แอมเนสตี้พบ "สงครามยาเสพติด" ฟิลิปปินส์อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

1 กุมภาพันธ์ 2560

 

แอมเนสตี้ตีพิมพ์รายงานใหม่ สงครามยาเสพติดฟิลิปปินส์พุ่งเป้าไปที่คนจน ตำรวจฆ่าและจ้างวานฆ่าเหยื่อ ลักทรัพย์เหยื่อ ตลอดจนได้เงินรางวัลค่าสังหารด้วย ซึ่งทั้งหมดอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงานผลการสืบสวน “If you are poor you are killed”: Extrajudicial Executions in the Philippines’ “War on Drugs” (ถ้าคุณจน คุณก็จะถูกฆ่า: การวิสามัญฆาตกรรมในสงครามยาเสพติดของฟิลิปปินส์) โดยค้นพบว่าปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดของตำรวจส่วนใหญ่มุ่งไปที่คนยากจนทั่วประเทศ มีการยัดหลักฐานปลอม จ้างมือปืนเถื่อน ลักทรัพย์เหยื่อที่ถูกสังหาร ไปจนถึงปลอมข้อมูลในการรายงานของทางการ

 

“นี่ไม่ใช่สงครามต่อยาเสพติด แต่เป็นสงครามต่อคนจน หลายครั้งที่คนที่ถูกกล่าวหาว่าขายยาถูกสังหารเพื่อเงินจากธุรกิจการฆ่า แม้จะมีหลักฐานอันน้อยนิด” ทีรานา ฮัสซาน ผู้อำนวยการฝ่ายตอบสนองภัยพิบัติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

 

“ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีดูแตร์เต ตำรวจฟิลิปปินส์ละเมิดกฎหมายที่พวกเขาควรจะยึดถือ โดยได้รับผลประโยชน์จากการสังหารคนจนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เส้นทางที่ดูแตร์เตใก้คำมี่นสัญญาว่าจะกำจัดอาชญากรรมให้หมดไป ตอนนี้กลับเต็มไปด้วยศพของผู้ที่ถูกตำรวจสังหาร” ทีรานา ฮัสซาน กล่าวเสริม

 

ตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเจ็ดเดือนก่อน เขาสั่งการให้มีการปราบปรามยาเสพติดขั้นรุนแรงทั่วประเทศหรือที่เรียกกันว่า “สงครามยาเสพติด” มีผู้ถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 7,000 คน หรือราว 1,000 คนต่อเดือน โดยอย่างน้อย 2,500 คนในนั้นถูกสังหารจากตำรวจโดยตรง ส่วนที่เหลือถูกสังหารจากมือปืนที่ตำรวจจ้างและกองกำลังไม่ทราบฝ่าย

 

ข้อค้นพบของแอมเนสตี้ได้มาจากการวิเคาระห์ข้อมูลการสังหาร 33 กรณีซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 59 คน นักวิจัยแอมเนสตี้ยังได้สัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องอีก 110 คนใน 20 เมืองทั่วฟิลิปปินส์ ตลอดจนศึกษาเอกสารรายงานของตำรวจด้วย

 

การวิสามัญฆาตกรรมที่ถูกสั่ง จงใจ หรือยินยอมให้เกิดขึ้นโดยตำรวจหรือรัฐบาลถือว่าผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สุดคือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้รับการรับรองทั้งในกฎหมายฟิลิปปินส์และกฎหมายระหว่างประเทศ

 

344_0.jpg

 

ตำรวจสังหารประชาชนที่ไม่มีอาวุธและปลอมหลักฐาน

 

รายงานของตำรวจฟิลิปปินส์มักอ้างว่าตำรวจถูกยิงใส่ก่อนทำให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรม ในทางตรงกันข้าม พยานในเหตุวิสามัญฆาตกรรมหลายคนเปิดเผยกับแอมเนสตี้ว่าตำรวจมักบุกค้นบ้านในเวลากลางดึก ไม่มีการพยายามที่จะจับกุม แต่กลับยิงปืนใส่คนที่ไม่มีอาวุธแทน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่ยอมมอบตัวหรือร้องขอชีวิต และในบางกรณี ตำรวจยัดยาเสพติดและปืนเพื่อเป็นหลักฐานปลอม และลักขโมยทรัพย์สินของเหยื่อที่ถูกสังหารด้วย

 

พยานคนหนึ่งในเหตุวามัญฆาตกรรมที่เมืองเซบูซิตี้เล่าว่าสามีของเธอถูกตำรวจยิงสังหารแม้ว่าเขาจะประกาศขอมอบตัวก็ตาม และมีทรัพย์สินมีค่าในบ้าน เช่น แล็ปท็อป นาฬิกา และเงินสด หายไปหลังเหตุสังหารด้วย ขณะที่ภรรยาของเหยื่อคนหนึ่งในเมืองบาทางกาสซิตี้เล่าว่าเธอถูกตำรวจลากออกไปรุมซ้อมหลังสามีของเธอถูกยิงเสียชีวิต

 

แอมเนสตี้พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป้นกลุ่มคนยากจน บางกรณีที่ตำรวจฟิลิปปินส์บุกเข้าจับกุมขบวนการยาเสพติดต่างชาติโดยไม่ใช้กองกำลังและไม่มีการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำว่านี่ไม่ใช่สงครามยาเสพติด หากแต่เป็นสงครามต่อคนจน เพราะผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนจนกลับไม่ได้รับความเคารพและการปกป้องในลักษณะดังกล่าว

 

 

ธุรกิจการฆ่า

 

การสังหารของตำรวจถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งคำสั่งและแรงกดดันจากผู้บัญชาการระดับสูง ไปจนถึงเงินรางวัลที่พวกเขาจะได้รับการจากการสังหารผู้ต้องสงสัยด้วย โดยตำรวจอาวุโสคนหนึ่งในกรุงมะนิลาเปิดเผยกับแอมเนสตี้ว่าตำรวจจะได้รับเงินจากการสังหารจริง

 

ตำรวจคนนี้เล่าว่า “เราจะได้เงินรางวัลจากการสังหารแต่ละครั้ง จำนวนเงินเริ่มตั้งแต่ 8,000 เปโซ (5,663 บาท) จนถึง 15,000 เปโซ (10,618 บาท) ต่อหัว ถ้าเราฆ่าคนสี่คนในคราวเดียวก็จะได้ 32,000 เปโซ (22,652 บาท) สำนักงานใหญ่จ่ายให้ลับๆ เป็นเงินสด ส่วนการจับกุมเฉยๆ จะไม่มีเงินรางวัล”

 

นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,1000 คนในสงครามยาเสพติดของฟิลิปปินส์ยังถูกสังหารจากกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายด้วย โดยมีลักษณะคล้ายๆ กันคือมีมือปืนนั่งมอเตอร์ไซค์มายิงเหยื่อจนเสียชีวิตแล้วขับหนีไป มือปืนรับจ้างสองคนเปิดเผยกับแอมเนสตี้ว่าพวกเขาถูกจ้างโดยตำรวจในราคา 5,000 เปโซ (3,539 บาท) ต่อผู้เสพยาหนึ่งคน และ 10,000 ถึง 15,000 เปโซ (7,078 ภึง 10,618 บาท) ต่อผู้ค้ายาหนึ่งคน โดยก่อนสมัยประธานาธิบดีดูแตร์เต พวกเขามีงานประมาณเดือนละสองครั้ง แต่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นเป็นสามถึงสี่ครั้งต่อสัปดาห์

 

ผู้ที่ตกเป็นเป้าการสังหารส่วนใหญ่คือผู้ที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัยเสพยาหรือค้ายาของรัฐบาลท้องถิ่น ชื่อทั้งหมดถูกบันทึกรวบรวมไว้ไม่ว่าผู้ต้องสงสัยจะเคยเสพหรือค้ายาเสพติดมานานแค่ไหน จะเสพมากเสพน้อย หรือเลิกเสพเลิกค้าไปแล้วก็ตาม และในบางครั้ง มีคนถูกเจ้าหน้าที่เพิ่มชื่อเข้าไปเพราะต้องการกลั่นแกล้งหรือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ถูกสังหารในพื้นที่ด้วย

 

 

อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ในเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ฟาทู เบนซูดา อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ แถลงแสดงความกังวลต่อการสังหารในฟิลิปปินส์ พร้อมระบุว่าเธออาจเริ่มการสอบสวนเบื้องต้นเพื่อดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายอาชญากรรมหรือไม่

 

แอมเนสตี้มีความกังวลอย่างมากต่อการสังหารผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดอย่างจงใจ กว้างขวาง และเป็นระบบ ซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกวางแผนและจัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐนี้ อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

 

แอมเนสตี้เรียกร้องประธานาธิบดีดูแตร์เตให้สั่งยุติการวิสามัญฆาตกรรมโดยทันที และปรับปรุงนโยบายด้านยาเสพติดให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมฟิลิปปินส์สืบสวนและเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหาร ไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะมียศตำแหน่งต่ำหรือสูงแค่ไหนก็ตาม

 

ทีรานา ฮัสซาน กล่าวปิดท้ายว่า “เราต้องการเห็นเจ้าหน้าที่รัฐของฟิลิปปินส์แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศด้วยตัวเอง แต่หากไม่มีการลงมือแก้ไขอย่างจริงจังในเร็วๆ นี้ ประชาคมโลกควรหันไปหาอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อที่จะสืบสวนเบื้องต้นต่อการสังหารเหล่านี้ ซึ่งอาจเกี่ยวพันถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลด้วย”

 

 

 

 


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

 

รายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษ