เส้นทางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 2560 เราผ่านอะไรร่วมกันบ้าง

 

8 มิถุนายน 2561

 

หากจะเปรียบสถานการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยในปี2560 ให้เห็นภาพง่ายๆ เราคงต้องเริ่มจากเหตุการณ์จริงที่เราย้ายออฟฟิศที่อยู่มาเกือบแปดปีกับการมีพนักงาน 6 คน มาอยู่บ้านใหม่ที่มีทีมงานทั้งเจ้าหน้าที่ประจำ อาสาสมัคร  และเ จ้าหน้าที่ชั่วคราวร่วม 20 คน เราตัดสินใจที่จะไม่ย้ายไปอยู่ร่วมออฟฟิศกับสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ที่ตอนนี้ตั้งอยู่ที่ถนนวิทยุ  แม้ว่าเราจะย้ายที่อยู่ใหม่แต่สำนักงานของเราก็จัดพื้นที่ให้นักกิจกรรมและเครือข่ายในเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในสำนักงานที่มีพื้นที่มากขึ้นในซอยลาดพร้าว  

 

การย้ายบ้านสำหรับหลายๆ คนมักจะมีการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งใหม่ๆและเรื่องใหม่ๆที่เราต้องเจอและแก้ปัญหามากมาย มีค่าใช้จ่าย มีการทบทวน ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งก็เหมือนกับสถานการณ์ของแอมเนสตี้ในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเป็นปีที่ไม่ใช่แค่มีการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่แต่เป็นปีที่เราเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ และรับมือกับความท้าทายทั้งภายนอกและภายในมากมาย ซึ่งเราขอใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันให้กับสมาชิก เครือข่ายและผู้สนับสนุนของเราดังนี้ค่ะ

 

ปี 2560 นับเป็นปีแรกที่แอมเนสตี้ เริ่มทำตามพันธกิจใหม่ที่ทีมงานช่วยกันระดมสมอง โหวตและสรุปกับนั่นก็คือ

 

“Strengthening a vibrant human rights movement by growing in terms of capacity, supporters and fund to increase human rights impact”

 

"การเพิ่มผลกระทบเชิงบวกด้านสิทธิมนุษยชนโดยสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย มีการเติบโตด้านศักยภาพ ผู้สนับสนุนและทรัพยากร"

 

LU_AI_JAN2017-11.jpg

 

เป็นความท้าทายของแอมเนสตี้อย่างมากในการทำพันธกิจนี้ เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน ควรมีการสนับสนับและเคลื่อนไหวจากกลุ่มคนที่หลากหลายและในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งความเข้มแข็งด้านศักยภาพและทรัพยากรก็เป็นสิ่งสำคัญ  จึงทำให้ปี  2560ที่ผ่านมาเราได้มีการวางยุทธศาสตร์งานเยาวชนเป็นครั้งแรกเพราะเราเล็งเห็นศักยภาพและความสำคัญของคนกลุ่มนี้ในการเป็นเมล็ดพันธ์ที่ต้องเติบโตและเป็นความหวังของสังคมได้ต่อไป โดยได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกเป็นก้าวแรกที่เรานำเสนอนั่นคือการรับรองให้มีโควต้าของเยาวชนเป็นหนึ่งในกรรมการของแอมเนสตี้ จากการประชุมสามัญประจำปี 2560ที่ผ่านมา

 

นอกจากนั้นการทำงานกับเยาวชนและนักกิจกรรมที่หลากหลายก็เข้มข้นขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าในระดับภูมิภาคเรามีคลับแอมเนสตี้ในภาคใต้และภาคอีสาน มีคลับในโรงเรียนนานาชาติ และสมาชิกคลับเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สร้างสรรค์ต่างๆ ตลอดปี  นอกจากนี้เรายังได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชนทั่วไปและเยาวชนที่เป็นผู้ลี้ภัย  และส่งผลในการสร้างความเข้าใจของสิทธผู้ลี้ภัยร่วมกันและต่อมาเยาวชนกลุ่มนี้ต่างมีบทบาทและสร้างสรรค์งานรณรงค์ต่างๆกับแอมเนสตี้และคลับของแอมเนสตี้อย่างมาก  ไม่ใช่แค่เยาวชนกลุ่มนี้เท่านั้น เพราะทุกปีเรามีการทำกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิกับเยาวชนบ้านกาญจนา  แต่ปี 2560 ที่ผ่านมาสมาชิกบ้านกาญจนาบางคนได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยงานรณรงค์Write for Rightsกับเราในเดือนธันวาคม พวกเขามาเป็นตัวแทนบอกเล่าเคสต่างๆและเชิญชวนให้คนมาเขียนและลงชื่อให้กับเคสต่างๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเริ่มต้นด้วยดีและเราก็จะพัฒนางานด้านเยาวชนนี้ให้มีความหลากหลายและมากขึ้นต่อๆไป 

