ยื่น 4 หมื่นชื่อหยุด #SingleGateway
หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์

7 กรกฏาคม 2559

 

เครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้รวมตัววางแล็ปท็อปเก่าหน้ารัฐสภา เรียกร้องเสรีภาพออนไลน์และความเป็นส่วนตัว พร้อมยื่น 4 หมื่นรายชื่อหยุด #SingleGateway และกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์

 

หลังทำแคมเปญ "หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล" บน change.org มาได้ระยะหนึ่งจนรวบรวมผู้สนับสนุนได้เกิน 40,000 รายชื่อ เครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมตัวนำแล็ปท็อปและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ "เก่า" และ "พัง" ไปวางหน้าทางเข้ารัฐสภา เพื่อสื่อสารว่าหากมีการผ่าน "ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" เสรีภาพออนไลน์จะได้รับความเสียหายไม่ต่างอะไรจากอุปกรณ์พวกนี้

 

หลังจากนั้น นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องที่มีผู้สนับสนุนมากกว่า 40,000 คน ต่อ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง

 

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องเดิมที่เคยยื่นต่อ สนช. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมาว่ามีความกังวลอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในบางมาตรา ที่อาจปิดกั้นสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกทางอิเล็กทรอนิกส์และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

 

"สิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิความเป็นส่วนตัวควรได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นประเทศภาคีมาตั้งแต่ปี 2539 หน้าที่ของทางการไทยจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่การพยายามปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่”

 

ด้านนายพีระศักดิ์กล่าวขอบคุณเครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ประเทศไทยที่ใช้ช่องทางแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสม และระบุว่าจะว่าจะนำข้อมูลไปหารือกับประธาน สนช. ที่ประชุมวิป สนช. และสมาชิก สนช. เพื่อประกอบการอภิปรายในวาระที่ 2 และ 3 ของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป โดยอยากให้เครือข่ายพลเมืองเน็ตเข้าไปชี้แจงให้คณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าใจมากยิ่งขึ้น

 

"ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" หรือ "ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ...." เป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" ที่องค์กรภาคประชาชน 6 องค์กรและประชาชนมากกว่า 22,000 คนเคยเข้าชื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณา และรัฐบาลรับปากจะแก้ไขให้ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

 

ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตเรียกร้องให้สมาชิก สนช. พิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน แก้ไขร่างมาตรา 15 และ 20 ให้การออกมาตรการใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น ตลอดจนพิจารณาตัดมาตรา 20 (4) ออกจากร่าง