ประเทศไทย: ยกเลิกคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อฮาคีม อาลี อัล อาไรบี ผู้ลี้ภัย

4 กุมภาพันธ์ 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

ภาพโดย Mark Avellino Photography

ก่อน “ฮาคีม อาลี อัล อาไรบี” นักฟุตบอลซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจะขึ้นศาล เพื่อรับการไต่สวนคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ แคทเธอรีน เกอร์สัน นักรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเด็นประเทศไทยกล่าวว่า

 

 

ทางการไทยควรยุติกระบวนการใด ๆ ที่เป็นผลมาจากคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ฮาคีมเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการทรมานในบาห์เรน และครอบครัวของเขายังถูกประหัตประหารต่อไปที่นั่น นอกจากนั้นฮาคีมและภรรยาก็ยังได้รับที่พักพิงในออสเตรเลีย เขาไม่ควรถูกกักตัวแม้แต่อีกเพียงวันเดียวก็ตาม และควรได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านที่เมลเบิร์นทันที

 

รัฐบาลไทยควรตระหนักว่า แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวของบาห์เรนคือการจับตัวฮาคีมมาลงโทษอีก จากการที่เขาออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสงบ และหากถูกส่งตัวกลับไปบาห์เรน ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่เขาจะถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย ทั้งนี้ตำรวจสากลทำถูกต้องแล้วที่ได้ยกเลิก “หมายแดง” เพื่อจับตัวฮาคีม เนื่องจากเป็นการออกหมายที่ขัดกับนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัยของหน่วยงาน  

กรณีนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลก ทำให้คนทั้งโลกต้องตื่นตระหนก เช่นเดียวกับกรณีราฮาฟ โมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยจากซาอุดีอาระเบีย ทางการไทยมีโอกาสอีกครั้งที่จะแสดงเจตจำนงเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย โดยการปล่อยตัวฮาคีม และไม่ปฏิบัติตามคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของบาห์เรน เนื่องจากการปฏิบัติตามคำขอเช่นนี้ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พนักงานอัยการของไทยได้ยื่นคำร้องขอส่งตัวอัล อาไรบีเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ในนามของรัฐบาลบาห์เรน ระหว่างเดินทางโดยใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทางของออสเตรเลีย อัล อาไรบีถูกควบคุมตัวพร้อมกับภรรยา ทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อปีที่แล้ว เป็นไปตามการออกหมายแดงที่ผิดพลาดของตำรวจสากล ปัจจุบันเขายังคงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ

  

ตามขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คาดว่าอัล อาไรบีจะต้องขึ้นศาลในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) โดยศาลจะสอบถามว่าเขาประสงค์ที่จะถูกส่งตัวไปบาห์เรนหรือไม่

  

เขาเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน และที่ผ่านมาได้วิพากษ์วิจารณ์ทางการบาห์เรนอย่างสงบและเปิดเผยหลังถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และถูกทรมาน เขาหลบหนีไปออสเตรเลียและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2560 ทางการบาห์เรนมีสถิติที่เลวร้ายในแง่การปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ 

 

ในปี 2557 ผลจากการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้เขาได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในการพิจารณาลับหลัง ในข้อหาทำลายโรงพัก ปัจจุบันพี่ชายหรือน้องชายของเขายังคงใช้โทษจำคุกในข้อหาเดียวกัน 

 

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามในการส่งตัวบุคคลกลับไปยังดินแดนใด ๆ ที่บุคคลผู้นั้นมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะถูกทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความเคารพมากขึ้นต่อข้อห้ามนี้ รวมทั้งการให้สัญญาในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2559 ว่าจะออกพระราชบัญญัติต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยรวมถึงการคุ้มครองไม่ให้มีการบังคับส่งกลับ

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

 เนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้ประสานงานสื่อสารองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

มือถือ 089 922 9585 หรืออีเมล media@amnesty.or.th ID LINE: nong539081