 01.jpg

 

อย่างไรก็ดี การลดจำนวนลงของสมาชิกก็เป็นเรื่องที่แอมเนสตี้กังวลเป็นอย่างมาก  เนื่องจากเราเริ่มงานระดมทุนกับผู้บริจาคและหวังว่าผู้บริจาคจะสนใจจะสมัครเป็นสมาชิกต่อไปและมีการทุ่มเทงานเน้นไปกับการระดมทุนซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของแอมเนสตี้ประเทศไทยในปีที่ผ่านมาอย่างมาก  จากแนวการทำงานนี้เราตระหนักว่าการทำงานเพื่อให้สมาชิกเก่าต่ออายุ หรือมีกิจกรรมการสื่อสารที่ต่อเนื่องกับสมาชิกเป็นเรื่องที่เราต้องปรับปรุงอย่างมาก ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนที่เป็นประโยชน์จากสมาชิกที่อยากเห็นแอมเนสตี้มีการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากสมาชิกและเรากำลังปรับแผนงานต่างๆเพื่อพัฒนางานด้านสมาชิกต่อไป

 

นอกจากนี้เราได้รับการสนับสนุนจากสำงานงานเลขาธิการใหญ่ของแอมเนสตี้ในการลงทุนเพื่อทำงานระดมทุนเป็นเวลาสามปี หลังจากที่ใช้เวลาเตรียมตัวร่วมปี ปี 2560เป็นปีแรกที่เราเริ่มทำงานระดมทุนแบบ face to faceคือมีตัวแทนของแอมเนสตี้ไปพูดคุยกับกลุ่มคนต่างๆเพื่อมาเป็นผู้บริจาค โดยเรามีทั้งทีมงานของเราเองและมีการให้เอเจนซี่ภายนอกช่วยเราระดมทุนครั้งนี้  แต่ในเดือนสิงหาคม 2560 สำงานงานเลขาธิการใหญ่ตัดสินใจยุติการสนับสนุนเนื่องจากเป็นห่วงความเสี่ยงด้านการเมืองและการลงทุนงานระดมทุนในประเทศไทย และมองว่าควรจะไประดมทุนให้กับแอมเนสตี้ในประเทศอื่นที่น่าจะได้ผลตอบแทนและผู้สนับสนุนมากกว่านี้  แอมเนสตี้ประเทศไทยจึงตัดสินใจยุติการจ้างเอเจนซี่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เรายังคงมีทีมงานภายใน ( In House) ที่ยังสานต่องานระดมทุนและเราก็ยังจะต้องทำงานระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป  เนื่องจากแอมเนสตี้ต้องการขยายงานให้ตอบโจทย์กับปัญหาสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ปัจจุบันแต่การได้รับงบประมาณจากสำงานงานเลขาธิการใหญ่ยังจำกัดอยู่ 

 

นอกจากปัจจัยเรื่องงบประมาณแล้ว ความท้าทายจากสถานการณ์ที่จำกัดด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ส่งผลต่อการทำงานของเราอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบงานรณรงค์ที่มีข้อจำกัดจากการประกาศใช้ พรบ.ชุมนุม หรือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และนักกิจกรรมก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และจากสถานการณ์ต่างๆด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานเลขาธิการใหญ่ได้ออกแถลงการณ์ ปฏิบัติการด่วน และจดหมายเปิดผนึกเพื่อตอบรับกับสถานการณ์และเคสต่างๆในปี 2560 รวมกันทั้งสิ้น 21 ชิ้น

 

จากการแถลงการณ์และข้อเรียกร้องต่างๆ สื่อให้การสนับสนุนและเป็นกระบอกเสียงสำคัญต่องานแอมเนสตี้ และงานสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาอย่างดี แต่เราต้องทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจต่อจุดยืนของแอมเนสตี้กับคนทั่วไปอีกอย่างมาก เพราะเราไม่ได้เลือกข้างทางการเมืองหรือศาสนาใดๆ แต่เรายืนเคียงข้างกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากเราสามารถทำให้สังคมไทยเห็นถึงความตั้งใจและหลักการที่แท้จริงในการทำงานก็จะส่งผลให้เรามีผู้สนับสนุนที่หลากหลายมากขึ้น

 

แอมเนสตี้ขอขอบคุณกรรมการ สมาชิก นักกิจกรรม อาสาสมัคร ผู้บริจาค เครือข่ายองค์กรเพื่อนมิตร สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคม ที่เป็นแรงสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน ทีมงานของเรายังคงตั้งใจพร้อมรับคำแนะนำต่างๆและทำงานอย่างแข็งขันต่อไปค่ะ

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ และทีมงานแอมเนสตี้