สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 10 มิถุนายน - 16 มิถุนายน 2566

20 มิถุนายน 2566

Amnesty International

 

อันนา อันนานนท์: ถ้อยแถลงเสียงเยาวชนไทยในเวทีประชุมระดับโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

13 มิถุนายน 2566

 

สิทธิมนุษยชนภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) สำหรับประเทศของฉัน เห็นได้ชัดว่ายังไม่ได้มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม แต่ประชาชนในประเทศยังคงประสบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่เราเป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนยังคงลงโทษนักเรียนด้วยการตี และบังคับให้ตัดผมทรงเดียวกับทหาร

สำหรับประเทศโลกที่หนึ่งหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้รับการปฏิบัติจนเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความเสมอภาคในการสมรส อากาศบริสุทธิ์ น้ำประปาที่ดื่มได้ และสนามเด็กเล่นดีๆ

แต่สำหรับประเทศอย่างประเทศไทย การเรียกร้องสิทธิเหล่านี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นยังเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ การชุมนุมประท้วงโดยสงบอาจทำให้คุณถูกตั้งข้อหาได้ เราไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมถูกปฏิเสธจากทางการอย่างชัดเจน

 

อ่านต่อ: https://t.ly/655W

 

-----

 

 

ซาอุดีอาระเบีย: การประหารชีวิตที่ใกล้เข้ามาของชายหนุ่ม 7 คนอาจละเมิดคำสัญญาของราชอาณาจักรในการยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับเยาวชน

15 มิถุนายน 2566

 

แม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบียจะมีพันธกิจในการยุติการใช้โทษประหารชีวิตกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในเวลาที่เกิดอาชญากรรม ชายหนุ่ม 7 คนกำลังเสี่ยงที่จะถูกประหารชีวิตหลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษพวกเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา การประหารชีวิตของพวกเขาจะเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวของการใช้โทษประหารชีวิตที่ทำลายสถิติอยู่แล้ว โดยที่จำนวนการประหารชีวิตในประเทศได้เพิ่มขึ้น 7 เท่าในช่วงเพียง 3 ปีที่ผ่านมา

“ทางการซาอุดีอาระเบียได้ให้สัญญาว่าจะจำกัดการใช้โทษประหารชีวิตและนำการปฏิรูปกฎหมายมาใช้ซึ่งจะห้ามการประหารชีวิตบุคคลที่เป็นเด็กในเวลาที่เกิดอาชญากรรม หากทางการต้องการที่จะปฏิบัติตามคำสัญญาเหล่านั้นอย่างจริงจัง พวกเขาควรสั่งให้หยุดแผนการประหารชีวิตของ 7 คนนั้นโดยทันที ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเด็กอยู่ในเวลาที่ถูกจับกุม” เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ กล่าว

 

อ่านต่อ: https://t.ly/dGHU

 

-----

 

 

สหภาพยุโรป: รัฐสภายุโรปห้ามการใช้ระบบการจดจำใบหน้า แต่ปล่อยให้ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัยเผชิญกับความเสี่ยง

14 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากการตัดสินใจของรัฐสภายุโรปที่ห้ามใช้เทคโนโลยีการสอดแนมประชาชนที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวในกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (AI Act)

เมอร์ ฮาโกเบียน ที่ปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับกฎระเบียบปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า 

“เรายินดีกับการตัดสินใจของรัฐสภายุโรปในการห้ามใช้เทคโนโลยีการสอดแนมประชาชนในทางที่ล่วงละเมิดในการลงคะแนนเสียงที่สำคัญในวันนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐสภาและสมาชิกสหภาพยุโรปจำเป็นต้องประกันว่าการพัฒนา การขาย การใช้ และการส่งออกของระบบการจดจำใบหน้าและเทคโนโลยีการสอดแนมประชาชนอื่นๆ จะถูกสั่งห้ามในกฎหมาย AI Act ขั้นสุดท้ายระหว่างการเจรจาที่จะเกิดขึ้น

“ไม่มีวิธีการใช้ระบบการระบุไบโอเมตริกซ์ระยะไกล (RBI) ที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่มีวิธีแก้ไข ไม่ว่าจะทางเทคนิคหรืออื่นๆ ที่จะทำให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ การป้องกัน RBI มีเพียงอย่างเดียวคือการห้ามใช้โดยเด็ดขาด

 

อ่านต่อ: https://t.ly/lanM

 

-----

 

ไนจีเรีย: มีผู้ถูกสังหารมากกว่า 120 คนนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีตินูบูเข้ารับตำแหน่ง

14 มิถุนายน 2566

 

สืบเนื่องจากเหตุกราดยิงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 123 รายทั่วไนจีเรีย นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโบลา ตินูบู เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม

อีซา ซานูซี่ รักษาการผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไนจีเรีย กล่าวว่า

“เป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่การโจมตีโดยมือปืนได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 123 รายภายในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ประธานาธิบดีโบลา ตินูบู เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ชุมชนในชนบทที่ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับความรุนแรงในครั้งต่อไปอยู่เสมอ กำลังเผชิญกับการโจมตีอย่างรุนแรงโดยกลุ่มฆาตกรที่กำลังอาละวาด การปกป้องชีวิตควรเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาลใหม่ ทางการไนจีเรียควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดการนองเลือด

“ความล้มเหลวที่ชัดเจนของทางการในการปกป้องประชาชนในประเทศไนจีเรียกำลังค่อยๆ กลายเป็น "ความปกติ" ในประเทศ รัฐบาลประกาศว่าจะออกมาตรการความปลอดภัยเพื่อตอบสนองต่อการโจมตีเหล่านี้ แต่คำสัญญาเหล่านี้ยังไม่ได้แปลงเป็นการดำเนินการที่มีความหมายในการปกป้องชีวิตของชุมชนที่เปราะบาง

 

อ่านต่อ: https://t.ly/4dH9

 

-----

 

โลก: บริษัทต่างๆ ต้องดำเนินการทันทีเพื่อประกันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ

14 มิถุนายน 2566

 

นับว่าเป็นตลกร้ายสองเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์กว่า 350 คนประกาศว่า "การลดความเสี่ยงในการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์จากปัญญาประดิษฐ์ควรมีความสำคัญระดับโลกควบคู่ไปกับความเสี่ยงระดับสังคมอื่นๆ เช่น โรคระบาดและสงครามนิวเคลียร์"

เรื่องแรก ผู้ที่ลงนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งรวมถึง CEO ของ Google DeepMind และ OpenAI ที่ออกมาเตือนเกี่ยวกับการสิ้นสุดของอารยธรรมก็คือผู้คนและบริษัทที่รับผิดชอบในการสร้างเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่แรก

เรื่องที่สอง บริษัทเหล่านี้นั่นเองที่เป็นผู้ที่สามารถประกันได้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อมวลมนุษยชาติ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ก่ออันตราย

ชุมชนสิทธิมนุษยชนได้มีการพัฒนากรอบการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถระบุ ป้องกัน และบรรเทาผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้

 

อ่านต่อ: https://t.ly/nTaz

 

----- 

 

กาตาร์: แรงงานข้ามชาติหลายร้อยคนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการแข่งขันฟุตบอลโลกไม่ได้รับความยุติธรรมสำหรับการละเมิด

15 มิถุนายน 2566

 

แรงงานข้ามชาติหลายร้อยคนที่ได้รับจ้างให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีที่แล้ว ยังคงถูกปฏิเสธความยุติธรรมสำหรับการละเมิดที่พวกเขาได้รับ แม้ว่าฟีฟ่าและเจ้าภาพอย่างกาตาร์จะได้รับการเตือนว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบและคนงานได้มีการร้องเรียนและชุมนุมประท้วงเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพวกเขา

การสืบสวนพบการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นที่การแข่งขันฟุตบอลโลกและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม แม้ว่าทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะออกรายงานความยาว 70 หน้ากระดาษในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งส่งสัญญาณเตือนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบและในเชิงโครงสร้างทั่วทั้งภาคส่วนการรักษาความปลอดภัยของเอกชนในกาตาร์

“ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทราบดีถึงปัญหาดังกล่าว แต่ก็ล้มเหลวในการวางมาตรการที่เพียงพอในการปกป้องคนงานและป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานที่สามารถคาดการณ์ได้ในสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก แม้ว่าคนงานจะเคยแจ้งประเด็นปัญหาเหล่านี้โดยตรงแล้วก็ตาม” สตีฟ คอคเบิร์น  หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

 

อ่านต่อ: https://t.ly/ZoRg