แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญ “กล้า” (BRAVE) ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

16 พฤษภาคม 2560

แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญใหม่ "กล้า" สร้างความตระหนักรู้และเรียกร้องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกซึ่งกำลังถูกโจมตีและคุกคามอย่างหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัวแคมเปญ "กล้า" หรือ BRAVE แคมเปญระดับนานาชาติเพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างกล้าหาญทั่วทุกมุมโลก เนื่องจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศต่างกำลังเผชิญหน้ากับการโจมตี คุกคาม ปราบปราม และการใช้ความรุนแรงมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนรับประกันเสรีภาพและความปลอดภัยของพวกเขา

แอมเนสตี้พบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 68 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวโดยพลการเพียงเพราะทำงานตามหลักสันติวิธี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่า 94 ประเทศถูกคุกคามและทำร้าย พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

ในรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน–พื้นที่ภาคประชาสังคมที่ถูกบีบให้เล็กลง” ของแอมเนสตี้เผยให้เห็นถึงภัยคุกคามที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญหลากหลายรูปแบบ หลายครั้งเป็นการโจมตีถึงขั้นหมายเอาชีวิต จากข้อมูลของ Front Line Defenders ระบุว่าในปี 2559 มีผู้ถูกสังหารถึง 281 คนจากการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มขึ้นจาก 156 คนในปี 2558

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าแอมเนสตี้ประเทศไทยร่วมทำแคมเปญ "กล้า" เพื่อให้มีการตระหนักถึงความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการปกป้องการทำงานของพวกเขาอย่างจริงจัง

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมแสดงความกังวลผ่านโครงการรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับสากล พวกเราตระหนักถึงการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามหรือถูกละเมิดสิทธิเราอยากเรียกร้องให้คนกล้าออกมาช่วยเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาคือผู้กล้าที่จะปกป้องและยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น เหล่าผู้กล้าเหล่านั้นกำลังต้องการผู้กล้าอย่างคุณเพื่อสนับสนุนกันและกันในการที่จะช่วยกันสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับเราทุกคน” นางปิยนุชกล่าว

"นักปกป้องสิทธิมนุษยชน" คือบุคคลที่ปกป้องและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับชุมชน ภูมิภาค ประเทศ หรือแม้แต่ระดับนานาชาติ โดยไม่ใช้และไม่สนับสนุนการใช้ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอาจเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่นักข่าว ทนายความ อาจารย์ สหภาพแรงงาน คนที่เปิดโปงการกระทำผิด ไปจนถึงชาวไร่ชาวนาและคนธรรมดาทั่วไป โดยประเทศต่างๆ ต้องยอมรับบทบาท เห็นความสำคัญ และมีนโยบายคุ้มครองพวกเขาอย่างจริงจัง

สำหรับประเทศไทย PROTECTION international (PI) เผยว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและสูญหายทั้งหมด 59 คน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุด ซึ่งมีการสอบสวนและนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้น และหากมองย้อนหลังไป 35 ปี พบว่าประเทศไทยเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหายรวม 90 กรณี โดยจนถึงปัจจุบัน 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไข

นางปิยนุชกล่าวทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่เนลสัน แมนเดลา มาลาลา ยูซาฟไซ เชลซี แมนนิง มาจนถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ และลุงเด่น คำแหล้ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญที่ปฏิเสธระบบที่เป็นอยู่และลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง หากปราศจากความกล้าหาญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โลกของเราจะมีความเป็นธรรม ยุติธรรม และเท่าเทียมกันน้อยลง วันนี้จึงเป็นวันที่พวกเราเรียกร้องให้ทุกคน ไม่เฉพาะผู้นำโลก ต้องยืนหยัดเคียงข้างและคุ้มครองบุคคลผู้กล้าหาญเหล่านี้”

สถิติที่สำคัญเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปี 2559

  • อย่างน้อย 22 ประเทศ สังหารประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างสงบ
  • 63 ประเทศ สร้างข่าวเท็จเพื่อทำให้ภาพพจน์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสียหาย
  • 68 ประเทศ จับกุมหรือควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานอย่างสันติ
  • 94 ประเทศ คุกคามหรือโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน