในการอภิปรายและการรณรงค์สาธารณะ วิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง และแสดงความเห็นที่หลากหลาย หรือเป็นความเห็นที่ตรงข้ามกับรัฐบาล โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการคุมขัง การคุกคาม หรือการประหัตประหาร ในการควบคุมจำกัดสิทธิดังกล่าว รัฐบาลมีภาระพิสูจน์ต้องแสดงให้เห็นว่า ได้เกิดภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อความมั่นคงของชาติ โดยไม่เป็นเพียงแค่การสันนิษฐาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกติกา ICCPR มักปฏิเสธไม่ให้มีการสร้างความชอบธรรมใด ๆ เพื่อจำกัดสิทธิอย่างกว้างขวาง โดยอ้างอย่างคลุมเครือต่อความมั่นคงของชาติ’

 

แอมเนสตี้จึงกระตุ้นให้คสช.ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงพันธกรณีที่จะต้องไม่ควบคุมจำกัดสิทธิอย่างไม่จำเป็นโดยอ้างความมั่นคง ทั้งนี้รวมถึงการอนุญาตให้มีการรณรงค์กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐและรัฐบาล และการต่อต้านทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรงเป็นอย่างน้อย การลงโทษสื่อมวลชนเพียงเพราะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล ย่อมไม่อาจถือเป็นเหตุอันควรต่อการควบคุมจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด