การประหารชีวิตสมาชิกลัทธิโอมชินริเคียวในญี่ปุ่น ไม่นำมาซึ่งความยุติธรรม

6 กรกฎาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันจุดยืนในกรณีที่ทางการญี่ปุ่นประหารชีวิตสมาชิก 7 คนของลัทธิโอมชินรินเกียว รวมถึง ชิตซูโอะ มัตซูโมโตะ ผู้นำลัทธิหลังจากถูกจำคุกมานานนั้น ไม่อาจนำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคมได้

 

นับเป็นการประหารชีวิตชุดแรกในบรรดาจำเลย 13 คน ซึ่งศาลตัดสินว่ามีความผิด และสั่งลงโทษประหารชีวิต จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ก๊าซซารีน โจมตีทำร้ายผู้คนในรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียวเมื่อปี 2538 รวมทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างอื่น การโจมตีรถไฟใต้ดินส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 13 คนและได้รับบาดเจ็บจากก๊าซพิษอีกหลายพันคน โดย ฮิโรกะ โชจิ นักวิจัยภูมิภาคเอเชียตะวันออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า

 

"ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้เมื่อมีการรับผิด แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน การประหารไม่อำนวยให้เกิดความยุติธรรมได้ เพราะเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นสูงสุด"

 

“การประหารชีวิตในวันนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ตามความรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น การโจมตีทำร้ายผู้คนของลัทธิโอมชินริเคียวเป็นเรื่องน่าชิงชังรังเกียจ และผู้มีส่วนรับผิดชอบสมควรถูกลงโทษ แต่การประหารชีวิตไม่เคยเป็นคำตอบในการคืนความยุติธรรม” 

 

บุคคลทั้งเจ็ดที่ถูกประหารชีวิตเวลารุ่งเช้าของวันศุกร์ที่ผ่านมา คือ ชิตซูโอะ มัตซูโมโตะ, โทโมมาสะ นาคากาวา, โทโมมิสึ นีอิมิ, คิโยฮิเดะ ฮายากาวา, โยชิฮิโร อิโนอุเอะ, เซอิจิ เอนโดะ และมาซามิ ทสุชิยะ การประหารชีวิตโดยการแขวนคอเกิดขึ้นตามสถานที่ควบคุมตัวแห่งต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น โดยนักโทษบางคนอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนคดีใหม่

 

ในเดือนมีนาคม ญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธข้อเสนอจากนานาประเทศที่แนะนำให้มีการปฏิรูประบบการใช้โทษประหารชีวิต ระหว่างการทบทวนวาระด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศญี่ปุ่นในเวทีองค์การสหประชาชาติ

 

“แทนที่รัฐบาลจะอ้างว่าการประหารชีวิตเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาชนเรียกร้อง รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องยืนกรานเป็นผู้นำในการปกป้องสิทธิมนุษยชนแทน” ฮิโรกะ โชจิกล่าว

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ต่อต้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีพฤติการณ์อย่างไร หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โดยได้รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารมากว่า 40 ปี

 

อ่านเพิ่มเติม