เวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ "สื่อมวลชนกับการเสนอข่าวสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม"

7 เมษายน 2566

Amnesty International

ภาพ: สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566  ณ ห้องบุษบงกช เอ ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ  สื่อมวลชนกับการเสนอข่าวสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนหลักการและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้สื่อมวลชนได้ร่วมยกระดับในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติต่อผู้ตกเป็นข่าว เช่น ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย พยาน และประชาชนทั่วไป

 

 

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า แม้ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อจะมีแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าวตามหลักจริยธรรมวิชาชีพแล้ว แต่ด้วยบริบทแวดล้อมของการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข่าวสารในโลกออนไลน์ทำให้สื่อมวลชนต้องประสบข้อท้าทายใหม่ๆ ด้านจริยธรรม เช่น กรณีการเผยแพร่และส่งต่อภาพหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายที่กระทบต่อ "สิทธิที่จะถูกลืม" (Right to be forgotten) เป็นต้น

 

 

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่นักวิชาชีพสื่อมวลชน บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม บุคลากรในการกู้ชีพ/กู้ภัย นักวิชาการสื่อ และผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้มาหารือแลกเปลี่ยนกันเพื่อนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในการเสนอข่าวและภาพข่าวอาชญากรรมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

 

 

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอเรื่อง หลักการสิทธิมนุษยชน และรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยสังเขปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการนำเสนอข่าวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของสื่อมวลชนหลายกรณีที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าวทั้งที่เป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหาย อันนำไปสู่การถูกตีตราและตัดสินล่วงหน้าโดยสังคม ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินว่าบุคคลนั้น ๆ เป็นผู้มีความผิดและยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมสากล คือ หลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) และยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ และชื่อเสียงของผู้ตกเป็นข่าวรวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้อง และเมื่อเป็นการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ก็ย่อมกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืมจากการที่ข้อมูลยังคงวนเวียนอยู่ในระบบออนไลน์ด้วย นอกจากนี้ปัญหาการนำเสนอข่าวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นเมื่อเป็นกรณีที่มีการเปิดเผยอัตลักษณ์และข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เป็นไปตามระเบียบหรือคำสั่ง สตช. เกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว หรือการเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนที่มีอยู่แล้ว และมีข้อเสนอแนะต่อองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนให้กำกับดูแลกันเองในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมจากการนำเสนอข่าวที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

“ในบริบทแวดล้อมของการสื่อสารยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อในโลกออนไลน์ได้ สื่อมวลชนควรเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนทั่วไปด้วยการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพที่จำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการนำเสนอหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของสังคมโดยรวมอย่างมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อไป” นายวสันต์ กล่าว

 

 

จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” โดยผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ นายโกศลวัฒน์ ินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พ.ต.ท. ธเทพ ไชยชาญบุตร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคนายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และนายชาย ปถะคามินทร์ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจให้ร่วมขบคิด เช่น วิจารณญานในการส่งต่อภาพของเหยื่อหรือผู้ต้องหาให้แก่สื่อมวลชนโดยผู้เข้าถึงเหตุการณ์ในคดีอาชญากรรมเป็นกลุ่มแรก เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือพยานในเหตุการณ์ กับความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้ข้อมูลประกอบการปฏิบัติหน้าที่ ความท้าทายของสื่อมวลชนในการปฏิบัติงานตามจริยธรรมวิชาชีพและการนำเสนอข่าวเชิงคุณภาพท่ามกลางความกดดันของการแข่งขันทางธุรกิจ และความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเหตุให้สื่อมวลชนกลายเป็นผู้นำเสนอข่าวในลักษณะที่ทำหน้าที่พิพากษาผู้ตกเป็นข่าวเสียเอง เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ กรอบจริยธรรมสื่อและปัญหาจากการนำไปปฏิบัติ
โดยนายบรรยงค์ สุวรรณผ่องกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ ผศ. พรรษาสิริ กุหลาบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้นำเสนอตัวอย่างมาตรฐานการบริหารจัดการคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมสื่อ หรือ มาตรฐาน ISAS MEDIA 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์กรวิชาชีพสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีความโปร่งใส และ มีกระบวนการทำงานที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีผลกำไร นอกจากนี้วิทยากรยังได้นำเสนอกรอบแนวทางการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งควรประกอบด้วยหลักจริยธรรมทั่วไป หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ และหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเฉพาะเรื่องเมื่อเป็นกรณีที่มีความคลุมเครือของปัญหาด้วย

 

 

ช่วงท้ายของการสัมมนา ที่ประชุมนำโดยนายสมชาย หอมลออประธานคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำและพิจารณา “(ร่าง) แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเรื่องการเสนอข่าวการแสดงความคิดเห็นและภาพข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม ร่วมกับผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อ สื่อมวลชน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม บุคลากรในการกู้ชีพ/กู้ภัย นักวิชาการ และผู้แทนสำนักงาน กสม. ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติที่สมบูรณ์เพื่อเผยแพร่ให้สื่อมวลชนนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในโอกาสต่อไป