สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 14-19 มกราคม 2567

22 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

 

ไทย: ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำผู้ต้องสงสัย - ผู้ต้องหา ขณะสอบปากคำ และต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวทุกครั้ง

13 มกราคม  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อยุติการทรมานและอุ้มหาย ที่ร่วมผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation-CrCF) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการคุลมถุง นายปัญญา หรือ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิต น.ส.บัวผัน หรือ ‘ป้ากบ’ ตามที่เป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้

โดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ชี้ตำรวจไม่มีอำนาจคลุมถุงดำ ขณะสอบปากคำ นายปัญญา หรือ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิต น.ส.บัวผัน หรือ ‘ป้ากบ’ ชี้ ผิดกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย ม.6 อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำ โหดร้ายไร้มนุษยธรรม-ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิด ม.157 และขณะควบคุมตัวต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานยืนยันความโปร่งใสขณะจับกุม ย้ำตำรวจไทยต้องไม่ลืมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามทรมานอุ้มหาย

กรณีที่มีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นการคุยกันระหว่างตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของนางสาวผัวผัน ที่พูดถึงการใช้ถุงดำคลุมหัว ‘นายเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยในขณะนั้น นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ระบุว่า หากเป็นเรื่องจริงการที่ตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องสงสัยคดีนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 ความผิดฐาน กระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“อยากจะถามว่า ‘ลุงเปี๊ยก’ เป็นเพื่อนเล่นของตำรวจหรือยังไง ถึงเล่นกันโดยการนำถุงดำมาคลุมหัวเล่นกับเขา ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ โดยพฤติกรรมถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด แล้วตำรวจกำลังสอบปากคำ เอาถุงดำมาคลุม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ประเด็นที่สองน่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนที่ถูกถุงดำคลุมขณะอยู่ในภาวะเช่นนั้น ต้องมีความรู้สึกตกใจอย่างมากจนแทบสิ้นสคชติ น่ามีความรู้สึก หวาดกลัวอย่างสุดขีด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/47A778h

 

-----

 

 

รัสเซีย: ต้องมีการสอบสวนการใช้กำลังของตำรวจในการชุมนุมที่บัชคอร์โตสถาน

19 มกราคม  2567

 

สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมโดยสงบในเบย์มัค (สาธารณรัฐบัชคอร์โตสถานในรัสเซียทางตอนใต้) ที่ต่อต้านการพิพากษาคดีของเฟล อัลซินอฟ นักกิจรรมภาคประชาชน และการเริ่มต้นดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมในเวลาต่อมา

เดนิส คริโวชีฟ รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หลักฐานที่เรามีชี้ให้เห็นว่ามีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นกับผู้ชุมนุมเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่าการปะทะดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากตำรวจพร้อมอุปกรณ์ป้องกันประสิทธิภาพสูงได้พยายามปฏิเสธสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบของคนในท้องถิ่น มีวิดีโอที่โพสต์บนช่องโซเชียลมีเดียที่เห็นว่าผู้ชุมนุมใช้ก้อนหิมะตอบโต้การใช้แก๊สน้ำตาและยุทธวิธีที่รุนแรงอื่นๆ ของตำรวจ

“ข้อกล่าวหาทางอาญาต่อผู้ชุมนุม และคำกล่าวอ้างของทางการที่ว่าเป็นการตอบโต้การจลาจลครั้งใหญ่ ดูเหมือนจะไม่มีมูลความจริงเลย สถานการณ์นี้จำเป็นต้องมีการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจอย่างเร่งด่วนและเป็นกลาง รวมถึงการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำต่อผู้ชุมนุม และให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยสงบทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวหรือจับกุมโดยมิชอบที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้ในทันที”

การชุมนุมครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในเมืองเบย์มัคเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 เพื่อสนับสนุนเฟล อัลซินอฟ ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหา 'ยุยงให้เกิดความเกลียดชังทางชาติพันธุ์' และถูกตัดสินว่ามีความผิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม และลงโทษจำคุก 4 ปี การชุมนุมรุนแรงขึ้นหลังคำตัดสิน นำไปสู่การจับกุมและการเผชิญหน้าในบริเวณใกล้กับศาล มีรายงานว่าตำรวจปราบจลาจลใช้กระบองกับฝูงชนหลายพันคน ซึ่งตอบโต้ด้วยการขว้างก้อนหิมะ ถุงมือ หมวก และขว้างกระบองของตำรวจกลับไป และมีรายงานว่ามีการใช้สารเคมีที่สร้างความระคายเคือง ควัน และระเบิดแสงต่อผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังไม่มีหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับสถานการณ์ที่มีการใช้งานดังกล่าว

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/47Ja2LF

 

-----

 

 

ยุโรป: ต้องหยุดการส่งผู้คนจากคอเคซัสเหนือกลับไปยังรัสเซียซึ่งเสี่ยงที่จะถูกทรมานและปฏิบัติมิชอบ

17 มกราคม  2567

 

ทางการของประเทศต่างๆ ในยุโรปต้องหยุดส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยจากคอเคซัสเหนือกลับไปยังรัสเซียโดยทันที ซึ่งพวกเขาเสี่ยงที่จะถูกทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และอาจถูกบังคับให้ต่อสู้ในสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในเอกสารงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา

Europe: The point of no return พบว่าทางการในโครเอเชีย ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ และโรมาเนีย รวมถึงประเทศอื่นๆ พยายามส่งหรือได้ส่งตัวหรือส่งกลับผู้ขอลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารในคอเคซัสเหนือมาเพื่อขอลี้ภัยในประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งเป็นการปฏิเสธสิทธิในการคุ้มครองระหว่างประเทศ เนื่องจากอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ ซึ่งคนส่วนใหญ่จากภูมิภาคนี้เป็นมุสลิม และเป็นชาวเชเชน ดาเกสถาน และอินกูช รวมถึงชาติพันธุ์อื่นๆ ชุมชนทั้งหมดจึงถูกตีตราว่าเป็น 'กลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นอันตราย' เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นเหตุผลในการส่งตัวกลับไปยังภูมิภาคที่สิทธิของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างแท้จริง

นีลส์ มุยซ์เนียกส์ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคยุโรปของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป็นเรื่องน่าอายที่มีการอ้างว่าได้ระงับความร่วมมือด้านตุลาการทั้งหมดกับรัสเซียแล้วหลังจากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ แต่หลายประเทศในยุโรปกลับขู่ที่จะส่งผู้ที่หลบหนีการประหัตประหารในคอเคซัสเหนือของรัสเซียกลับไปยังสถานที่ที่เกิดการปฏิบัติมิชอบเหล่านั้น ประเทศในยุโรปต้องตระหนักว่าบุคคลที่มีภูมิหลังดังกล่าวจำนวนมากอาจถูกจับกุมหรือลักพาตัว ถูกทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ หรือการบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อพวกเขากลับไป

“สถานการณ์ที่ผู้หลบหนีจากคอเคซัสเหนือต้องเผชิญนั้นเลวร้ายลงอย่างมาก เนื่องจากมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในรัสเซียลดลงไปอีกนับตั้งแต่การรุกรานยูเครน พวกเขาเผชิญกับการประหัตประหารผ่านการทรมาน การควบคุมตัวโดยพลการ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดภายในบ้านของตน และในอดีตเคยถูกตีตราและตกเป็นเป้าหมายในการส่งตัวกลับหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศต่างๆ ในยุโรป”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/48Hm0XG

 

----- 

 

เลบานอน: การระงับหมายจับอดีตรัฐมนตรีเป็นอีกความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมในการสืบสวนเหตุระเบิดในเบรุต

17 มกราคม  2567

 

สืบเนื่องจากข่าวที่ศาลสูงสุดของเลบานอนระงับหมายจับยุสเซฟ เฟนิอาโนส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งถูกตั้งข้อหาเมื่อเดือนกันยายน 2564 ด้วยข้อหาฆาตกรรมและความประมาททางอาญาโดยหัวหน้าพนักงานสืบสวนเหตุระเบิดที่ท่าเรือเบรุต

อายา มัจซูบ รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การระงับหมายจับเฟนิอาโนสโดยศาลสูงสุดของเลบานอนนั้นเป็นการตอกฝาโลงระบบยุติธรรมอีกครั้ง และเป็นข้อพิสูจน์ที่เลวร้ายถึงการขัดขวางที่กระจายไปทั่วในการสอบสวนเหตุระเบิดรุนแรงในปี 2563 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 235 รายและบาดเจ็บมากกว่า 7,000 ราย

“เกือบ 3 ปีครึ่งหลังจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว ทางการเลบานอนแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยถึงความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งในการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ โดยใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีเพื่อขัดขวางการสืบสวนและปกป้องตนเองจากความรับผิดชอบ

“ในเดือนมกราคม 2566 อัยการสูงสุดของเลบานอนสั่งปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขณะนี้หมายจับอย่างน้อยหนึ่งหมายซึ่งกองกำลังความมั่นคงไม่เคยบังคับใช้ ได้ถูกเพิกถอนแล้ว การโจมตีที่ต่อเนื่องกันเหล่านี้ตอกย้ำความจริงอันน่าตกตะลึง เครื่องมือตุลาการของเลบานอนถูกนำมารับใช้ผู้มีอำนาจ โดยละทิ้งสิทธิของสาธารณชนและครอบครัวผู้โศกเศร้าที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในการระเบิดที่ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น

“เมื่อความไว้วางใจในการสอบสวนภายในประเทศพังทลายลง มีเพียงคณะสอบสวนระหว่างประเทศที่เป็นอิสระและเป็นกลางเท่านั้นที่สามารถให้ความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยาสำหรับครอบครัวของเหยื่อและผู้รอดชีวิตได้ เราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติดำเนินการอย่างเด็ดขาดและตั้งคณะสอบสวนข้อเท็จจริงสำหรับเหตุระเบิดในเบรุต”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/47I7m0X

 

----- 

 

สหราชอาณาจักร: การลงมติร่างกฎหมายรวันดา 'น่าผิดหวังอย่างยิ่ง'

 

สืบเนื่องจากการลงมติของสภาสามัญชนต่อร่างกฎหมายรวันดา
ซาชา เดชมุคห์ ประธานฝ่ายบริหารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร เผยว่า "ร่างกฎหมายที่แย่เป็นประวัติการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นมาตั้งแต่แรก และเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่งที่ร่างดังกล่าวผ่านสภาสามัญชนในคืนนี้

"นโยบายที่น่าละอายนี้ปฏิเสธที่จะพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยของผู้คน แต่กลับจะส่งพวกเขาไปยังประเทศที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายพันไมล์ เป็นการทำลายกฎเกณฑ์สากลและจำเป็นต้องหยุดลง

"เป็นเรื่องน่ากังวลที่รัฐมนตรีต่างๆ บ่อนทำลายการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองที่สำคัญ เช่น อนุสัญญายุโรปและกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยพยายามอ้างความชอบธรรมในกฎหมายที่เผด็จการอย่างยิ่งนี้ ความสามารถของศาลในการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของการดำเนินการของรัฐบาลไม่ใช่ความยุ่งยากที่ไม่ชอบธรรม แต่เป็นส่วนรากฐานของสังคมประชาธิปไตยและเสรี

"เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาขุนนางจะขัดขวางร่างกฎหมายนี้ และรัฐบาลที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยอย่างยิ่งนี้จะได้กลับไปทำงานสำคัญในการพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยของผู้คนอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ"

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3vMbvnq